xs
xsm
sm
md
lg

กูรูกฎหมาย ฟันฉับ บทเฉพาะกาล ม.264 โยง “วาระ 8 ปี นายกฯ” ไม่ได้ “สดศรี” ชี้ช่อง เรียก “อดีต กรธ.” เบิกความ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ปม 8 ปี นายกฯ ครบหรือยัง? จากแฟ้ม
“อดีตตุลาการศาล รธน.” ระบุชัด บทเฉพาะกาล ม.264 เอามาโยงวาระ 8 ปี นายกฯ ไม่ได้ “สดศรี” ชี้ช่อง “ศาล รธน.” เรียก “อดีต 20 กรธ.” เบิกความคลายปม “ดร.สุกิจ” เตือนบางกลุ่ม ดูหมิ่นคุกคาม “ตุลาการ” โทษถึงคุก

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (12 ก.ย. 65) อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางในการตีความวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า

ตามหลักกฎหมายทั่วไป บทเฉพาะกาลถือเป็นข้อยกเว้นจากหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งกรณีมาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ก็เช่นกัน เป็นข้อยกเว้นที่เขียนให้รัฐบาลที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้เป็นรัฐบาลโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้ไม่มีรอยแหว่ง ให้มีความต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้น จะหาว่ารัฐบาลที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นรัฐบาลเถื่อน แต่งตั้งใครไปก็เป็นโมฆะ ใช้เงินก็เป็นโมฆะ ดังนั้น จึงต้องมีข้อยกเว้นเป็นบทเฉพาะกาลดังกล่าวไว้ เหมือนกับกฎหมายทุกฉบับ

“เมื่อบทเฉพาะกาลถือเป็นข้อยกเว้น ก็มีหลักว่า ข้อยกเว้นจะต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งมาตรา 264 ก็ตีความเฉพาะว่า รัฐบาลมีความต่อเนื่องตีความแค่เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง จะเอาเรื่องนี้ไปใช้ด้วยไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทีหลัง ทั้งนี้ รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะใช้เงื่อนไขทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญ ทั้งคุณสมบัตินายกฯ คุณสมบัติรัฐมนตรี จะต้องเริ่มตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งรัฐบาล วันที่ 9 มิ.ย. 2562 ดังนั้น หากจะนับ 8 ปีก็จะต้องนับตั้งแต่ปี 2562 ส่วนใครจะเป็นนายกฯ ก็ให้เป็นให้เบื่อไปเลย แต่กติกาเป็นอย่างนี้”

อย่างไรก็ตาม กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเอามาเทียบเคียงกับกรณีของ นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ เพราะ นายสิระ สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องใช้คุณสมบัติที่เขียนไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น จะไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่อง

“เรื่องนี้จริงๆ แล้ว ทุกคนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพียงแต่ตะแบง เพราะหลักกฎหมายทั่วไป บทเฉพาะกาลและข้อยกเว้นตามกฎหมายจะต้องตีความโดยเคร่งครัด หากใครลืม เอาปริญญานิติศาสตร์ไปคืนอาจารย์ได้ ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ยากเลย แต่สุดท้ายไม่ว่าจะตัดสินว่าอย่างไร ก็โดนด่าทั้ง 2 ฝ่าย หากบอกว่าอยู่ต่อก็ถูกด่า บอกว่าไปก็ถูกด่า”

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 501 เพื่อประกอบการพิจารณา ว่า

ไม่แน่ใจว่า เป็นการลีลาหรือไม่ เพราะการจะตัดสินอะไรคงไม่ต้องไปถามคนร่างกฎหมาย ไม่อย่างนั้นก็คงจะต้องตามไปถามคนร่างกฎหมายกันหมด ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัดแล้ว ก็ต้องตีความกันอยู่ตรงนี้ จะไปเถียงอะไรกัน หรือการจะไปเอาผู้เชี่ยวชาญมาแสดงความคิดเห็นเดี๋ยวก็พูดอย่างนั้น เดี๋ยวก็พูดอย่างนี้ เพราะความคิดเห็นของคนเราเปลี่ยนแปลงไปได้

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปฟังความคิดเห็นคนร่างกฎหมายอะไรมาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้กฎหมาย คนเขียนกฎหมายไม่ได้เป็นคนใช้ ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนใช้กฎหมาย ก็ต้องเป็นคนตีความเองว่า เขียนมาแบบนี้จะแปลความแบบไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไรเลย (จากไทยโพสต์)

ภาพ นางสดศรี สัตยธรรม จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า

เราจะเห็นได้ว่า กรธ. ทั้ง 20 คน ยังลงความเห็นในเรื่องการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯไม่เหมือนกัน ทั้งจากการให้สัมภาษณ์ และการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นการชี้ในเรื่องที่ถือว่า เป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว และข้อขัดแย้งดังกล่าว ยังเป็นเรื่องที่พยานบุคคล ยังมีความสับสนกันอยู่

เหมือนกรณีการสร้างบ้าน เมื่อบ้านเกิดปัญหา คนที่จะให้คำตอบได้อย่างดีที่สุด คือ ช่างที่ก่อสร้างบ้าน ซึ่งในกรณีนี้ ก็คือ กรธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น ในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน น่าจะให้ กรธ.ทั้ง 20 ท่าน เป็นพยานศาล ในการให้การเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ว่า เหตุผลอะไรถึงมีการบัญญัติมาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ และมาตรา 264 ด้วย ซึ่งการที่ กรธ.ไปให้การต่อศาล น่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับฟังเจตนารมณ์จากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะเกิดผลดีกว่าที่จะต้องไปตีความโดยศาล เพราะหากมีชี้แจงจากตัว กรธ.เองต่อศาล น่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงมีคำวินิจฉัยในทางใดทางหนึ่ง

และจะต้องเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย ซึ่งการเบิกความก็คงกินเวลาไม่มาก เนื่องจากอธิบายเพียงมาตรา 158 มาตรา 264 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงคงจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการเบิกความแต่ละท่าน

นอกจากนั้น ยังเชื่อว่า ในการประชุม กรธ.น่าจะมีการบันทึกเทปไว้ ดังนั้น การถอดเทปการประชุมประกอบกับการเบิกความ กรธ. น่าจะยิ่งเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“น่าจะเป็นผลดีและเป็นการที่จะเคลียร์ข้อกฎหมายนี้ได้ชัดเจนจากผู้ยกร่างเอง โดยที่ศาลไม่ต้องไปตีความอะไรเลย แต่ให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลในการบัญญัติกฎหมาย เพราะรายงานการประชุมเป็นเพียงบทสรุป ซึ่งจะสู้รายงานจากปากของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้”

นางสดศรี กล่าวอีกว่า ไม่ใช่การชี้นำศาล แต่เป็นเรื่องที่เคยเป็น กรธ.แล้ว วิธีการปฏิบัติในกรธ.ก็ทำมาอย่างนี้ คือ แต่ละมาตราก็จะมีการพูดกัน หากเห็นไม่ตรงกันก็จะมีการลงมติ เสียงข้างมากว่าอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น แต่พอเกิดปัญหาแล้วกลายเป็นว่ามีคนไปพูดอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และเกิดความไม่แน่ใจในผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้หากศาลสามารถให้ กรธ. ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายสามารถอธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประชาชน

 ดร.สุกิจ พูนศรีเกษม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ดร.สุกิจ พูนศรีเกษม นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เตือนดูหมิ่น-คุกคามตุลาการเกินเลย ผ่านสื่อออนไลน์ ฟ้องเอาผิดได้ ว่า

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2561 การวิพากษ์วิจารณ์คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขต หรือบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 38 วรรคสาม

โดยการวิจารณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยคดีนั้น การใช้สื่อและสังคมออนไลน์ จะต้องกระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำ หรือมีความหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย หากกระทำเกินเลยดูหมิ่น คุกคามศาล-ตุลาการ ครอบคลุมถึงสื่อออนไลน์ ผู้กระทำการอาจถูกฟ้องดำเนินคดีอาญา “ฐานหมิ่นศาล”

ส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลที่เข้ามาหรือจะเข้ามาในที่ทำการศาล หรือบริเวณที่ทำการศาล หรือเข้าฟังการไต่สวนของศาล กรณีมีความจำเป็นศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกคำสั่งให้บุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว

ตลอดจนมีอำนาจในการออกข้อกำหนดหรือคำสั่งเพื่อให้กระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง (3)(จากไทยโพสต์)

แน่นอน, เห็นได้ชัดว่า หลากหลายมุมมองเกี่ยวกับความรู้ด้านกฎหมาย ที่เป็นความรู้โดยสุจริต หรือ ความรู้ที่ไม่ได้ “ตะแบง” หรือ “เอียงข้าง” ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนเกิด “อคติ” ถือว่ามีประโยชน์ต่อความเข้าใจเรื่องนี้ของประชาชนอย่างมาก อย่างน้อยคนที่ “เป็นกลาง” ก็ไม่ต้องสับสนไปกับความเห็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

กระนั้น เรื่องวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมีความเห็นโต้แย้งกันไม่รู้จบ ยิ่งอยู่ในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่วินิจฉัยด้วยแล้ว ยิ่งขยายปมกันไปต่างๆ นานา

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่ารับฟัง คำเตือน ดูหมิ่น-คุกคามตุลาการเกินเลย ผ่านสื่อออนไลน์ ของดร.สุกิจ พูนศรีเกษม เอาไว้บ้าง เพราะอาจเข้าข่ายดูหมิ่นศาล และมีโทษถึงติดคุกได้

ดีที่สุดคือ รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะออกมาอย่างไร ตีความอย่างไร เพราะนาทีนี้ไม่มีอะไรดีเท่ากับเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้น ก็ไม่มีใครฟังใคร


กำลังโหลดความคิดเห็น