มหาดไทย ขยับ “พันธกรณี CPTPP” รับลูก ก.พาณิชย์ สั่งผู้ว่าฯ ถก “บอร์ดกรมการจังหวัด-ก.บ.จ.-กรอ.” จัดทำข้อสงวน ข้อยืดหยุ่น และ/หรือ ระยะเวลาปรับตัวของไทย พ่วงทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น เน้นหาข้อสงวนแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด หรือกลไกภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมขอบเขตความตกลงฯ ตามที่จังหวัดเห็นสมควร
วันนี้ (8 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุทธพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้บริหารหน่วยงานใน กำกับ สป.มท. ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำข้อสงวน ข้อยืดหยุ่น และ/หรือ ระยะเวลาปรับตัวของไทย ในการรับพันธกรณี CPTPP
หรือ การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความตกลงที่ครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership : CPTPP)
“ให้มีการปรึกษาหารือในการประชุมคณะกรมการจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด หรือกลไกภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมขอบเขตความตกลงฯ ดังกล่าว ตามที่จังหวัดเห็นสมควร”
โดยให้ส่งความเห็นจากกรมการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ และหัวหน้าหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจประจำจังหวัด/คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)/คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มายังกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 15 กันยายน นี้
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานจัดประชุม หารือการจัดทำข้อเสนอ ข้อยืดหยุ่น และ/หรือ ระยะเวลาปรับตัวของไทย ในการรับพันธกรณี CPTPP โดยมีมติให้จังหวัดจัดทำ รายงานข้อสงวนในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ภายหลัง คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) กระทรวงพาณิชย์ ที่มี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน ได้มีมติมอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ กรอบการเจรจา CPTPP ของไทย
โดยขอความร่วมมือให้กระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการจัดทำข้อสงวนฯ ในการรับพันธกรณี CPTPP พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการ ดำเนินการหารือ ประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น
และชี้แจงข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการ
กระทรวงมหาดไทย แบ่งความรับผิดชอบในการวิเคราะห์ข้อมูลความตกลงที่ครอบคลุม CPTPP กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง ศึกษาด้านการค้าสินค้า การลงทุน การค้าบริการข้ามพรมแดน
ขณะที่ กรมการพัฒนาชุมชน ศึกษาด้านสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การพัฒนา และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น