ที่ประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปก ที่ภูเก็ต 9-10 ก.ย. นี้ เตรียมถกแนวทางเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากผลกระทบโควิด-19 ผ่านการเข้าถึงเงินทุน ปรับตัวสู่ดิจิทัล และ BCG Model
วันนี้ (8 ก.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 9-10 ก.ย. 65 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน จะเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปก ครั้งที่ 28 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพจัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต
โดยการประชุมจะเป็นการหารือระดับนโยบายด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ซึ่งปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อหลักเรื่อง “การฟื้นตัวโดยรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprise: MSME) ในเอเปก ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และระบบนิเวศที่มีผลกระทบสูง
“รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ MSME จากทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปก จะร่วมหารือกันในประเด็นการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของ MSME ในการเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล การส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเตรียมความพร้อมรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ MSME ของสมาชิกเอเปกสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีศักยภาพในการปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายในบริบทโลกยุคใหม่” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 65 เป็นต้นมา สสว. ได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมคณะทำงานด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Working Group: APEC SMEWG) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้าน MSME ของเอเปก ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อจัดทำข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนข้อเสนอแนะการฟื้นฟู SME จากโควิด-19 เพื่อเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 9-10 ก.ย. 65
โดยประเด็นซึ่ง APEC SMEWG ได้เป็นข้อสรุปและจะเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในกลุ่มเอเปกต่อไป มี 4 ด้าน ได้แก่ 1) วิธีการส่งเสริมให้ MSME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นรวดเร็วมากขึ้นผ่านเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ (Fin Tech) 2) การเข้าถึงตลาด โดยการลดต้นทุนทางการค้า ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและภาคเอกชน 3) ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และ 4) การปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียวผ่านห่วงโซ่อุปทานที่จะเน้นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่อยู่ในความสนใจของทั่วโลก