xs
xsm
sm
md
lg

โฆษกกล้ายก 4 ป.จี้รัฐสภาปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกฯ สร้างปรองดอง ดับไฟต้นลมช่วงการเมืองผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แสนยากรณ์” ยก 4 ป. แจงร่วมรัฐสภา หวังเสียงร่วมโหวตปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เพื่อสร้างความปรองดอง ดับไฟแต่ต้นลม ในช่วงสถานการณ์การเมืองผันผวน คืนความเป็น ปชต.ให้ รธน.

วันนี้ (7 ก.ย.) นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม คณะรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และเป็นโฆษกพรรคกล้า กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อนจะที่จะให้สมาชิกทำการลงมติ ว่า จากเท่าที่ได้ฟังการอภิปรายของสมาชิก เห็นว่า หลายคนให้การสนับสนุน หลายคนมีความเห็นต่าง จนเกิดแรงกระทบกระทั่งกันไปมา จึงอยากทำความเข้าใจว่าเป็นการเสนอโดยภาคประชาชน ที่อยากให้พิจารณาในแง่หลักการและเหตุลที่ควรจะเป็น

นายแสนยากรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีหลักการสั้นๆ 4 ป. ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่เป็นประเด็นต่างๆ ที่ตนอยากเสนอ คือ 1 ป. ประชามติ สืบเนื่องในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มีคำถามพ่วงที่ผูกโยงว่าควรให้ ทั้ง ส.ว และ ส.ส. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านการออกเสียงประชามติและเกิดจากคำถามพ่วง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะมีการเปิดช่องให้มีการแก้ไขอยู่แล้ว เราจึงใช้ช่องทางนี้เสนอเข้ามา

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า มีหลายมาตราที่อยากให้มีการแก้ไข ที่ผ่านมา แก้ไขได้เพียงเรื่องเดียว คือ ระบบเลือกตั้ง แต่เราพยายามเสนอแก้เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง สมาชิกบางคนอภิปรายว่าเป็นแค่บทเฉพาะกาลช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็มีสิทธิที่จะแก้ไขได้ หากไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ที่อาจจะสร้างวุ่นวายในอนาคต เราคาดหวังว่า จะมีการแก้ไขยกเลิกอำนาจโดยเร็วที่สุด เพราะสภานการณ์การเมืองขณะนี้มีความผันผวนมาก ไม่รู็ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสถานะออกมาอย่างไร จะยุบสภาเมื่อไหร่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย จึงต้องทำก่อนที่จะมีการเลือกนายกฯครั้งต่อไป”

นายแสนยากรณ์ กล่าวว่า ป.ที่ 2 คือ ปฏิบัตินิยม การใช้เสียงเลือกนายกฯไม่สดคล้องกับหลักปฏิบัตินิยม ที่ต้องใช้เสียง 251 ต่อ 244 คือ ใช้สภาเดียวสามารถเลือกได้แล้ว แต่เมื่อมี ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ และไม่เป็นตามหลักการประชาธิปไตย สามปีกว่าที่เกิดความขัดแย้ง และเรื่องนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง หากปล่อยไปก็อาจจะเกิดปัญหาไม่สิ้นสุด

ส่วนที่มีสมาชิกบางคนอธิปรายว่า ส.ว.อาจจะเลือกฝ่ายที่มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่ตนมองกลับว่า หาก ส.ว.ตั้งใจแบบนั้น เราอาจจะปล่อยให้เป็นตามครรลองของสภา และ ส.ว. ก็ได้ แต่หากวันหนึ่งมีบางฝ่ายพยายามใช้เสียงข้างน้อย แล้วจัดตั้งให้เลือกนายกฯ ก็อาจจะทำให้อยู่ได้ไม่นาน ก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกลายเป็นว่าการเมืองจะกลับมาไม่มีเสถียรภาพอยู่ดี หากปล่อยไว้ก็จะเปิดทางให้นำไปสู่สถานการณ์นี้ได้

สำหรับ ป.ที่ 3 คือ ประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้ ระบุย้ำชัดว่า เรายึดมั่นในระบอบหลักการประชาธิปไตย หากปล่อยให้มีการใช้เสียงกลไกที่ไม่จำเป็น และไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาธิปไตยเข้าไปมีส่วนเลือกนายกฯ ก็อาจจะขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเสียเอง

ส่วน ป.ที่ 4 คือ ปรองดอง โดยตนไม่อยากให้ ส.ว.ตั้งธงไปก่อนว่าจะรับหรือไม่รับ และหวังว่า จะท่านยอมถอดอำนาจนี้ ยกเลิกการใช้เสียง ส.ว.เพื่อสร้างความปรองดอง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกมองว่าการร่วมโหวตของ ส.ว.เป็นการสืบทอดอำนาจ หรือเป็นนั่งร้านเผด็จการ บางคนบอกว่า สมควรจะมีเพียงสภาเดียวด้วยซ้ำ แต่พวกตนยังยึดมั่นในระบบสองสภาอยู่ และให้ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ ส.ว. เพียงแต่อำนาจบางอย่างถ้ายอมสละตัดออกไปได้ ตนเชื่อว่า จะสร้างความปรองดองและความเห็นต่างลดน้อยลง จะทำให้อุณหภูมิทางการเมืองลดลงได้ในอนาคต

“มีเสียง ส.ว.หลายคนให้การสนับสนุนจาก ส.ว.ถึง 56 เสียง แต่ในสถานการณ์ต่างกันมาก การเปลี่ยนผ่านจะใกล้มาอีกครั้ง ผมหวังว่า คะแนนเราจะผ่านไปได้ หากช่วยกันโหวต ผมว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ และการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส.ว.จะมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างมาก” นายแสนยากรณ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น