ประธานสภาฯ ชวนนั่งเรือโดยสารเพื่อชีวิตผาสุก ช่วยลดมลพิษท้องถนนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุน สสส.นำองค์ความรู้การป้องกันและเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตดีอย่างยั่งยืน
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยภายหลังเปิดโครงการ "ชวนลงเรือ เพื่อชีวิตผาสุก" ถึงนโยบายผลักดันให้รัฐสภาเป็นสำนักงานสีเขียวอย่างยั่งยืนว่า โครงการ "ชวนลงเรือ เพื่อชีวิตผาสุก" ดังกล่าวเป็นช่องทางเลือกให้ข้าราชการสภาหันมาใช้เรือเป็นยานพาหนะในการเดินทาง เป็นการประหยัดพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการทำให้รัฐสภาเป็นสำนักงานสีเขียวอย่างยั่งยืนต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการรัฐสภาที่มีกว่า 3,000 คน เช่น เวลาเลิกงาน ให้ปิดแอร์ด้วยตัวเอง หรือเปิดแอร์ก็อย่าเร็วเกินไป และปิดก็อย่าปิดช้าเกินไป มันสามารถช่วยประหยัดเงินได้เป็นล้านบาทต่อเดือน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาจต้องเข้มงวดในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลจริงจัง ช่วง 3-4 ปีกว่าที่ผ่านมานี้ คะแนนรัฐสภาก็เพิ่มขึ้นมาจาก 70 กว่าเป็น 99.46 คะแนนจากการประเมินของ ปปช. นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งการทำงานเอาจริงเอาจัง
นายชวน กล่าวว่าในช่วงระหว่างการก่อสร้างรัฐสภานั้นจะมีมลพิษและฝุ่นละอองมาก แต่การก่อสร้างในระบบมันเสร็จไปแล้ว ตอนนี้มันเป็นเรื่องอื่นปลีกย่อย เรื่องต้นไม้ ส่วนฝุ่นละอองที่มีก็เป็นไปตามสถานการณ์ แต่รัฐสภาได้ประสานกับ สสส.ในการนำองค์ความรู้ และชุดข้อมูลในประเด็นการรณรงค์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 มาปรับใช้ในการสื่อสารให้แก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ได้รับทราบและปรับใช้ในการปฏิบัติตนเพื่อช่วยกันลดฝุ่นได้โดยไม่ต้องรอนโยบาย ด้วยการงดใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำงาน
ทั้งนี้ นายชวนเป็นประธานเปิดโครงการ "ชวนลงเรือ เพื่อชีวิตผาสุก" ณ ท่าเรือเกียกกาย (วัดแก้วฟ้าจุฬามณี) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 โดยมีนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ พร้อมผู้ร่วมกิจกรรม อาทิ พระครูสุภกิจจานุรักษ์ เจ้าอาวาส วัดแก้วฟ้าจุฬามณี นางสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด พร้อมคณะทำงานทางการเมือง ข้าราชการสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนประธานชุมชนทอผ้าและประชาชนในชุมชนใกล้เคียง
โดยสสส. ได้ร่วมออกบูธรณรงค์การป้องกันฝุ่น PM 2.5 ภายใต้ธีม “ร่วมใจลดฝุ่น PM 2.5 แก้ได้จากทุกคน” พร้อมแจกชุดความรู้การป้องกัน การเฝ้าระวัง และการหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 อาทิ ระวังฝุ่น PM 2.5 แต่ละภาควิกฤตไม่พร้อมกัน , ช่วงอากาศปิดจะเกิดการสะสมฝุ่น PM 2.5 สูง , ช่วงอากาศปิดพื้นที่แอ่งกระทะพบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มากกว่าปกติ , ช่วงอากาศปิดห้ามเผาทุกกรณี , ช่วยกันเฝ้าระวังเช็คค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นประจำและใส่หน้ากากให้เหมาะสม , ร่วมใจลดฝุ่น PM 2.5 และช่วงฝุ่นแพร่กระจายให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นต้น