วุฒิสภา เห็นชอบ “นารี ตัณฑเสถียร” อัยการสูงสุดหญิงคนแรกของไทย ประวัติไม่ธรรมดา คดีดัง “เพชรซาอุฯ-จำนำข้าว-ไร่ส้ม” การันตี “สิระ” หลวงตาป้อม ไม่ช่วย! “8 ปี ลุงตู่” เห็นแก่เจ้าภาพ ประชุม “เอเปก”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (29 ส.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก The METTAD โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า
“แน่นอกไหมครับ กรี๊ดสิครับ กรี๊ด”
โดยแชร์ ข้อความจากเฟซบุ๊ก Thailand Vision ระบุว่า
“วันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 26 ได้มีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 โดยมีการเสนอชื่อ นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด โดยผลการออกเสียงลงคะแนน ปรากฏว่า ให้ความเห็นชอบ 205 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่มี และไม่ออกเสียง 7 เสียง จากสมาชิกวุฒิสภาที่มาแสดงตนทั้งสิ้น 212 ท่าน
ดังนั้น นางสาวนารี ตัณฑเสถียร จึงได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมวุฒิสภา เป็นผู้ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป
สำหรับประวัติ นางสาวนารี ตัณฑเสถียร ว่าที่อัยการสูงสุด คนที่ 17 จะเป็นอัยการสูงสุดผู้หญิงคนแรกขององค์กรอัยการ และประเทศไทย สําเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทด้านกฎหมายเปรียบเทียบ Howard University, Wash, D.C. U.S.A. ปริญญาโทด้านกฎหมายระหว่างประเทศ The American University Wash, D.C. U.S.A. และปริญญาโทด้านกฎหมายการให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ Vrije University of Brussel, Belgium (ทุนรัฐบาลเบลเยียม)
สำหรับประวัติการทำงานของนางสาวนารี ตัณฑเสถียร
เริ่มทำงานปี พ.ศ. 2528 ในสำนักงานคดีอาญาธนบุรี สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่หน่วยงานภาครัฐ และเจรจา ตรวจร่างสัญญาภาครัฐ
พ.ศ. 2553 เป็นอาจารย์ (พิเศษ) คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2554 เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรองอัยการสูงสุด (นายตระกูล วินิจนัยภาค) เลขานุการอัยการสูงสุด และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผลงานโดดเด่น อาทิ คดีเพชรซาอุฯ คดีฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุฯ สัญญาเกี่ยวกับพลังงาน สัญญาเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สัญญาร่วมลงทุน สัญญาการจัดหาวัคซีน และ ยารักษาโรคระบาดโควิด-19 กรรมการเนติบัณฑิตยสภา และได้รับเลือกเป็น ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิ (ประเภทข้าราชการอัยการชั้น 5 ขึ้นไป) 2 สมัย
นอกจากนี้ นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด ก็เคยกล่าวถึงนางสาวนารี ตัณฑเสถียร ว่า เป็นผู้ปฏิบัติงานที่ทั้งเก่งและดี อีกทั้งยังดูแลคดีสำคัญมากมาย ทั้งคดีระดับประเทศและระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นคดีจำนำข้าว หรือ คดีไร่ส้ม ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของ นางสาวนารี ตัณฑเสถียร ในฐานะอัยการสูงสุดหญิงคนแรกแห่งราชอาณาจักรไทย
แหล่งข่าว
- https://www.naewna.com/local/676390
- https://www.posttoday.com/social/general/685187
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา โพสต์ข้อความระบุว่า
“หลวงตาป้อมไม่ช่วย!
ศาลฯสั่งจำคุก “สิระ เจนจาคะ” 16 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่นประมาท “หมอเหรียญทอง”
วันที่ 29 ส.ค. 2565 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลแขวงดอนเมือง ศาลได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.594/2564 (คดีหมายเลขแดงที่ อ.1176/2565) ระหว่าง บริษัท มงกุฎวัฒนะ จำกัด ที่ 1 และ พล.ต.เหรียญทอง แน่หนา ที่ 2 โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสิระ เจนจาคะ จำเลย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส)
โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 เวลากลางวัน จำเลยนำพรรคพวกประมาณ 4-5 คน ได้บังอาจเดินล่วงล้ำบุกรุกในเขตก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. (ติดกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ) อันเป็นอยู่ในความครอบครองของโจทก์ที่ 1 ต่อมาจำเลยนำชาวบ้านประมาณ 20 คน นำป้ายมาเขียนประท้วงการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามของโจทก์ที่ 1 และกล่าวใส่ความโจทก์ทั้งสองต่อหน้าผู้คนที่ยืนอยู่บริเวณทางเข้าเขตก่อสร้างโรงพยาบาลสนามดังกล่าว และผู้ชมรายการโทรทัศน์และสื่อสังคม (Social Media) ต่างๆ หลายกรรม อันทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 362, 91
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายมาตรา 326, 362 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ปอ. มาตรา 91 ฐานหมิ่นประมาท จำคุก 2 เดือน รวม 5 กระทง และฐานบุกรุกจำคุก 6 เดือน รวมจำคุกมีกำหนด 16 เดือน (ไม่รอลงอาญา)
จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยวางเงินสด จำนวน 21,600 บาท เป็นหลักประกัน”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ระบุว่า
“หยุดเอาไว้สักหน
ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องคดีลุงตู่ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ และสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี เพื่อรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เหมือนว่า ฝ่ายที่ไม่ชอบลุงตู่จะยังไม่ยอมหยุด. ยังคงเคลื่อนไหวรายวัน ยังกดดันต่อเนื่อง. ได้คืบจะเอาศอก
ทำให้เกิดความสงสัยว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่นี้ไม่ได้เคารพในการกระบวนการยุติธรรม. อยากเห็นประเทศชาติวุ่นวายไม่จบสิ้น. ไม่ยอมรอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
คนที่คิดไม่เหมือน พูดไม่ใช่อย่างตัวเอง ไม่ใช่คนผิดหรือคนไม่ดี ประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้. แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง ต้องเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม.
นายกฯเถื่อนไม่มีหรอก. คนที่หนีกระบวนการยุติธรรมสิที่น่ารังเกียจ
ที่น่าเป็นห่วง. ในระยะเวลาอันใกล้ที่จะมาถึงนี้ ประเทศไทยต้องเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก จะมีผู้นำมากกว่า 20 ประเทศ จะมาร่วมประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ
หากรักชาติกันจริง หยุดเคลื่อนไหว. หยุดสร้างความวุ่นวายในกรุงเทพฯสักระยะหนึ่ง สร้างบรรยากาศสงบสันติให้เหมาะสมกับประชุมสุดยอด. ร่วมกันเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกด้วยกัน. เพื่อให้ผู้นำต่างชาติมั่นใจว่า มาประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯแล้วปลอดภัย. ไม่ต้องวิ่งหนีม็อบ
นอกจากว่า. จะมีคนบางคนมีจิตริษยา ไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่สำเร็จ อยากล้มการประชุมสุดยอดเอเปก เหมือนที่เคยล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามที่พัทยาเมื่อหลายปีก่อน”
แน่นอน, แม้ว่าคนที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบ 8 ปีแล้ว บางส่วนจะหยุดเคลื่อนไหว รอ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย และยึดมั่นใน “หลักนิติธรรม” แบบ “อารยชน” ในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก
แต่ก็ยังมีกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง และพรรคฝ่ายค้านบางส่วน ที่ไม่ยอมหยุด เพื่อรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ พวกเขาอ้าง “ความชอบธรรม” ของศาลเตี้ย พวกมากลากไป และพลังกดดันศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของตัวเอง โดยไม่สนใจหลักนิติธรรม ที่เรียกร้องจากเผด็จการมาตลอด จนดูเหมือนว่า ทำตัวเป็น เผด็จการเสียเอง
นั่นคือ สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่รู้ทัน “กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง” ที่หวังใช้ “ประชาชน” เป็นเครื่องมือ ลุกฮือ “ไล่ประยุทธ์” ซึ่งไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีกลุ่มผู้ก่อความวุ่นวาย โดยอ้างสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และไม่เคารพกฎหมาย แทน?