xs
xsm
sm
md
lg

กล้าจัดงานเฟสสุราไทย หนุนแปรรูปอัปเกรดสุราพรีเมียม จี้แก้ กม.แอลกอฮอล์เอื้อเกษตรกร-ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรรคกล้าจัดงาน “กล้าเฟส : สุขอุราไทย” รวมเครือข่ายสุราเดินหน้านโยบายแปรรูปสินค้าเกษตร อัปเกรดสุราพรีเมียม หนุนแก้ พ.ร.บ.คุมแอลกอฮอล์ ขยายโอกาสเกษตรกร เอื้อท่องเที่ยว ใช้ทฤษฎีไม้เสียบลูกชิ้น ทะลุข้อ กม.ที่เป็นอุปสรรค

วานนี้ (27 ส.ค.) ทีมเศรษฐกิจพรรคกล้า ได้จัดงาน “กล้าเฟส : สุขอุราไทย” เวทีวิชาการเพื่อเดินหน้านโยบายแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นสินค้าพรีเมียม ขยายโอกาสให้เกษตรกร เพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันท่องเที่ยว โดยมีผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน คนทำคนขายสุรา ไวน์ เบียร์ นักวิชาการ นักการตลาด นักการเมือง เข้าร่วมงาน

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวถึงอุปสรรคของวงการสุราไทย ซึ่งกติกาไม่เป็นธรรม ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อย่างเช่น ห้ามขายสุรา 14.00-17.00น. ด้วยเหตุผลเก่าแก่ในปี 2515 ว่ากลัวข้าราชการเมาแล้วไม่ทำงาน ทั้งที่ไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว และแม้รัฐบาลอนุญาตให้วิสาหกิจชุมชนผลิตเหล้าขายได้ แต่กลับห้ามขายผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ผลิตไม่สามารถบอกว่าสิ่งที่อยู่ในขวดคืออะไร เป็น จิน วอดก้า หรือ รัม จึงต้องใช้ความกล้าหาญ นำทฤษฎีไม้เสียบลูกชิ้น ทะลุทุกกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรค ทะลุปัญหาต่างๆ เหล่านี้ไปด้วยกัน

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกกล้า กล่าวว่า ที่พรรคกล้า เชิญหลายๆ ฝ่าย มาร่วมเสวนากันวันนี้ ก็เพราะจุดมุ่งหมายอยากให้มีการปลดล็อกเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของคนตัวเล็กๆ ซึ่งสุราเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่จะขยายขอบเขตไปถึงการขยายโอกาสอีกหลายๆ อย่าง ที่ไม่ใช่แค่ทำให้ขายง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มกำลังซื้อสินค้าเกษตร เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยว ย้ำว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้คนดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่เราต้องการขยายโอกาสให้กว้างขึ้น ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ได้ประโยชน์ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยากในประเทศนี้มีสองอย่าง คือ โครงสร้างพลังงานและกฎหมายที่เกี่ยวกับสุรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคกล้าพยายามต่อสู้ หากเรานำบริษัทใหญ่มาเป็นนายทุนให้กับสุราชุมชนในรูปแบบสตาร์ทอัป จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้สุราชุมชนเติบโตและแข็งแรงได้

นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงกฎหมายลูกซึ่งบังคับใช้มากว่า 14 ปี มีปัญหาความคลุมเครือไม่ชัดเจน มีการใช้ดุลพินิจ จนก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวและบันเทิง ร้านอาหาร และผู้ค้าปลีกต่างๆ อย่างการห้ามขายระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. และหลังเที่ยงคืน การห้ามขายผ่านช่องทางออนไลน์ และการควบคุมฉลาก ไม่ได้ทำให้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ลดลงตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะลดการดื่มอย่างเป็นอันตรายลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2568 แต่กลับสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งรัฐควรส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้ตระหนักถึงโทษภัยของการดื่มอย่างเป็นอันตรายซึ่งเป็นป้องกันและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอาหาร แอดมินเพจสุราไทย และผู้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,942 คน เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่า มีข้อกฎหมายที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว สร้างความเดือดร้อนหวาดกลัวแก่ผู้ทำสุราพื้นบ้าน ผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้บริโภค รวมถึงแอดมินเพจซึ่งโพสต์ภาพหรือเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่ไม่มีเป้าหมายทางการค้า แต่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะกฎหมายมุ่งเน้นการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ใช่การกำกับดูแล ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค กีดกันภาคเอกชนจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยเนื้อหาของร่างแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงให้เหมาะสมกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยเฉพาะในประเด็นด้านการท่องเที่ยวและการส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่

นางสาวสุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ กราน-มอนเต้ (GranMonte) เขาใหญ่ (มีมี่ กราน-มอนเต้) กล่าวว่า วันนี้รู้สึกภูมิใจมากที่ไวน์ไทยแท้ ได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ได้รับรางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองจากเวทีระดับโลก ไร่องุ่นและไวเนอรี่ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร แต่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ตอบโจทย์ด้านการส่งเสริมหรือพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แล้วยังด้อยค่าบรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงมาที่ไร่ แต่ต้องห้ามเสิร์ฟและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00-17.00 น. ทำให้นักท่องเที่ยวต้องผิดหวัง ดื่มและซื้อไวน์กลับไม่ได้ ขายออนไลน์ก็ไม่ได้ สวนทางกับกระแสโลกและเทรนด์ผู้บริโภค

นายศุภพงษ์ พรึงลำภู หุ้นส่วนโรงเบียร์สหประชาชื่น (ตูน Sandport) กล่าวบนเวทีเสวนาเดียวกัน ว่า นอกจากวิกฤตโควิด-19 ที่สถานประกอบการถูกสั่งปิดยาวนาน กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังซ้ำเติม กีดกันการฟื้นฟูและเติบโตของสตาร์ทอัป (Startup) และ เอสเอ็มอี (SME) ปิดกั้นเสรีภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยขาดความหลากหลาย คราฟท์เบียร์ของคนไทยคนตัวเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ แม้ว่าจะมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ การันตีด้วยรางวัลระดับโลกก็ตาม กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นกฎหมายหวังดี ที่หลงลืมสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการและผู้บริโภค คนดื่มถูกสร้างภาพให้เป็น “คนบาป” คนทำคนขายเหล้าถูกประณามว่าเป็น “คนไม่ดี” ปัญหาการดื่มอย่างผิดๆ ต้องแก้ที่การให้ความรู้ ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดื่มอย่างพอดีและรับผิดชอบ ลงโทษผู้เมาแล้วขับอย่างตรงไปตรงมา อยากเห็นรัฐบาลไทยเหมือนรัฐบาลต่างประเทศ ที่ส่งเสริมคราฟท์เบียร์ สุราพื้นบ้าน ทำเป็น Soft Power สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เหมือนเบียร์เยอรมันและเบลเยี่ยม สาเกของญี่ปุ่น โซจูของเกาหลี และสก็อตวิสกี้

ในช่วงท้าย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรรกล้า กล่าวว่า พอได้รับฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งที่ทีมเศรษฐกิจพรรคกล้า จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับฟังข้อเท็จจริง และพรรคการเมืองก็มีหน้าที่เดินหน้าแก้ไขอุปสรรคที่ไม่มีเหตุผล


กำลังโหลดความคิดเห็น