“ทรู-ดีแทค” ยื่นหนังสือท้วง กสทช.หลังเผยแพร่ข้อมูล “5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค” ผ่านสื่อสาธารณะ-เฟซบุ๊ก กสทช. พร้อมขอให้เร่งตรวจสอบที่มาของข้อมูล หวั่นชี้นำกระบวนการพิจารณา และเข้าข่ายเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน กระทบความโปร่งใส และเป็นธรรมของ กสทช.
ภายหลังสื่อหลายสำนักได้เผยแพร่ข้อมูล “5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค” โดยอ้างอิงที่มาจากสำนักงาน กสทช. เมื่อ 25 ส.ค.65 จนถึงปัจจุบัน ทั้งที่ขณะนี้การควบรวมทรู-ดีแทคอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2565 นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) เป็นตัวแทนทรูและดีแทค เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ลงนามร่วมกันระหว่างทรูและดีแทคต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. ทั้ง 5 คน เพื่อขอให้ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการรวมธุรกิจในหัวข้อ “5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค” ผ่านสื่อสาธารณะและเฟสบุ๊คของ กสทช. เนื่องจากเห็นว่า เป็นข้อมูลที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีการรวมธุรกิจ พร้อมขอคำยืนยันจาก กสทช.ว่า ข้อมูลนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กสทช.ก่อนนำมาเผยแพร่หรือไม่ และหากยังไม่ได้รับการอนุมัติ บุคคลใดเป็นผู้นำข้อมูลดังกล่าวสู่สื่อสาธารณะ อันอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดว่าเป็นมติ กสทช. โดยผู้ที่นำข้อมูลมาเผยแพร่อาจต้องรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น
“ในท้ายหนังสือดังกล่าวระบุว่า รายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 20/2565 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ในระเบียบวาระที่ 5.1 ระบุว่า ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการรวมธุรกิจในครั้งนี้” นายจักรกฤษณ์ กล่าว
นายจักรกฤษณ์ กล่าวด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลของ กสทช. ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ควรชี้นำด้วยความเห็นที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริง เพื่อชี้นำสังคม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณา โดยเมื่อวันที่ 25 ส.ค.65 ปรากฏว่ามีการเปิดเผยชุดข้อมูลในหัวข้อ “5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค” ผ่านสื่อสาธารณะและเฟสบุ๊คของ กสทช. โดยข้อมูลที่เปิดเผยดังกล่าวจงใจทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับกรณีการรวมธุรกิจ โดยอ้างว่าเป็น “ข้อเท็จจริง (Fact)” ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวอาจยังเป็นเพียง “ความเห็น” หรือ “ข้อคิดเห็น” ของบางฝ่ายเท่านั้น รวมทั้งยังเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีข้อยุติและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช. ด้วยเหตุนี้ทรูและดีแทคจึงขอให้มีการตรวจสอบกระบวนการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะส่งผลให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดและกระทบต่อชื่อเสียงของผู้แจ้งการรวมธุรกิจ