xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ชูการเมืองแบบใหม่ต้องอาศัยยุทธศาสตร์-เข้าถึงทุกกลุ่ม ปลุกสร้างความเชื่อมั่นใน ปชต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ กทม. ชูการเมืองแบบใหม่ต้องอาศัยยุทธศาสตร์-เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ปลุกคนทำงานการเมือง-กกต. มีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นระบอบ ปชต. ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่านักการเมืองไม่น่ารังเกียจ

วันนี้ (26 ส.ค. )ที่ห้องเทวกรรมรังรักษ์ สโมสรทหารบก สำนักงาน กกต.โดยสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง จัดสัมมนานำเสนอยุทธศาสตร์ของนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 12 (พตส.12) เรื่อง “ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาการเมือง” โดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า แม้จะเจอสถานการณ์โควิด แต่ก็จัดอบรมได้ตามวัตถุประสงค์ทุกประการ เชื่อว่า สิ่งที่นำเสนอวันนี้มาจากการระดมความคิดของนักศึกษาแต่ละคน ทั้งนี้ หลังจากผ่านการวิพากษ์โดยนักวิชาการผู้มีความรู้แล้ว เชื่อว่า จะกลายเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าที่สถาบันการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาการเมืองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไปได้ และจะนำมาซึ่งความมีเสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถานำ เรื่อง “จากเล็กสู่ใหญ่ : มองการเมืองและประเทศไทยแบบ 360 องศา” ตอนหนึ่งว่า จุดเริ่มต้นของตนเริ่มคนเดียว เมื่อปี 2562 ตนเชื่อว่า ทุกคนสามารถเข้าสู่การเลือกตั้งได้ ไม่ว่ามีพรรค ไม่มีพรรค แต่ถ้ามีคอนเซปต์ มีไอเดีย ความตั้งใจก็สามารถเอาชนะในการเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือต้องมียุทธศาสตร์ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การหาความรู้ หาแนวร่วม จากคนทุกช่วงวัย นอกจากนั้น จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้หลายๆ ด้าน เข้ามา เพราะเราไม่สามารถมีความรู้ความเชี่ยวชาญในทุกเรื่องได้ จึงต้องหาแนวร่วม อย่าหาจุดต่างแต่ต้องหาจุดร่วม

“ข้อดีของการที่ผมเป็นผู้สมัครอิสระ ทำให้หาแนวร่วมง่ายขึ้น เพราะคนมองว่าการร่วมกับพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่น่ากลัว ทั้งนี้แนวคิดคือให้สงสัยในสิ่งที่เรารู้ ว่ามีอะไรต้องอัพเดตให้ทันสมัยหรือไม่ และให้ยำเกรงว่าสิ่งที่เราไม่รู้มีมากกว่าสิ่งที่เรารู้”

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า การเมืองแบบใหม่ ต้องมีการทำโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม หากอยากสื่อสารเข้าถึงคนทุกช่วงวัย ต้องมีทุกช่องทาง อย่างเฟซบุ๊กคือคนอายุเยอะ ส่วนอินสตาแกรมและทวิตเตอร์ คือ คนรุ่นใหม่ หรือเด็กจบใหม่ และ Tiktok จะเป็นกลุ่มเด็ก ที่สามารถเจาะกลุ่มเด็ก 8 ขวบ เพื่อไปบอกพ่อแม่ให้ลงคะแนนเสียงได้เช่นกัน ซึ่งตนคิดว่าการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้คะแนนเสียงมาจากการหาเสียงในโซเชียลมีเดียกว่า 20% ซึ่งถือเป็นการเมืองรูปแบบใหม่ เพราะการทำงานการเมืองต้องหาวิธีการสื่อสาร แม้เราจะทำงานหนักหรือมียุทธศาสตร์ที่ดี แต่สื่อสารไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์

“การเมืองสมัยใหม่ต้องเข้าถึงคนมากขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น นอกจากนั้น การใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) เป็นการเปลี่ยนจากราชการ โดยใช้แพลตฟอร์มที่ช่วยแก้ปัญหาประชาชนได้เร็วขึ้น และสามารถประสานการทำงานกับหน่วยงานอื่นได้รวดเร็ว อนาคตอาจจะใช้เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมทั้งประเทศได้เลย”

นอกจากนี้ ยังเชื่อเรื่องทำจากเล็กไปใหญ่ แม้งาน กทม.จะถือเป็นงานเล็ก แต่งานเราไม่ได้มีแค่นี้ เพราะเราสร้างความมั่นใจความเชื่อมั่นให้กับระบอบประชาธิปไตย ว่า เป็นระบอบที่ทรงพลังที่จะสามารถเลือกคนที่ดีและให้คำตอบกับประเทศ ที่ผ่านมาคนหมดหวังกับระบอบประชาธิปไตย หมดหวังกับระบอบเลือกตั้ง ดังนั้น หน้าที่เราจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบอบ เพื่อให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ได้ ขณะที่หน้าที่ของ กกต. ไม่ใช่แค่จัดเลือกตั้ง แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และสร้างความโปร่งใสได้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกว่านักการเมืองน่ารังเกียจ นั่นคือ การสร้างระบบจากฐานรากว่าประชาธิปไตยมีความหมาย และสร้างคำตอบให้ประเทศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น