xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร จับมือ สภาทนายความ จัดทนายอาสายื่นมือเข้าช่วยเกษตรกรทั่วประเทศ ที่มีหนี้สินและสัญญากู้ไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 23 ส.ค.65 ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสไกร  พิมพ์บึงเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมด้วยนายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อให้ความช่วยเหลือเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้กับเกษตรกรที่มีความเดือดร้อน

นายสไกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และสภาทนายความได้ลงนามบันทึกข้อตกลงให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทั้งด้านกฎหมายให้กับเกษตรกร ที่มีหนี้สินถูกฟ้องคดีและผิดนัดชำระ ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 56,284 องค์กรสมาชิก 5,670,659 รายขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรจำนวนสมาชิก 542,564 รายเป็นเงิน 112,349,817,454.97 บาท โดยมีการชำระหนี้แทนเกษตรกรตั้งแต่ปี 2549 - 2565 จำนวน 30,535 ราย 30,981 สัญญาเป็นเงิน 7,551,715,308.67 บาท พร้อมกันนี้ได้มอบโฉนดให้เกษตรกรที่ชำระหนี้ครบตามสัญญา จำนวน 7,154 ราย 10,424 แปลงเนื้อที่รวม 77,824 ไร่ 2 งาน 72.9 ตารางวา ซึ่งได้ขอความช่วยเหลือสภาทนายความเรื่องที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับเกษตรกรและสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประจำจังหวัด 75 จังหวัดโดยจะมีการเพิ่มเติมให้ครบ 77 จังหวัด

โดยก่อนหน้านี้กองทุนฟื้นฟู ได้ชำระหนี้เงินต้น ดอกเบี้ยและปรับโครงสร้างหนี้ ให้เกษตรกรแล้ว หลังจากนี้รัฐบาลจะมีการช่วยเหลือชดเชยเงินต้นให้กับสถาบันการเงิน 4 ธนาคาร คือ ธนาคารเพื่อการเกษตร,ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารออมสิน และธนาคารเอสเอ็มอี และเมื่อชำระหนี้ เข้าสู่ระบบปกติแล้วโดยรัฐบาลจะชดเชยหนี้เงินต้น ดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ให้ต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมีทนายความที่มีคุณธรรมมาช่วยแก้ต่างคดีให้ จะไม่มีกลุ่มเกษตรกรที่แห่มาขอความช่วยเหลือที่ส่วนกลางอีกต่อไป ทั้งนี้เมื่อเกษตรกรมีหนี้สินเดือดร้อนเรื่องการถูกยึดที่ดินทำกิน หรือเรื่องอื่น ๆ สามารถเข้าไปแจ้งเรื่องให้กับกองทุนฟื้นฟูประจำจังหวัดและสภาทนายความจังหวัดของตัวเองได้ทันที
 
ขณะที่นายอนุพร ระบุว่า จากการที่ตนเองได้ศึกษาหลักสูตรการบริหารชั้นสูงกับนายสไกรหลายหลักสูตร ได้หารือและเสนอให้มีทนายความอาสาประจำกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาทางกฎหมายให้กับสมาชิกกองทุน โดยส่วนตัวรู้สึกเห็นใจเกษตรกรและประชาชนรากหญ้าอย่างมากที่เป็นหนี้เป็นสินโดยต้องหยุดสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ซึ่งการเป็นหนี้ต้องชำระแต่ต้องเป็นหนี้ที่มาจากความสุจริตและเป็นธรรม โดยพร้อมที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญและปรับนิติทัศนะของทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน เสนอให้ใช้ พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยหนี้มาช่วยลดคดีที่จะถึงศาล พร้อมย้ำว่า สภาทนายความยุคใหม่ แม้ตนเองจะได้อยู่ในตำแหน่งหรือไม่ได้รับเลือกเป็นนายกสภาทนายความก็พร้อมผลักดันให้โครงการดังกล่าวออกไปช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าถึงกฎหมาย สภาทนายความยุคต่อไปต้องยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชนที่สุจริต และเป็นกลไกจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนเกษตรกรรากหญ้า เพราะกำไรหรือผลประโยชน์ไม่ควรเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายหรือความไม่รอบรู้ทางกฎหมายจนถูกเอาเปรียบ สภาทนายความจะประสานให้สภาทนายความจังหวัด เข้าไปรับเรื่องในแต่ละจังหวัดต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรม

“ประเทศชาติจะพัฒนา เมื่อประชาชนเข้าถึงกฎหมาย” นายอนุพร กล่าว

ทั้งนี้ในบันทึกความตกลง ทางสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จะจัดทนายความอาสาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้คำปรึกษา แนะนำ จัดทำสัญญา ตอบปัญหาข้อกฎหมายประจำสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประจำจังหวัด รวมทั้งจัดทนายความให้ความช่วยเหลือด้านอรรถคดีแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก สนับสนุนวิทยากรในการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย การฝึกอบรม การสัมมนา การให้คำปรึกษาปัญหาข้อกฎหมาย ให้แก่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูให้ได้รับความเสมอภาคและเป็นธรรม








กำลังโหลดความคิดเห็น