คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นชอบโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบฯ 67 จำนวน 1,026 โครงการ นายกฯ ย้ำ นำยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามห้วงเวลา มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อประเทศชาติ-ประชาชน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ส.ค.) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางโปรแกรม ZOOM ร่วมกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุม ว่า ขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติซึ่งวางไว้ 20 ปี เข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว โดยหลายอย่างมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 1 ได้เห็นความก้าวหน้าต่อเนื่องเกิดขึ้นตามลำดับ แม้บางอย่างจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะติดปัญหา แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำงานก็จะเดินหน้าไปได้ และในระยะต่อไปต้องดูว่าจะเดินหน้าอย่างไร หลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อไป ซึ่งเราไม่ได้อยู่ไปจนถึงปี 2580 แต่หลักๆ คือ เราอยู่ใน 6 ยุทธศาสตร์ ซึ่งมีการอ่อนตัวอยู่แล้ว สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตลอดเวลา โดยทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมการเจริญเติบโตทุกด้านของประเทศ ดังนั้น ขอให้คณะกรรมการฯ ทุกคนช่วยกันแสดงความเห็น หาทางปฏิบัติ และหากมีปัญหาหรืออุปสรรคขอให้แจ้งมา พร้อมกับต้องเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยการดำเนินการระยะที่ 1 คือ การแก้ปัญหาความยากจน ลดภาระ ลดหนี้ให้ประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน โดยมีมาตรการเสริมดูแลผู้มีรายได้น้อย ดูแลคนทุกช่วงวัย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ให้อยู่รอดได้ ไม่เป็นภาระของสังคมและครอบครัว โดยระยะที่ 2 ต่อจากนี้จะต้องมีการวางแผนหาวิธีการทำให้ประชาชนพอเพียง มีรายได้ที่เพียงพอ ส่วนระยะที่ 3 ของการแก้ไขปัญหาความยากจน คือ จะต้องไปสู่ความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ในปัจจุบัน โดยวันนี้หลายเรื่องดีขึ้น หลายเรื่องยังไม่ดีแต่ก็มีส่วนที่ดีอยู่มากพอสมควร ถ้าทุกคนย้อนกลับไปดูและสร้างความเข้าใจ ทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้เพื่อไปสู่ทั้ง 3 ระยะเพื่อความยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การประชุมวันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่เป็นการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ ว่า จะเดินหน้าประเทศอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ให้ขับเคลื่อนได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมกล่าวฝากให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจเอกชน ต้องร่วมมือกันเดินหน้าต่อไปให้ได้ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาขอขอบคุณทุกคนที่ได้ทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด สิ่งที่เป็นความท้าทายวันนี้ คือ ทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นรูปธรรมให้ได้ โดยทุกคนต้องมาช่วยกันทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือประเทศชาติและประชาชน เพื่อนำยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามห้วงเวลา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน
ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับปรับปรุง) ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานฯ) ได้ดำเนินการตามหลักการและแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 โดยยังคงจำนวนเป้าหมายประเด็น (Y2) จำนวน 37 เป้า และจำนวนเป้าหมายแผนย่อย (Y1) เท่าเดิม ทั้ง 140 เป้า แต่เน้นการปรับปรุงถ้อยคำของเป้าหมายแผนแม่บทย่อยให้มีความชัดเจน ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งได้มีการปรับปรุงตัวชี้วัดให้สามารถสะท้อนผลลัพธ์การดำเนินการตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับค่าเป้าหมายให้มีความท้าทายขึ้น และแนวทางการพัฒนาให้มีความครอบคลุมและสะท้อนเป้าหมายการดำเนินการมากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ในระยะถัดไป ที่เป็นดำเนินการตามหลัก PDCA โดย PLAN ให้สำนักงานฯ ร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพสร้างความเข้าใจในการถ่ายระดับแผนสู่การปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับสูงต่อการส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนทั้งสองระดับ DO ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนปฏิบัติราชการราย 5 ปี และรายปี ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 3 หลัก รวมทั้งโครงการ/การดำเนินงานต่างๆ ที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยแบบพุ่งเป้าไม่ใช่มุ่งที่ตัวชี้วัด รวมทั้ง สำนักงบประมาณให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมาย CHECK ให้กลไกการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลหน่วยงานของรัฐตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2564 ดำเนินการติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ และให้หน่วยงานของรัฐนำเข้าข้อมูลโครงการ/การดำเนิน แผนระดับที่ 3 และรายงานผลสัมฤทธิ์ในระบบ eMENSCR อย่างเคร่งครัด และ ACT สำนักงานฯ ปรับปรุงกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐต้องเร่งปรับประบวนทัศน์การทำงาน ทำความเข้าใจหลักการและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ ที่ยึดเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) ใช้หลักการ “พุ่งเป้า” และมอบหมายสำนักงานฯ ดำเนินการตามผลการพิจารณา พร้อมปรับปรุงร่างแผนฯ ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป
2. เห็นชอบโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,026 โครงการ จากข้อเสนอโครงการฯ ที่หน่วยงานนำเข้าในระบบ eMENSCR จำนวน 2,619 โครงการ รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการในระยะถัดไป โดยมอบหมาย (1) หน่วยงานของรัฐทบทวนความเกี่ยวข้องของหน่วยงานในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งประสานหน่วยงานเจ้าภาพและหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายแผนแม่บทย่อย (Y1) เพื่อจัดทำโครงการ และปรับปรุงรายละเอียดข้อเสนอโครงการที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ก่อนการนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ กรณีที่ข้อเสนอโครงการ ของหน่วยงานไม่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญฯ และประสงค์จะเสนอโครงการเข้าสู่กระบวนการงบประมาณ หน่วยงานจะต้องพิจารณาทบทวนและปรับปรุงข้อเสนอโครงการตามหลักเกณฑ์การประเมินโครงการ ก่อนเข้าสู่กระบวนการงบประมาณ (2) หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทุกระดับ ประสานและบูรณาการระหว่างเจ้าภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาความครอบคลุมของหน่วยงาน รวมทั้งจัดให้มีการให้คำปรึกษา (คลินิกให้คำปรึกษาโครงการ) เพื่อให้หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนฯ สามารถหารือแนวทางการจัดทำโครงการ (3) ผู้มีสิทธิประเมินข้อเสนอโครงการ ศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการการจัดทำโครงการ และหลักเกณฑ์การประเมินโครงการ รวมทั้งประเมินข้อเสนอโครงการ บนหลักวิชาการ อย่างเที่ยงตรง และเป็นธรรม (4) สำนักงบประมาณ หารือกับสำนักงานฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตลอดกระบวนการการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายฯ พิจารณาจัดสรรงบประมาณของโครงการ/การดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติโดยยึดเป้าหมายแผนแม่บทย่อยฯ (Y1) เป็นหลัก และพิจารณาจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละปีงบประมาณ เป็นลำดับแรก และ (5) สำนักงานฯ สร้างการตระหนักรู้ เพื่อให้หน่วยงานฯ มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายฯ รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้คะแนน พร้อมทั้งจัดทำคำอธิบายและคำนิยามให้มีความชัดเจนและครอบคลุม เพื่อให้หน่วยงานและผู้มีสิทธิ์ให้คะแนนมีความเข้าใจเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น
3. เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดของแผนปฏิรูปประเทศ เนื่องจากการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่ได้มีการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 61 และแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ได้ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการปฏิรูปประเทศในระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 258 และเป้าหมายตามมาตรา 257 ของรัฐธรรมนูญฯ โดยแนวทางการขับเคลื่อนฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐนำประเด็นการปฏิรูปประเทศไปดำเนินการต่อเนื่อง ผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 แผนระดับที่ 3 และการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงาน และให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการทบทวน ยกเลิก กฎระเบียบ ข้อบังคับ กลไก และคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งสำนักงานฯ ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ป.ย.ป. ตามคำสั่ง คสช.ที่ 19/2561 รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 62 เรื่อง การทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามแผนการปฏิรูปประเทศ สำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการติดตามและประเมินผลการปฏิรูปประเทศ ให้หน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่กำกับ ติดตามการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ พิจารณาทบทวนบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามความเหมาะสม โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับ 2 เป็นกรอบในการดำเนินการ รวมไปถึงกลไกและกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความสอดคล้องและเหมาะสม การดำเนินการติดตาม ประเมินผลและจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดยดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับห้วงเวลาดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศ ทั้งในส่วนของการรายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศในระบบ eMENSCR ให้สอดคล้องกับห้วงเวลาและงบประมาณที่ได้รับจัดสรร การจัดทำรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ สำหรับรอบเดือน ต.ค.-ธ.ค. 65 เป็นรอบรายงานสุดท้าย และการจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2565 โดยใช้ข้อมูลผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 65 โดยมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการตามข้อกฎหมายต่อไป
4. เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จำนวน 5 คณะ มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการขับเคลื่อนฯ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย รวมถึงอำนวยการ สั่งการ กำกับดูแล ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานตามนโยบายและแนวทางที่กำหนดไว้ กลไกการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อถ่ายระดับของเป้าหมายและกำหนดโครงการ/การดำเนินงานที่สามารถส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และยุทธศาสตร์ชาติ กลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยให้มีการเชื่อมโยงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 กับแผนพัฒนาของรัฐในระดับพื้นที่ผ่านการจัดทำแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ และการขับเคลื่อน แบบบูรณาการในระดับตำบล กลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
5. เห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากมีอายุครบวาระ 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในพรบ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยได้มีมติแต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายกานต์ ตระกูลฮุน นายชาติศิริ โสภณพนิช และ นายบัณฑูร ล่ำซำ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต่อไปอีกหนึ่งวาระ และสรรหาบุคคลอื่นเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร เพื่อนำเสนอตามกระบวนการต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานฯ นำเสนอ ครม.พิจารณาแต่งตั้งตามกฎหมายต่อไป