xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยผวายุบสภา สะเทือนยุทธศาสตร์ครอบครัว!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา


กลายเป็นว่าเวลานี้พรรคที่หวาดผวากับการยุบสภามากที่สุด กลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทย ที่ในช่วงที่การเมืองกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ต้องลุ้นกันแบบนี้ พวกเขากลับเก็บอาการกันไม่อยู่ ทั้งดักคอ ทั้งตีปลาหน้าไซ ส่งเสียงดังให้ระวังการยุบสภา

เพราะทั้งสองเรื่องสำคัญกำลังมีช่วงที่มาบรรจบกันในเวลาไล่เลี่ยกันพอดี เรื่องแรกที่เป็นไฟต์บังคับอยู่แล้ว ก็คือ “วาระ 8 ปี” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะมีการชี้ขาดโดยศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ในวันที่ 24 สิงหาคม เขาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนด 8 ปีหรือไม่

ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามก็ตีความกฎหมาย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งได้เพียงแค่ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคมเท่านั้น โดยคิดไปไกลว่าอาจจะฉวยโอกาสยุบสภาก่อน อาจเลือกเอาวันที่ 23 สิงหาคม ก็ได้ เพื่อที่จะรักษาการนายกฯ รักษาอำนาจต่อไปอีก
อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ยืดเยื้อมาจนถึงวันที่ 23 สิงหาคม หลังจากมีเหตุการณ์ “สภาล่ม” หรือองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยพรรคเพื่อไทยได้ส่งสัญญาณเตือนว่า ร่างงบประมาณอาจจะ “ไม่ผ่านสภา” และทำให้นายกรัฐมนตรีได้โอกาส “ยุบสภา” เพื่อรักษาการต่อไป

แน่นอนว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าวล้วนมาจากการคาดการณ์จากฝ่ายพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น และเป็นระดับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวว่า ด้วยเหตุแล้วหากยุบสภาช่วงนี้ มีแต่โทษ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับประเทศ ข้ออ้างในการยุบสภาไม่สมเหตุสมผล เหตุที่ต้องอ้างได้ คือ ความขัดแย้ง และความเสียหายจากฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น วันที่ 23 สิงหาคมนี้ จะมีการโหวต ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ในวาระ 3 หากไม่ผ่าน เหมาะสมที่จะยุบสภา

ถามว่า แสดงว่า ในวันที่ 23 สิงหาคม ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 จะไม่ผ่านวาระ 3 ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะงบประมาณอาศัยเสียงข้างมาก ถ้าเสียงข้างมากถูกบงการมาว่า เอาช่องทางนี้ก็เป็นไปได้ทั้งหมด

“ส่วนเหตุผลอื่น คือ ต้องการให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้ยาว ซึ่งเป็นเหตุผลที่อันตรายมาก เพราะตอนนี้สิ่งที่เราเป็นห่วง คือ การดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี จะไปสอดรับกับเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่า หากให้อยู่ยาวเกิน 8 ปีจะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและจะก่อวิกฤตทางการเมือง ไม่อยากให้เกิดอย่างนั้น หากยุบสภาตอนนี้เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจรักษาการได้ แต่กฎหมายเลือกตั้งยังไม่ออก หลายคนบอกว่าให้ไปใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็มีกระแสที่ไม่เห็นด้วย การออก พ.ร.ก.มาใช้ในการเลือกตั้ง ไม่ได้ใช้บังคับเช่นเดียวกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กฎหมายเลือกตั้งเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กลับให้ใช้เหมือน พ.ร.บ.

“โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ต่ออีก 2 ปี ตามที่ พล.อ.ประวิตร พูดนั้น ในเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนี้สูงมาก ตามที่สร้างกระแสมา แต่ดูเหมือนจะออกกลางๆ คาดว่า จะลดความกดดันของภาคประชาชนได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มี 3 แนวทาง ที่วิเคราะห์กัน คือ 1. ออกด้วยอำนาจใจของ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบเคารพหลักนิติธรรมประกาศว่าหมดวาระ 2. อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และ 3. อำนาจประชาชนขับไล่ หากเป็นผม จะเลือกทางเลือกที่ 1 เพราะเท่ และเป็นรัฐบุรุษได้เลย ไปเป็นตำแหน่งอะไรที่อยู่ในประเทศก็ได้ คนก็เคารพยกย่อง” นพ.ชลน่าน กล่าว

แน่นอนว่า คำพูดดังกล่าวของ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีเจตนาเพื่อดักคอ รวมไปถึงกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการพิจารณาวินิจฉัยการดำรงวาระตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่า ประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย จะส่งรายชื่อของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคมนี้ ยื่นให้ศาลได้พิจารณา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นอาการหวาดผวาของพรรคเพื่อไทย ที่กลัวการ “ยุบสภา” มากจนขึ้นสมอง เพราะการยุบสภาเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็น “นายกฯ รักษาการ” ในช่วงการเลือกตั้ง อีกทั้งการยุบสภา ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน และที่สำคัญ ผู้สมัครต้องสังกัดพรรคใหม่ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้มีการ “ดูด” หรือ “ย้ายพรรค” กันได้สะดวก ไม่ต้องถูกขังคุกในพรรคการเมือง

ขณะที่อีกทางหนึ่ง หากอยู่ครบวาระ 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566 การเลือกตั้งต้องมีขึ้นภายใน 45 วัน แต่ต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งอย่างหลังนี่แหละ ที่ทำให้บรรดา ส.ส.เคลื่อนไหวลำบาก เพราะหากย้ายพรรคก็ต้องลาออกจาก ส.ส.ก่อน ซึ่งมันไม่ชัวร์ มีความเสี่ยงต่อการนับเวลาสังกัดพรรค

ขณะเดียวกัน หากโฟกัสมาที่พรรคเพื่อไทย ว่า ทำไมถึงได้หวั่นไหวกับการยุบสภา ทั้งที่หากมั่นใจว่ากระแสดี ก็น่าจะเดินหน้ากดดันเร่งวัน เร่งคืน ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว แต่กลายเป็นว่า เอาเข้าจริงพวกเขากลับออกอาการผวามากกว่าใคร ก็เพราะกลัว “ไหลออก” ก่อนกำหนด โดยเฉพาะในกลุ่ม “บ้านใหญ่” ยกจังหวัด ทั้งภาคอีสาน และภาคเหนือ แม้ว่าที่ผ่านมา ได้มีการชิงประกาศรายชื่อผู้สมัคร และเปิดตัวกันไปกันเป็นรายภาค เกือบครบกันไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดก็ตามยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จาก “พลังดูด” และเงื่อนไขการร่วมรัฐบาล และเงื่อนไข “กวาดยกจังหวัดหนึ่งรัฐมนตรี” มันเย้ายวน

หากพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ แล้วมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่า เริ่มกลายเป็น “สองขั้ว” อย่างชัดเจน ขั้วแรกเป็น ขั้ว “พันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาล” ในปัจจุบัน ที่มีพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ (ในทีมบริหารปัจจุบัน) ชาติไทยพัฒนา บวกด้วยพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นต้น และมีกำลังหลัก คือ ส.ว.ที่ยังมีวาระเหลืออีกปีกว่า ก่อนครบกำหนดบทเฉพาะกาลห้าปี สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกครั้ง

ส่วนอีกขั้ว ก็มีพรรคเพื่อไทยยืนเป็นหลักอยู่ แม้ว่าระยะหลังจากพยายามแตะมือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ แต่ยังไม่ส่งสัญญาณชัดเจนมาถึงพรรคก้าวไกล ซึ่งการเมืองก็แบ่งเป็น “สองขั้ว” หลักๆ ประมาณนี้

แม้ว่าตามรูปการณ์และกระแสแล้ว พรรคเพื่อไทย น่าจะได้เปรียบ น่าจะชนะเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดก็ตาม แต่สำหรับเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” หรือกวาดเกิน 250 ที่นั่ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว น่าจะเป็นเส้นทางที่ยังห่างไกล เมื่อพิจารณาจากการ “รุกคืบ” อย่างมีนัยสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ในภาคอีสาน และภาคเหนือ

ดังนั้น หากพิจารณาจากคำพูดของแกนนำพรรคเพื่อไทย จะเห็นว่า มีอาการหวั่นไหวกับการ “ยุบสภา” มากที่สุด โดยเฉพาะสัญญาณการยุบที่มาจากสาเหตุร่างกฎหมายงบประมาณถูกคว่ำในสภา ที่เขาระบุว่า “มีเจตนา” ให้ไม่ผ่าน ซึ่งจะทำให้เกิดการ “รักษาการ” ช่วงเลือกตั้ง และเกิดการย้ายพรรคกันอย่างฝุ่นตลบ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อยุทธศาสตร์ “ครอบครัวเพื่อไทย” ที่อาจคอนโทรลไม่อยู่ ก็เป็นได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น