xs
xsm
sm
md
lg

“หมอทวีศิลป์” ศบค.แจงไทม์ไลน์ ต.ค.จ่อลดบทบาท ศบค.ปรับโควิดไปสู่เฝ้าระวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษก ศบค.แจงไทม์ไลน์ ต.ค.จ่อลดบทบาท ศบค. ปรับโควิดไปสู่เฝ้าระวัง เผย ยังไม่คุยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รอดูสถานการณ์เดือน ก.ย.ก่อน

วันนี้ (19 ส.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบาย แนวทางปฏิบัติและห้วงเวลาดำเนินการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะ Post-Pandemic เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และมีการนำเสนอในหลักการความคิดใน 2 เรื่อง คือ 1. การประเมินสถานการณ์ และ 2. ความเสี่ยงด้านการป้องกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1. ทั่วโลกยังมีการเพิ่มจำนวนของการติดเชื้อ โควิด-19 ภายหลังจากที่มีการระบาดโอมิครอน BA 4.5 ระบาดเนื่องจากการกลายพันธุ์ที่รวดเร็วแต่จำนวนผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ BA 1.2 และ เดลตา 2. ผลการสำรวจภูมิต้านทานในประชาชนไทยเมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค. 2565 พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ตรวจพบภูมิต้านทาน 3. ข้อมูลศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนใช้จริงในไทย พบว่า การฉีดสามเข็มขึ้นไปในทุกสูตรสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตสูงมากกว่า 90% และต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำ และ 4. คาดการณ์ว่า โควิด-19 จะมีลักษณะการเกิดโรคในประชากรจะคล้ายคลึงกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่อาจมีการระบาดในบางช่วงเวลา โดยการป่วยที่รุนแรงเสียชีวิตส่วนใหญ่ จะเกิดกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคร่วมที่รับวัคซีนไม่ครบ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า 2. ด้านการรักษาการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง จากการประเมินอาการผู้ป่วยมีแนวโน้มไม่รุนแรงยกเว้นในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรงการใช้ยาต้านไวรัสควรใช้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงการจัดบริการด้านการรักษาพยาบาลพิจารณาอาการผู้ป่วยถ้าไม่มีอาการให้แยกกากที่บ้านถ้ามีอาการอื่นๆ จากโรคประจำตัว หรือระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รับไว้ที่โรงพยาบาล และระยะเวลาในการกักตัว ในกรณีที่ไม่มีอาการหรืออาการเพียงเล็กน้อยให้แยกกักหลังตรวจพบอย่างน้อย 5 วัน ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากนั้นให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดอย่างน้อยอีก 5 วัน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า โดยแนวทางปฏิบัติไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมจากแนวทางปฏิบัติยังคงจะใช้วิธีการที่ทำมาและยังมีความจำเป็นจะต้องใช้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ จัดทำแผน และสื่อสารสถานการณ์ให้ประชาชนได้รับทราบหากมีการระบาดผิดปกติกลับขึ้นมาอีก ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.รับทราบกรอบแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ตามห้วงเวลาโดยในเดือน ส.ค.ยังคงสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย ศบค. มีบทบาท เดือน ก.ย.คงสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดย ศบค.และคณะกรรมการโรคติดต่อชาติ มีบทบาท, เดือน ต.ค. ประกาศเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็น โดยบทบาทของ ศบค.จะลดลง เปลี่ยนมาให้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อชาติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ จะเข้ามามีบทบาทนำไปสู่การทำงาน, เดือน พ.ย.- ธ.ค. ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็น โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯมีบทบาท

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า แต่ในที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่าเราจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ เพราะจะต้องมีการประเมินกันต่อ เรายังมีเวลาขอรอดูสถานการณ์ จนถึงเดือน ก.ย.เพราะยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ต้องหาพูดคุย เพราะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปถึงเดือน ต.ค.อยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น