วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติรับรอง “โกเดค” เป็นเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยคนใหม่ สานต่อคำพูดมีงานต้องทำในไทย คือ เดินหน้าส่งเสริม ปชต.
วันนี้ (18 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบและรับรองการเสนอชื่อ นายโรเบิร์ต (บ็อบ) เอฟ โกเดค เป็นว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย คนใหม่ ตามที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เป็นผู้เสนอชื่อ โดยจะมีพิธีสาบานตน และเดินทางไปประเทศไทยเพื่อรับหน้าที่อย่างเป็นทางการ
โดยประวัติของทาง นายโกเดค จบการศึกษาขั้นสูงสุดในระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเริ่มการทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อปี 2528 เคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานประเทศไทยและเมียนมา ภายใต้สำนักกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเคยเป็นผู้อำนวยการกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ รวมทั้ง รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการแอฟริกา เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศเคนยา และ ตูนิเซีย และที่ปรึกษาด้านกิจการต่างประเทศที่วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ (National War College)
ขณะเดียวกัน นายโกเดค ได้เคยกล่าวถึงแนวทางการทำงาน ว่า จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งความเป็นหุ้นส่วนและความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และไทย เพื่อรักษาความมั่นคงของทั้งสองประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทย คือ พันธมิตรหลักนอกนาโต ที่มีความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง และยืนยันที่จะขยายความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงถึงปีละ 60,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และความสำคัญของประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกนอกจากนั้น ยังมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการส่งถ่ายการเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่สหรัฐฯ จะรับช่วงต่อในปีหน้า
ทั้งนี้ นายโกเดค ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าแม้รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การยอมรับรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2562 หลังจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 “แต่ยังมีงานที่ต้องทำโดยประเทศไทย หากได้รับความเห็นชอบ (จากสภา) ผมจะเดินหน้าความพยายามในการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสนับสนุนภาคประชาสังคม สื่อมวลชนที่เป็นอิสระ และผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในภารกิจนี้”