ผู้บริหาร กทม. สั่ง 50 เขต เร่งสำรวจที่ดิน “โซนสีแดง” เฉพาะแปลงเกษตรกรรม รับลูก “ร่างข้อบัญญัติ กทม.” กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ จ่อคิดอัตราภาษีเพิ่มในอนาคต แก้เผ็ดเศรษฐีที่ดิน “หัวหมอ” จดแจ้งรวมประเภทพาณิชยกรรม “โซนสีแดง” แต่ไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรรมตามความเป็นจริง ต้องชำระภาษีให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง พ่วงเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในอนาคต
วันนี้ (17 ส.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายเลขานุการที่ประชุมคณะผู้บริหาร กทม. มีหนังสือด่วนที่สุด มอบหมายให้ สำนักการคลัง จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดเก็บภาษี
โดยเฉพาะ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (โซนสีแดง) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม (โซนสีม่วง) และ ที่ดินประเภทคลังสินค้า (โซนสีเม็ดมะปราง) หากในอนาคต จะมีการคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น
ล่าสุด ฝ่ายจัดเก็บรายได้ 50 สำนักงานเขต เตรียมเข้าสำรวจแปลงที่ดิน ที่ใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมทั้งหมด ทั่ว กทม. ตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือตามโซนของกฎหมาย ว่าด้วยการผังเมือง
ประกอบด้วย ที่ดิน 4 ประเภท โซนสีแดง โซนสีม่วง โซนสีเม็ดมะปราง รวมไปถึงที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (โซนสีน้ำตาล)
สำหรับ การสำรวจแปลงที่ดินที่ใช้ประโยชน์เกษตรกรรม ดังกล่าว เนื่องจากสำนักคลัง ได้ “ยกร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...” ตามนโยบายคณะผู้บริหาร กทม.
“กทม.มีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้าง ที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ในอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน”
โดย ร่างข้อบัญญัติ กทม. ฉบับนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาพิจารณาในรายละเอียด ที่สำนักการคลัง จะเข้าสำรวจโซนสีแดง เฉพาะแปลงที่ดินที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีการทำเกษตรกรรมจริงๆ จำนวนเท่าใด
“เพราะเจตนารมณ์ของการยกร่างฯ เพื่อให้เจ้าของที่ดินในพื้นที่ที่มีมูลค่าสูง และไม่ได้ประกอบการอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง รวมถึงเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีอื่นๆ เพิ่มเติม เป็นประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนสูงสุด”
ทั้งนี้ การสำรวจแปลงที่ดินในการจัดเก็บภาษีในอนาคต จะดำเนินการตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือ ตามโชนของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง โดยกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ข้อ 7 วรรคสอง จำแนกที่ดินเป็น 10 ประเภท ดังนี้
(1) โซนสีเหลือง ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (2) โซนสีสัม ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (3) โซนสีนํ้าตาล ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (4) โซนสีแดง ประเภทพาณิชยกรรม (5) โซนสีม่วง ประเภทอุตสาหกรรม (6) โซนสีเม็ดมะปราง ประเภทคลังสินค้า
(7) โซนสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (8) โซนสีเขียว ประเภทชนบทและเกษตรกรรม (9) โซนสีน้ำตาลอ่อน ประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และ (10) โซนสีน้ำเงิน ประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
ขณะที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 37 ให้จัดเก็บภาษีตามอัตราที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มี อัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน ร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี ฯลฯ
อัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บตามวรรคหนึ่ง ที่ได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดเป็นอัตราเดียวหรือหลายอัตราแยกตามมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราภาษีที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง และจะกำหนดแยกตามประเภทการใช้ ประโยชน์หรือตามเงื่อนไขในแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์ก็ได้