xs
xsm
sm
md
lg

จับสัญญาณ พปชร.แพแตก กทม.รอชิ่ง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วทันยา บุนนาค
เมืองไทย 360 องศา

การประกาศลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ของ “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา บุนนาค เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา แม้ว่าในข้อความที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก จะอธิบายเหตุผลมากมาย แต่พอจับความสำคัญ ว่า จากการประชุมสภา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์ “สภาล่ม” หรือการทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องตกไป เนื่องจากเกินกำหนด 180 วัน ต้องกลับไปใช้ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอผ่านคณะรัฐมนตรี และทำให้พลิกกลับมาใช้สูตรหาร 100 ดังที่ทราบกันแล้ว


โดยเหตุผลของเธอระบุตอนหนึ่งว่า “นับตั้งแต่วันแรกของการเปิดประชุมรัฐสภา 22 พฤษภาคม 2562 จนกระทั่งวันนี้ 16 สิงหาคม 2565 ครบรอบการทำงานของสภา 3 ปีเต็ม เข้าสู่ปีสุดท้าย ตามวาระของรัฐบาล ตลอดช่วงระยะกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ภายใต้บริบทการเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ทางความคิดหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งบนถนนและในรัฐสภา ที่สุดท้ายแล้ว ทุกฝ่ายก็ต่างใช้เวทีรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตน ดังที่เกิดการนำเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าสู่กระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ การอภิปราย วิพากษ์การทำงานของรัฐบาล ทั้งในยามสถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์ปกติผ่านการทำงานของ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเกิดข้อพิพาท ถกเถียงอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ดำรงเห็นได้ชัดเจน คือ “การใช้เวทีรัฐสภาเป็นเครื่องมือและที่พึ่งให้แก่ประชาชน”

สิ่งที่น่าเศร้าใจ ก็คือ เหตุการณ์การประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา เมื่อวานนี้ ที่ปรากฏให้เห็นชัดว่า การทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนของ ส.ส. ที่ถือเป็นหลักพึงกระทำพื้นฐานในฐานะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ เดียร์เคารพในสิทธิการตัดสินใจของ ส.ส. ทุกท่าน ไม่ว่าจะหาร 100 หรือ 500 การเห็นต่างย่อมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในครรลองระบอบประชาธิปไตย และนั่นก็นับเป็นข้อดีของระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอความคิดเพื่อร่วมกันหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศ แต่ไม่ว่าจะมีความเห็นอย่างไร เดียร์ยังคงยึดมั่นในหลักการทำหน้าที่บนความถูกต้อง โดยการใช้สภาเป็นทางออกเพื่อให้ได้ข้อยุติของปัญหา

ในส่วนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ ที่ทำให้ประชาชนเกิดข้อกังขา ว่า รัฐสภายังคงเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้อยู่หรือไม่ ? ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจปฏิเสธถึงข้อกังขาศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐสภา ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นฝ่ายไหนหรือสังกัดพรรคใด เมื่อสภาไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนที่ฝากความหวังให้ ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว ผู้แทนประชาชนก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ”

แม้ว่าในการลาออกดังกล่าวจะพยายามรักษาน้ำใจกันให้มากที่สุด ด้วยการแสดงความเคารพ หัวหน้าพรรค คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมทั้งผู้บริหารพรรคคนอื่นก็ตาม แต่สุดท้าย ก็คือ ลาออก จากเหตุการณ์อัปยศในสภาจากกรณีดังกล่าวนั่นแหละ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจาก “แบ็กกราวนด์” ของ น.ส.วทันยา ได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เป็น “ตัวเอง” ในแบบ “กึ่งอิสระ” บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการลงมติสวนมติพรรคในกรณีการโหวตไม่ไว้วางใจ หรืองดออกเสียงกับรัฐมนตรีคนสำคัญจากพรรคภูมิใจไทย เช่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มาตลอด โดยครั้งล่าสุดเมื่อมีญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เธอก็เป็นหนึ่งที่งดออกเสียงกับ นายศักดิ์สยาม

และแม้ว่า จะเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่สำหรับ น.ส.วทันยา บุนนาค ถือว่า เป็น ส.ส.ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ “อ่อนไหว” ทางการเมืองมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง และจะว่าไปแล้วสำหรับ น.ส.วทันยา ก็เคยรายงานข่าวคาดหมายกันว่า เป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่มีโอกาสย้ายพรรคสูงมากคนหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ดังนั้น พิจารณากันในทางการเมืองแล้ว ถือว่า การประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐในช่วงเวลานี้ถือว่า “ได้จังหวะ” เหมาะพอดี

ขณะเดียวกัน ภาพรวมในเวลานี้สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าเป็นช่วง “ขาลง” เมื่อเทียบกับช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และแม้ว่าจะเป็นพรรคการเมืองเกิดใหม่ แต่กระแสสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังแรง ทำให้พรรคชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร โดยกวาดส.ส.ไปถึง 12 เขต ครองแชมป์สนามกรุงเทพฯ แต่เมื่อเกิดสภาพความแตกแยกขัดแย้งภายในมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความ “อึมครึม” ระหว่าง “สอง ป.” คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ทำให้เชื่อกันว่า การเลือกตั้งคราวหน้า พรรคพลังประชารัฐ อาจมีสิทธิ์ “สูญพันธุ์” ก็เป็นไปได้สูง เมื่อพิจารณาจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา

อย่างที่ทราบกันดีว่า สนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ที่มี “ความอ่อนไหว” ทางการเมืองสูง และที่ผ่านมา มักจะขึ้นอยู่กับ “กระแส” เป็นหลัก เหมือนกับคราวที่แล้วที่มี “กระแสลุงตู่” แต่เมื่อสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เห็นการเคลื่อนไหวบางอย่าง โดยเฉพาะการ “ย้ายพรรค” ที่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นชัดเจนในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ที่น่าจับตาก็คือ “กลุ่มดาวฤกษ์” ภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ก่อนหน้านี้ เป็นการรวมกลุ่มกันในกลุ่ม ส.ส.กรุงเทพมหานคร จำนวนราว 6 คน และ น.ส.วทันยา บุนนาค ก็เคยอยู่ในกลุ่มดังกล่าวด้วย แม้ว่าระยะหลังจะไม่ได้เห็นการเคลื่อนไหวแล้วก็ตาม แต่เมื่อกระแส “ขาลง” แบบนี้ มันก็มีโอกาสแยกย้ายเป็นไปได้สูงยิ่ง

สำหรับความเป็นไปได้หากมีการย้ายพรรคเกิดขึ้นในสนามเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ที่ต้องจับตาก็คือ “รวมไทยสร้างชาติ” ภายใต้การนำของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เชื่อว่าจะชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือพรรคสร้างอนาคตไทย ของกลุ่ม “สี่กุมาร” เดิม นำโดย นายอุตตม สาวนายน และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเริ่มต้น

ดังนั้น หากพิจารณากันตามสถานการณ์แล้ว ในเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่กำลังจะได้เห็นการเคลื่อนไหว “ย้ายพรรค” ชัดเจนมากขึ้น เพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอีกไม่นานข้างหน้า ขณะเดียวกัน สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ให้จับตาพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ดีว่าจะรายการ “ชิ่งหนี” ตามมาอีกหลายคน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น