รองโฆษกรัฐบาล เผย ผลสำรวจระบุประชาชนเดือดร้อนมากสุด จากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รองลงมาเป็นรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่วนมาตรการกระตุ้น ศก.ที่มีประโยชน์มากที่สุดคือโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
วันนี้ (16 ส.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดเก็บข้อมูลจากผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2565 ซึ่ง 5 อันดับแรกของปัญหาความเดือดร้อนคือ ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 42.7 , รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ร้อยละ 26.8, ว่างงาน/ตกงาน ร้อยละ 23.9, สินค้าราคาแพง ร้อยละ 23.3 และค่าครองชีพสูง ร้อยละ 15.8
สำหรับผลสำรวจด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อคนในหมู่บ้านมากที่สุด คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 97.6 รองลงมาเป็น โครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 96.5 ,โครงการม.33 เรารักกัน ร้อยละ 74.8, โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 38.3 ,โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ร้อยละ 31.1, ทัวร์เที่ยวไทย ร้อยละ 31 และช้อปดีมีคืน ร้อยละ 30.1 ส่วนผลสำรวจแนวทางและมาตรการป้องกันให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ฉีดวัคซีนเข็มแรก ร้อยละ 81.4, ปฏิบัติตัวตามมาตรการของสาธารณสุข ร้อยละ 80.3, ขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางหากไม่จำเป็น ร้อยละ 61.7, ปิดสถานบริการ/ร้านค้าที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร้อยละ 40 และแจก ATK ให้ทุกครัวเรือน ร้อยละ 38
ขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายที่สำคัญ เช่น ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้, ควรมีการสนับสนุนวิธีการแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร เช่น การทำฝนเทียม ขุดลอกหนอง บึง สระเก็บน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำ, ควรส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ให้รู้ถึงวิธีการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่า, ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย และควรมีการติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนในระดับพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่