xs
xsm
sm
md
lg

กม.ล้วนๆ ไม่มีโกรธ-เกลียด! “ส.ว.เสรี” ชี้ 8 ปี “ลุงตู่” นับ “9 มิ.ย.62” “วิษณุ” แจงเหตุ “บันทึก กรธ.” น้ำหนักน้อย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ “ส.ว.เสรี” ชี้ 8 ปี “ลุงตู่” นับ “9 มิ.ย.62” ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากสยามรัฐออนไลน์
“ส.ว.เสรี” เคลียร์ปม 8 ปี “ลุงตู่” ยึดข้อกฎหมายล้วนๆ ไม่มีโกรธ-เกลียด นับเวลาตาม รธน. มาตรา 170 และมาตรา 158 เริ่ม 9 มิ.ย. 62 “วิษณุ” แจง “บันทึก กมธ.” ทำทีหลัง น้ำหนักน้อย “กูรู” แนะเลือกผู้นำดูขัดแย้งโลก

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 ส.ค. 65) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เสรี สุวรรณภานนท์ ระบุว่า

“การนับระยะเวลา 8 ปี ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วิธีการนับระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ใน รธน. ปี 2560 ชัดเจน เป็นการเฉพาะไว้แล้ว ดังที่ได้บัญญัติไว้ใน รธน. ปี 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ด้วย”

ซึ่งตาม รธน.ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ดังนั้น การนับระยะเวลา 8 ปี ของการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ตามที่พูดถึงกันจึงต้องนับระยะเวลา ตาม รธน. ปี 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ดังกล่าว ไม่ใช่ไปนับเวลาตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) หรือฉบับอื่นๆ เพราะ รธน.ปี 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ได้บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของ รธน. ปี 2560 เป็นการเฉพาะไว้แล้ว

ส่วนบทเฉพาะกาล ตาม รธน. ปี 2560 มาตรา 264 เป็นเรื่องของการให้คณะรัฐมนตรีตาม รธน.(ฉบับชั่วคราว) 2557 ทำหน้าที่ต่อไปเป็นคณะรัฐมนตรี ตาม รธน. ปี 2560 ไม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ของนายกรัฐมนตรี เพราะการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีได้มีบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะใน รธน. ปี 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 158 วรรคสี่ไว้ชัดเจนแล้วเช่นกัน

ส่วนความเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านที่เสนอความเห็นไว้อย่างไร ก็จะขัดกับ รธน.ปี 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ไม่ได้

ความเห็นข้างต้น เป็นความเห็นในข้อกฎหมายล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับความชอบ โกรธ เกลียด หรือฝ่ายใด ซึ่งไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องนับระยะเวลา 8 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 และมาตรา 158 บัญญัติไว้เช่นนี้

ดังนั้น ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงต้องนับ 8 ปีนับแต่วันประกาศแต่งตั้งตาม รธน.ปี 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป”

ภาพ นายวิษณุ เครืองาม จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 มีน้ำหนักบ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากบันทึกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ปกติจะเป็นบันทึก ขณะกำลังร่างสดๆ ร้อนๆ แต่กรณีนี้เราต้องไปดูการประชุมครั้งที่ 500 นั้น เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้วปี 2560 แล้วค่อยมานั่งประชุมกัน เพื่อทำตำราขึ้นมา 1 เล่ม นั่นคือ บันทึกการประชุม

ฉะนั้น น้ำหนักจึงมีบ้างแต่ก็น้อย เพราะผู้ที่พูดเป็นผู้ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีจุดอ่อนที่คนอื่นๆ 10-20 คน ไม่ได้พูดอะไร และก็ไม่ได้เป็นมติ และต่อมามีการทำเป็นหนังสือ ซึ่งเป็นการทำหลังเหตุการณ์ แต่ถ้าทำระหว่างประชุมมันจะมีน้ำหนัก เพราะนี่คือเจตนารมณ์

“นี่ผ่านไปแล้ว 1 ปี ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว แล้วค่อยมาทำ และไอ้ที่พูดๆ กันในประชุมครั้งที่ 500 เขาทำรูปเล่มออกมา 1 เล่ม เรียงมาตรา และแต่ละมาตราก็จะบอกเจตนารมณ์ มันไม่มีข้อความที่พูดอยู่ในมาตรา 158 เลย ก็แปลว่า มีการพูดกัน แต่พอเขียนไม่ได้เขียน ส่วนที่ผู้เอาความเห็นไปอ้างอิง ผมไม่รู้ ตอบไม่ได้” นายวิษณุ ระบุ

เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความตามบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ก็ปล่อยให้ศาลเป็นคนตี แต่เขาไม่ตีตามหนังสืออยู่แล้ว เขาใช้ตามหลัก

ภาพ นายนันทิวัฒน์ สามารถ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากสยามรัฐออนไลน์
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ระบุว่า

“ไทยต้องการผู้นำแบบไหน

วันนี้จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งแบบผสมผสาน. จะหารด้วย 100 หรือ หารด้วย 500 ผลจะออกมายังไง. รู้กันอยู่ในใจแล้วว่า ส.ส.นักการเมืองอยากได้แบบไหน อยากจะแลนด์สไลด์ยังไง

อีกเรื่องหนึ่งคือ การนับอายุงาน 8 ปี หรือสองสมัยในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของลุงตู่. เมืองไทยนักกฎหมายเยอะ ตีความรัฐธรรมนูญกันไปคนละทางสองทาง แต่ช่างเถอะ. สุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ว่า จะนับอายุ 8 ปียังไง

แต่อยากจะบอกคนไทยให้รู้ไว้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ อย่าใช้อารมณ์ ความรู้สึกในการเลือกนักการเมืองหรือพรรคหนึ่งพรรคใด ให้ดูด้วยว่า พรรคนั้นๆ เสนอชื่อใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี

เพราะ พ.ศ.หน้า การเมืองระหว่างประเทศจะเข้มข้นมาก ความขัดแย้งและสงครามระหว่างค่ายตะวันตกและตะวันออก กำลังจ่อเข้ามาใกล้. ไทยจะเลือกเป็นกลางได้หรือไม่ หรือจะถูกกดดันให้เลือกข้าง. ไทยจะเลือกข้างฝ่ายไหนถึงจะส่งเสริมเสถียรภาพ ความมั่นคงและประโยชน์ให้ไทย

นั่นคือ. ไทยต้องการผู้นำที่มีประสบการณ์ตัดสินใจบนผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ ไม่ใช่เอาตัวตลก หรือคนขายชาติ หรือลองของใหม่ มาเป็นผู้นำภายใต้วิกฤตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ”

แน่นอน, เรื่องที่ดูเหมือนเกี่ยวโยงกันอยู่ในเวลานี้ หนีไม่พ้น กรณีสภาล่ม เพื่อล้มสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 500 หาร ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กได้ ส.ส.เข้าสภา แต่พรรคใหญ่อาจไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เลย อย่าง เพื่อไทย เมื่อปี 62 ทำให้พรรคเพื่อไทย และพรรคใหญ่ ต้องการให้กลับมา 100 หาร เพื่อที่ตัวเองจะได้เปรียบ และอาศัย “เกม” นับองค์ประชุม (โดยตัวเองหนีองค์ประชุม) เพื่อให้เกิดสภาล่ม และพิจารณาเรื่องนี้ไม่ทัน 180 วัน จึงเป็นอันว่าตกไป และมีความเป็นไปได้ว่า จะกลับไปใช้สูตร 100 หาร

นัยว่า เรื่องนี้อาจมี “เกม” ต่อรองตำแหน่งนายกฯ หลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่า อาจถูกตัดสินครบ 8 ปี และไม่ได้ไปต่อ จริงหรือไม่ ถือว่า เป็นเพียงข่าวลือ และเป็นเรื่องที่น่าคิด เมื่อมีการผูกโยงให้เห็นว่า การเลือกนายกฯหลังจากนี้มีความจำเป็นต้องอาศัยเสียง ส.ส.ฝ่ายค้าน อย่าง เพื่อไทย

จากนั้น สำหรับเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็จะ “สมประโยชน์” ในการชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์”

นี่คือ สิ่งที่ถูกนำมาเชื่อมโยง ผ่านเกมการเมือง จริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ถึงกระนั้น คนไทยจะเป็นผู้ตัดสิน


กำลังโหลดความคิดเห็น