xs
xsm
sm
md
lg

นายเนียนมาก! อดีตประธาน กสม.ชี้แผนล้มสูตรหาร 500 สภาองค์ประชุมครบ แต่ถึงตอนลงมติกลับไม่ครบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวัส ติงสมิตร (แฟ้มภาพ)
“วัส ติงสมิตร” อดีตประธาน กสม.โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ “นายเนียนมาก” สภาองค์ประชุมครบ ก่อนลงมติร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง แต่ตอนลงมติองค์ประชุมกลับไม่ครบ ล้มสูตรหาร 100 สำเร็จ

วันนี้ (10 ส.ค.) จากกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ในวาระสาม ซึ่งเกิดเหตุสภาล่ม ไม่สามารถโหวตผ่านมาตรา 24/1 ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยใช้ 500 หาร และต้องกลับไปใช้ตามร่างเดิมที่ใช้ 100 หาร นายวัส ติงสมิตร อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก วัส ติงสมิตร เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีรายละเอียดระบุว่า

ในที่สุด สภาก็ล่มขณะลงมติร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.

1) หลังจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม ในวาระสาม ในตอนสายของวันพุธที่ 10 สิงหาคม 2565 ในขณะที่มีสมาชิกอยู่ในที่ประชุม 456 คน

2) หลังจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาวาระถัดมาคือ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. โดยเริ่มที่มาตรา 24/1 เรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 เมื่ออภิปรายเสร็จ ก่อนลงมติ มี ส.ส.ฝ่ายค้านขอให้นับองค์ประชุมด้วยวิธีขานชื่อ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง มีผู้แสดงตน 403 คน ถือว่าครบองค์ประชุม (ซึ่งต้องการเพียง 364 คน) แต่เมื่อมีการลงมติ ปรากฏว่า มีผู้ลงมติเพียง 342 คน องค์ประชุมขาดไป 22 คน ประธานสภาจึงสั่งปิดประชุม

3) ผลก็คือ เมื่อรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 รัฐธรรมนูญถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างของคณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอแนะของ กกต. ซึ่งใช้สูตรหาร 100 (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132(1) ประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101)

4) รัฐสภาต้องส่งร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. สูตรหาร 100 ภายใน 15 วัน ไปให้ กกต. เพื่อให้ความเห็น (ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 ตอนท้าย)

5) กกต.มีเวลา 10 วัน ที่จะทักท้วงไปว่า ร่างกฎหมายนี้มีข้อความใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบมบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 132(2) และ (3)) ซึ่งก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ กกต. จะทักท้วง เพราะตรงตามร่างกฎหมายของ กกต. ทุกประการ

6) หลังจากดำเนินการเสร็จ รัฐสภาจะส่งร่างไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณานำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ในระหว่างนี้ ส.ส. ส.ว.และนายกรัฐมนตรีมีสิทธิส่งร่างกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ได้

7) การประชุมวาระร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ในวันนี้ สภามีองค์ประชุมครบขณะประชุม และก่อนลงมติ มีการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อองค์ประชุมก็ยังครบ แต่ตอนลงมติ องค์ประชุมกลับไม่ครบ จึงสรุปได้ว่านายเนียนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น