xs
xsm
sm
md
lg

บังคับใช้ 22 ปี กม.ถอดถอนคนท้องถิ่น พบ "นายกเทศมนตรี-นายกอบต."เข้ากระบวนการ 15 คน ถูกถอดจริงแค่ 4 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย เตรียมเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่น ประเมินกฎหมายลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภา/ผู้บริหารท้องถิ่น หลังบังคับใช้มากว่า 22 ปี พบมีการลงคะแนนถอดถอน "นายกเทศมนตรี" 4 ครั้ง นายก อบต. 11 ครั้ง แต่สามารถถอดถอน ได้สำเร็จเพียง 4 ครั้ง แถมติดเงื่อนไขจำนวนผู้เข้าชื่อยื่นคำร้อง สิทธิการเข้าชื่อทำให้ยากที่จะถอดถอน ทำประชาชนขาดความเชื่อถือ

วันนี้ (10 ส.ค.2565) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เวียนประกาศถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ ต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542

โดยจะดำเนินการในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ระหว่าง 10 ส.ค.-31 ส.ค. 2565 ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย พ.ศ.2562

"พบว่า จากสถิติหลังการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มากว่า 22 ปี มีการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนนายกเทศมนตรี จำนวน 4 ครั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 11 ครั้ง และมีการลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่งได้สำเร็จ จำนวน 4 ครั้ง"

ตามประกาศฉบับนี้ สถ. ระบุถึงปัญหาอุปสรรคในประเด็น การกำหนดให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อยื่นคำร้อง ตามเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอปท. ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในเขตพื้นที่อปท. ซึ่งพบว่า อปท.ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ก็ต้องใช้จำนวนรายชื่อที่สูงตามขึ้นไปด้วย

ยังพบว่า กรณีของเงื่อนไขให้มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียง "เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง" ทั้งหมดในอปท. และให้มีคะแนนเสียง "จำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ที่มาลงคะแนนเสียง ที่เห็นว่า ควรถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้อปท.ยากที่จะถอดถอน

รวมถึง กฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้เฉพาะ ในกระบวนการลงคะแนนเสียงถอดถอน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.)เท่านั้น ไม่มีบทกำหนดโทษ "ในกระบวนการเข้าชื่อ" ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในกระบวนการถอดถอน

สำหรับกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้สิทธิประชาชนเข้าชื่อยื่นคำร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอลงคะแนนเสียงถอดถอนฯ เพราะเหตุที่ไม่สมควรดำรงตำแหน่งอีกต่อไปตามเกณฑ์ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท. ดังนี้

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 1000,000 คน ต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท.นั้น ,ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 100,000 คน แต่ไม่เกิน 400,000 คน ต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คน ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท.นั้น

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่า 400,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 24,000 คน ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอปท.นั้น และผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่า 1,000,000 คน ต้องมีผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 30,000 คน ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท.นั้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น