xs
xsm
sm
md
lg

มท.ชี้ช่อง “ทน.แหลมฉบัง” เก็บภาษีที่ดินฯ “กทท.” โปรเจกต์ 2 หมื่นล้าน “ถมทะเล” ผุดท่าเรือ ชี้ที่ดินถมทะเลเป็นสาธารณสมบัติชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย ชี้ช่อง “ทน.แหลมฉบัง” มีอำนาจจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จาก “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” ใน 8 ประเด็น เฉพาะโปรเจกต์ 2 หมื่นล้าน ถมทะเลสร้างท่าเทียบเรือ คณะวินิจฉัยฯ ยกข้อกฎหมาย ย้ำ อธิปไตยบนพื้นที่ทะเลเป็นของชาติ ที่ดินที่ถมทะเล จึงถือเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ยัน “กทท.” ในฐานะผู้ครอบครอง ต้องชำระค่าธรรมเนียม พ่วงกรณีสิ่งปลูกสร้างล่วงลํ้าลำนํ้า

วันนี้ (9 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือตอบผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในกำกับ เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา มีหนังสือ ขอหารือกับ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กรณีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จาก “การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)” ในส่วนของ ทน.แหลมฉบัง อ.ศรีราชา ใน 8 ประเด็น

พบว่า 2 ใน 8 ประเด็น คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ไม่เห็นด้วยกับคำปรึกษาหรือคำแนะนำของคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำจังหวัดชลบุรี

ในประเด็น “การถมทะเลเพื่อทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือ” และ “ประเด็นการชำระค่าธรรมเนียมสิ่งปลูกสร้างล่วงลํ้าลำนํ้า และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการชำระภาษี ซํ้าซ้อน ตามมาตรา 16 (1) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ”

กรณีการถมทะเลเพื่อทำการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งมิใช่ผืนดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะถือเป็นที่ดินที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือไม่

หากต้องเสียภาษีจะเป็นที่ดินประเภทใด ราคาประเมินเท่าใด หรือถือเป็นทรัพย์สินประเภทสิ่งปลูกสร้าง ที่ต้องคิดราคาค่าเสื่อมหรือไม่ และหากที่ดินที่ถมทะเลถือเป็นสิ่งปลูกสร้าง จะสามารถคิดราคาสิ่งปลูกสร้างซ้อนกับสิ่งปลูกสร้างได้หรือไม่

คณะกรรมการวินิจฉัยฯ เห็นว่า มาตรา 5 และมาตรา 7 กำหนดให้ อปท.มีอำนาจจัดเก็บภาษี ให้หมายความรวมถึงพื้นที่ ที่เป็นภูเขา หรือที่มีนํ้า ด้วย

ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยให้ความเห็นกรณีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับท่าเทียบเรือที่การท่าเรือฯ ให้เอกชนเช่า ไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือใต้นํ้าก็ตาม

แม้พื้นผิวโลกอันเป็นที่ดินใต้ทะเล ที่ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยย่อมถือว่า เป็นที่ดินตามกฎหมายดังกล่าวด้วย เมื่อทะเลในอาณาเขตของประเทศไทย เป็นที่ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์ ร่วมกันในการคมนาคมและการประมง จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน

การที่มีผู้ใดถมพื้นที่ดินในทะเลขึ้นโดยพลการ หรือได้รับอนุญาตตามมาตรา117 หรือมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านนํ้าไทย พ.ศ. 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2535 อันเป็นการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ไนทะเลเพื่อเอกชนบางคน

ย่อมไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฐานะทางกฎหมายของทะเลถมแต่อย่างใด ทะเลที่ถูกถมยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมือง ใช้ร่วมกันจนกว่าจะมีการถอนสภาพ ตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

“ดังนั้น ที่ดินที่ถมทะเล จึงถือเป็นที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อการท่าเรือฯ เข้าครอบครองหรือทำประโยชน์ ในที่ดินดังกล่าว “การท่าเรือฯในฐานะผู้ครอบครอง” จึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามมาตรา 5 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ”

โดยการประเมินที่ดิน จะใช้ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินรายเขตปกครอง ที่กรมธนารักษ์ หรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ จัดส่งให้เป็นฐานในการประเมิน ตามมาตรา 35 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ

ประกอบข้อ 1 (2) ของกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการคำนวณมูลค่าที่ดินฯ ที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์

ส่วนประเด็นการท่าเรือฯ ได้ชำระค่าธรรมเนียมสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำนํ้า ให้กับเทศบาลนครแหลมฉบัง ถือเป็นการชำระภาษีซํ้าซ้อนหรือไม่

“เห็นว่า การชำระค่าธรรมเนียมสิ่งปลูกสร้างสร้างล่วงล้ำลำนํ้า เป็นไปตามมาตรา 117 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านนํ้าไทย พ.ศ. 2456 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดตามมาตรา 117 ต้องเสียค่าตอบแทน เป็นรายปี”

ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง และการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นไปตามมาตรา 5 และมาตรา 9 ซึ่งกำหนดให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี

ดังนั้น การชำระค่าธรรมเนียมสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมายต่างฉบับ ซึ่งไม่ถือเป็นการชำระภาษีที่ซํ้าซ้อนกัน

ส่วนประเด็นที่ มหาดไทย เห็นด้วยกับคำปรึกษา เช่น กรณีการท่าเรือฯ ที่ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษี ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494

“กรณีการท่าเรือฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่หารายได้ ทรัพย์สินของการท่าเรือฯ ที่ใช้ในกิจการของการท่าเรือฯ ไม่ถือเป็นทรัพย์สิน ที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามมาตรา 8 (1)”

แต่หากยังมิได้ใช้ในกิจการของการท่าเรือฯ และยังมิได้ใช้หาผลประโยชน์ ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี ตาม (2) ของกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้น จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ

นอกจากนั้น ยังมีทรัพย์สินที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ทรัพย์สินที่เป็นสวัสดิการของพนักงาน เช่น แฟลตที่อยู่อาศัยพนักงาน สนามกีฬาโรงยิม สถานที่ออกกำลังกาย อาคารสำนักงาน ห้องประชุม

หรือกรณีที่มีผู้บุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของการท่าเรือ ในฐานะเจ้าของที่ดิน จึงมีหน้าที่เสียภาษีในส่วนของที่ดิน เป็นต้น

มีรายงานว่า กทท.ได้ลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ปจำกัด (ประเทศจีน) วงเงิน 21,320 ล้านบาท

เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น วงเงิน 21,320 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ระยะเวลาสัญษ 4 ปี โดยมีการออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น