“ว่ากันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า “เจ้าพ่อ-ขาใหญ่” ทั้งหลายเตรียม “กระสุนดินดำ” ไว้เต็มพิกัด หวังขยับจากผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นมาสู่การเมืองระดับชาติอีกเพียบ
แถมคนเหล่านี้กลายเป็น “ดีหนึ่ง-ประเภทหนึ่ง” ของบรรดาพรรคการเมืองที่เต็มใจส่งลงสมัคร ส.ส.โดยไม่สนใจว่า คนเหล่านี้มีประวัติอย่างไร เงินทุนเลือกตั้งจะแปดเปื้อนสีเท่า-ดำขนาดไหนเสียด้วย…”
ช่วงนี้หลายพรรคการเมืองเริ่มขยับลงพื้นที่จัดอีเว้นท์หาเสียง เตรียมรับ “ฤดูเลือกตั้ง” ที่คาดจะมีขึ้นอย่างช้าช่วงต้นปี 2566 ที่จะถึงนี้
แต่ก่อนจะถึงฤดูเลือกตั้ง ก็ต้องผ่านฤดูกาล “ล่า” ตัวผู้สมัคร ส.ส.เสียก่อน โดยจะเห็นได้จากอีเว้นท์ของทุกพรรคการเมืองที่เริ่มเดินสายลงพื้นที่ ต่างมีคิวสำคัญในการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แทบทุกเวที
เหตุที่ต้องเร่งรีบควานหา และประกาศตัวผู้สมัครกันแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความพร้อมของพรรคการเมืองเท่านั้น ยังถือเป็นการตีตราจอง “ตัวดี-ตัวเด่น”กันไว้ล่วงหน้า
เพราะแม้ตลาด “นักเลือกตั้ง”จะใหญ่ มีคนสนใจเข้ามาทำงานทางการเมืองมากมาย แต่ในความเป็นจริง คนที่มี “ศักยภาพ”ที่จะได้ลุ้นเป็น “ผู้แทนฯ” นั้นมีไม่มาก
และก็เป็นธรรมดาที่พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคขนาดใหญ่ ก็ต้องคัดคนที่มีศักยภาพเพื่อหวังให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
ทว่าการคัดคนมาทำงานการเมือง พ.ศ.นี้ ก็ดูจะ “มักง่าย”ก้าวข้ามคุณสมบัติพื้นฐานของนักการเมือง ประเภทคนดี-มีคุณธรรม-ซื่อสัตย์สุจริต หรือพิมพ์นิยมประเภทเรียนสูง-จบนอก-ภาพลักษณ์ดี-มีประสบการณ์ ไปไกลแล้ว
กลับกลายเป็นว่า คัดคนที่จะเข้าสู่การเมือง หรือเป็นผู้สมัคร ส.ส. เน้นกันตรง “สเปก” ที่ต้อง “ฐานะดี” เป็นสำคัญ
คล้ายกับเมื่อไม่นานมานี้ที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า และประธานภาคใต้ พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นักการเมืองมากประสบการณ์ ดีกรีอดีต ส.ส.พัทลุงหลายสมัย และยังเคยเป็น รมว.วัฒนธรรม ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “มาปฏิวัติกันเถอะ”
สาระสำคัญพูดถึง “โอกาส” การเข้าสู่การเมือง ของ “คนจน” ที่ยากและริบหรี่แบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน โดยขมวดปมไว้ว่า “การเมืองก็เป็นเรื่องของคนรวย ไม่ใช่การเมืองของคนจนอีกต่อไป”
นิพิฏฐ์ พยายามสื่อให้คนไทยปฏิวัติความคิดกันใหม่ สนใจ “คุณค่าของคน” มากกว่าสนใจ “ความร่ำรวยของคน” พร้อมเรียกร้องให้เลือก “คนจน” เพื่อแสดงว่า คุณค่าของคนควรได้รับการยอมรับนับถือมากกว่าความร่ำรวย
ที่หยิบยกมา เพราะข้อความของ นิพิฏฐ์ ตอกย้ำให้เห็นว่า ทุกวันนี้ “คุณสมบัติ-ศักยภาพ” ของผู้สมัคร ส.ส.ที่แต่ละพรรคคัดสรร และที่เสนอตัวเข้ามา ต่างมีเกณฑ์ “ฐานะการเงิน” เป็นสำคัญ
แต่หากมองลึกไปอีกขั้น ต้องบอกว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ฐานะการเงิน-ฐานะทางสังคม ของคนที่จะเข้ามาทำงานการเมือง หรือเสนอตัวเป็นผู้แทนราษฎร
เพราะสิ่งที่ควรพิเคราะห์มากกว่านั้นคือ “ที่มาที่ไป” ของความร่ำรวย และความมีหน้ามีตาในสังคม ต่างหาก
ถ้า “รวยโดยสุจริต” มีที่มาที่ไปตรวจสอบได้ แล้วอยากมาทำการเมืองก็คงว่ากันไม่ได้ แต่หลังๆที่พบมัก “รวยแบบผิดปกติ” มีฐานะ-หน้าตาทางสังคม ขึ้นมาด้วยธุรกิจผิดกฎหมาย
ไม่แปลกที่ทุกเทศกาลเลือกตั้ง จะมีข่าวหนาหูว่า มีการระดม “ทุนสีเทา-เงินสีดำ” ประเภทที่ได้จากการค้ายาเสพติด บ่อนการพนัน หวยใต้ดิน ปล่อยเงินกู้ ค้าประเวณี น้ำมันเถื่อน สินค้าหนีภาษี มาทุ่มซื้อเสียงเพื่อจะมีตำแหน่งในสภาฯ เพื่อฟอกตัว และคุ้มครองธุรกิจผิดกฎหมายของตัวเอง
ทำให้ทุกวันนี้เราได้เห็น “มาเฟีย-เจ้าพ่อ-ผู้มีอิทธิพล” กลายร่างเป็น “ผู้ทรงเกียรติ”ในสภาฯดาดดื่น
ว่ากันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า “เจ้าพ่อ-ขาใหญ่” ทั้งหลายเตรียม “กระสุนดินดำ”ไว้เต็มพิกัด หวังขยับจากผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นมาสู่การเมืองระดับชาติอีกเพียบ
แถมคนเหล่านี้กลายเป็น “ดีหนึ่ง-ประเภทหนึ่ง” ของบรรดาพรรคการเมืองที่เต็มใจส่งลงสมัคร ส.ส.โดยไม่สนใจว่า คนเหล่านี้มีประวัติอย่างไร เงินทุนเลือกตั้งจะแปดเปื้อนสีเท่า-ดำขนาดไหนเสียด้วย
ในเมื่อพรรคการเมืองไม่แสดงความรับผิดชอบต่อประเทศชาติตั้งแต่ต้น ถึงเวลาเข้าคูหาเลือกตั้ง ก็เป็น “ภาระ” ของประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกใครให้ไปทำหน้าที่เป็น “ผู้แทนราษฎร”
หรือจะปล่อยให้ใครมาเอาตำแหน่งที่ต้องจุนเจือด้วยภาษีประชาชนมาบังหน้า-คุ้มหัวตัวเอง จนสภาฯกลายเป็น “สภาห้าร้อย” แหล่งซ่องสุม ฟอกตัว ของบรรดา “คนสีเทา-สีดำ” หรือไม่.