xs
xsm
sm
md
lg

สูตรหาร 100-500 ธาตุแท้กลัวแพ้ เอาเปรียบ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว - นพ.ระวี มาศฉมาดล
เมืองไทย 360 องศา

หากพิจารณาจากสภาพเวลานี้ สำหรับพวกนักการเมืองจากแต่ละพรรคการเมืองในเวลานี้เหมือนกับว่ากำลังละล้าละลังสับสนไม่รู้จะไปทางไหนดี ตอนแรกว่าจะเดินไปทางนั้น เพราะเชื่อว่าปลอดภัย แต่รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งกลับได้ยินคนอื่นพูดว่าน่าจะไปทางนี้ดีกว่า ก็กลับลำเปลี่ยนทิศ แต่ในที่สุดก็จะกลับไปเดินทางเก่าอีกแล้ว

เหมือนกับกรณีที่ส.ส.และพรรคการเมืองกำลังถกเถียงกันว่า จะใช้คำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแบบไหนดี จะใช้สูตรหาร100 หรือหาร500 ดี เพราะตอนแรกที่เสนอเข้ามาใหม่ๆเสียงส่วนใหญ่มั่นใจต้องใช้สูตรหาร 100 จนสามารถผ่านวาระแรกรับหลักการไปได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะพรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล แต่พอมาในชั้นกรรมาธิการก็เริ่มมีการถกเถียง และเริ่มโอนเอียงมาทางสูตรหาร500 แต่ก็ฝ่ายข้างมากยกมือโหวตชนะอยู่ดี แต่แล้วก็มาพลิกเอาตอนเสนอเข้าสภาที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยเอาชนะจนพลิกมาใช้สูตรหาร 500

แต่ก็อย่างที่ว่านั่นแหละเมื่อทุกอย่างไม่ได้เกิดจากหลักการที่ถูกต้อง หวังเพียงแค่ทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่รู้ว่าวิธีการแบบไหนกันแน่ที่ทำให้ตัวเองได้เปรียบ ซึ่งก็เหมือนกับสองสูตรที่ว่านั่นแหละ เพราะตอนแรกคิดว่า หาร100 พรรคใหญ่ พรรคที่ตั้งมานานจะได้เปรียบ จึงโหวตเทคะแนนให้ท่วมท้น แต่พอรุ่งขึ้นอีกวันก็มีความเชื่อใหม่ คิดว่าสูตรเก่าที่ตัวเองหลงยกมือสนับสนุนไปนั้น มันไม่ใช่ ก็ต้องกลับมาใช้สูตรหาร 500 อีก จนล่าสุดมี “ข้อมูลใหม่” มาอีก จนต้องกลับไปใช้แบบหาร100 อีกครั้ง เหมือนกับตอนเริ่มต้น

สรุปก็คือ ตัวเองไม่รู้ หรือไม่มีความมั่นใจสักอย่างว่าจะเอาแบบไหนกันแน่ เพียงแต่มุ่งหวังให้ตัวเองได้เปรียบและชนะการเลือกตั้งเท่านั้นเป็นพอ

อย่างไรก็ดี ที่ต้องจับตาก็คือ พรรคใหญ่ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐที่มาวันนี้กลับหันมาจับมือกันโหวตอีกรอบ เพื่อให้กลับมาใช้สูตรหาร100 ให้ได้ โดยใช้วิธีการในแบบที่เรียกว่า “เตะถ่วง” เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ้นกำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

ที่เห็นภาพชัดก็คือ การประชุมร่วมสองสภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จนต้องล่ม ต้องปิดประชุมในที่สุด เพราะหลังจากนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ที่กล่าวยอมรับตรงๆ ว่ามีนัยยะทางการเมือง ซึ่งการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการออกกฎหมายต้องพิจารณาตัวกฎหมายเป็นหลัก ถ้าเห็นว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่มีปัญหา ไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ ก็ใช้กลไก มาตรา132 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นทางออกทางหนึ่งและเป็นกลไกระงับยับยั้งกฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบ หรือออกไปใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งเขาก็เปิดช่องไว้ และกฎหมายลูกกำหนดระยะเวลาว่าต้องพิจารณาภายใน 180 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้นำกฎหมายที่เสนอในวาระแรกนำมาบังคับใช้เลย

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีเจตนารมณ์เมื่อแพ้โหวต มาตรา 23 แล้วตามที่กฎหมายเสนอโดย คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ว่ามีการสั่งการให้พลิกกลับไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตร 2 ใบ หารด้วย 500 สิ่งที่เราคิดในการทำหน้าที่มาโดยตลอด เพื่อให้กฎหมายที่ถูกเสนอมาโดยชอบกลับมาบังคับใช้ให้ได้ ซึ่งมีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1. ปล่อยให้มีการพิจารณาลงมติในวาระ 3 หาร 500 แล้วไปรอคำทักท้วงของ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกา 2. คว่ำในวาระ 3 และ 3. ใช้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 โดย 3 ทางเลือกพรรค พท. คิดมาแต่แรกว่า ทางเลือกที่ 1 จะดีกว่าทางเลือกอื่น เพราะแนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 3 สุ่มเสี่ยงที่เขาจะอ้างในการไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญขัดกันกับกฎหมายลูกไม่ได้ จึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรใบเดียว หาร 500 ได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น ดังนั้น แนวทางที่ 1 เราเองก็ไม่แน่ใจว่า กกต.กับศาลจะทักท้วงหรือไม่ แม้ว่าพรรคพท.จะชอบแนวทางที่ 3 เพราะเราได้ประโยชน์สูงสุด แต่กระบวนการตรากฎหมายมันไม่ชอบ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจะมาร่วมกับเรา เราไม่ได้เป็นผู้โน้มน้าวชักจูง เพราะเรายืนอยู่มาจุดนี้ตลอด ทั้งหมดจึงไม่ใช่เกม แต่เป็นกลไกรัฐสภาในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

“มันเป็นร่างที่ครม.เสนอมา ครม.ควรต้องอับอาย แม้แต่ร่างตัวเองที่ไปปรับแก้ไขใน วาระ 2 ไปหักร่างตัวเอง กกต.เสนอมา คุณก็ไปหักในวาระที่ 2 นี่เป็นเจตนารมณ์เราตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็นเกมเมื่อวาน แต่ถ้าตีว่าเป็นเกม เราก็ไม่ได้เกี่ยวกับเกมเมื่อวาน แต่เป็นทางเดินของเรา ส่วนใครจะมาร่วมกับเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ชลน่าน กล่าว

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ที่เคลื่อนไหวผลักดันให้ใช้สูตรหาร 500 กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่เกิดเหตุการณ์สภาล่ม จนอาจทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …. ไม่ทันภายใน 180 วัน ว่าไม่คิดว่าจะมีการเล่นเกมใต้โต๊ะ ชกใต้เข็มขัด ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ทำให้รัฐสภาเสื่อมเสีย แต่เท่าที่ทราบคือมีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส.ในพรรคเซ็นชื่อเสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย แต่เมื่อ ส.ส.บางคนไม่ทำ ยังอยู่ร่วมประชุมก็ยังมีตัวแทนมาไล่ ส.ส.ให้กลับบ้าน อ้างว่านายสั่งให้กลับ ซึ่งมีหลายคนมาเล่าให้ฟัง แม้กระทั่ง ส.ส.พรรคเล็กบางคนก็ยังถูกตัวแทนคนดังกล่าวมาสั่งให้กลับบ้านเช่นกัน เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐสภาก็ล่ม

“สภาล่มไม่ได้เกิดจากเหตุสมาชิกไม่ครบแบบทั่วไป แต่เกิดจากการเล่นเกมของพรรคใหญ่อันดับหนึ่งและสอง ที่สมาชิกไม่ยอมแสดงตนร่วมประชุม มีความพยายามคว่ำการประชุมให้ได้ เพื่อที่กฎหมายลูกจะไม่สามารถมีโอกาสเข้าสภาได้ และต้องย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณหาร 100 ตามร่างที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเข้ามาในตอนแรก การกระทำเช่นนี้ผมรับไม่ได้ ถ้ามาเล่นนอกกติกาแบบนี้ ไม่ใช่วิธีที่ลูกผู้ชายทำกัน” นพ.ระวี กล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้วโดยพิจารณาจากความต้องการของพรรคใหญ่มันก็เป็นไปได้สูงว่าจะมีการ “เตะถ่วง” จนพ้นระยะเวลา 180 วันต้องกลับไปใช้ร่างเดิมที่ใช้สูตรหาร 100 หรือไม่เช่นนั้นหากสามารถลากไปจนมีการโหวตวาระสามไปได้มันก็น่าจะถูกคว่ำ แล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่งวิธีหลังนี้คงไม่ทันกาลแล้ว เพราะอายุสภาชุดนี้จะหมดลงในอีกไม่ช้า และใกล้จะปิดสมัยประชุมสภาแล้ว ดังนั้นนาทีนี้มีโอกาสที่จะใช้สูตรหาร 100 หรือไม่ต้องกลับไปใช้แบบ “บัตรใบเดียว” แบบที่ใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าห้าสิบห้าสิบ แต่สูตรหาร 500 น่าจะปิดประตูตายแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น