เมืองไทย 360 องศา
ถือว่าชัดเจน และทำให้เห็นภาพทางการเมืองในอนาคตชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า จะร่วมนำทัพพรรคพลังประชารัฐ สู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า โดยคาดว่า จะจับมือเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน รวมไปถึงพรรคเกิดใหม่อีกบางพรรคเป็น “ขั้วการเมือง” เพื่อต่อสู้และสกัดกั้นอีกฝ่าย ที่นำโดย “ครอบครัวเพื่อไทย” ของ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร
ในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งใจตอบคำถามในประเด็นทางการเมืองแบบชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งในเรื่องที่ยังยืนยันอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเขายังทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับการตั้งพรรค “รวมไทยสร้างชาติ” ในลักษณะเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สำหรับรายละเอียดของคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนี้ ถือว่าน่าจับตามาก โดยเมื่อถูกถามถึงกรณีที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่า เขามารายงาน ตามที่ได้มอบหมายให้รับผิดชอบ ที่ตั้งให้เป็นคณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ก็ได้มารายงานว่า มีผลที่ไหนอย่างไร ในจังหวัดต่างๆ ที่ลงพื้นที่ไปแล้ว ได้มีการแก้ปัญหาไปกี่ราย ในส่วนของการเมือง ก็ไม่ได้คุยอะไรกันมากนัก เพราะท่านก็เป็นพรรคการเมืองของท่าน และไม่จำเป็นจะต้องมาปรึกษาอะไรกับตน จะมาปรึกษาเรื่องอะไรจากตน ปรึกษาเรื่องอะไร แต่ละพรรคก็มีนโยบายของตัวเองอยู่แล้ว
ถามว่า มีกระแสข่าวว่า พรรคดังกล่าวจะเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “อ้าว ทุกพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องของนโยบายแต่ละพรรคของเขาเอง ผมจะไปเกี่ยวข้องอะไรกับเขา ใช่หรือไม่ วันนี้ก็ถือเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง ในส่วนของผมก็คาดหวังว่า ทุกพรรคจะช่วยกันทำให้บ้านเมืองเราสงบเรียบร้อย และมีความเจริญก้าวหน้าก็แล้วกัน ผมเองก็ให้กำลังใจกับทุกพรรคนั่นแหละ”
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แต่ดูเหมือนพรรคดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้เริ่มมาตั้งแต่การตั้งชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คำว่ารวมไทยสร้างชาติตนพูดในเรื่องของวาระอื่นเท่านั้น ที่จำได้ว่าเราต้องรวมพลังกันในการสร้างชาติของเราให้เดินไปข้างหน้าต่างๆ ซึ่งตนพูดในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาก็มาเอาไปตั้งเป็นชื่อพรรคการเมือง ตนไม่ได้ไปสั่งให้เขาตั้งชื่อพรรคนี้ เสียเมื่อไหร่ และตนก็ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคนี้
ถามว่า แล้วได้ตัดสินใจทางการเมืองหรือยัง ว่าจะไปอยู่กับพรรคการเมืองใด พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “จะให้ตัดสินใจอะไรล่ะ ก็วันนี้ผมก็อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ใช่หรือ แล้วจะไปที่ไหน เขาเป็นผู้สนับสนุนให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ใช่หรือเปล่า” เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่า การเลือกตั้งสมัยหน้าก็จะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ตอนนี้ก็ยังยืนยันเช่นนี้มาตลอด มีปัญหาอะไรหรือ”
เมื่อถามว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอยู่ ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ยังคิดอยู่” เมื่อถามว่า แล้วจะเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองหรือไม่ในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยังไม่พูด ทำไมต้องไปนั่น ไปนี่ ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าสื่อถามแบบนี้ ฉันยังไม่ตอบ อยู่ที่ไหนฉันก็ทำได้”
คำพูดที่ว่า “กำลังคิดอยู่” ดังกล่าว ถือว่าชัดเจนอีกระดับหนึ่ง และทำให้เชื่อว่าอีกไม่นานเขาก็ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างแน่ ส่วนจะนั่งตำแหน่งไหนนั้นคงไม่สำคัญ นั่นคือไม่จำเป็นต้องนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค โดยหัวหน้าพรรคอาจยังเป็น “บิ๊กป้อม” คนเดิม ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค หรืออะไรก็ได้ แบ่งแยกหน้าที่เพื่อขับเคลื่อนพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง และยังเชื่อว่าภาพจะออกมาในลักษณะที่ “สองป.” จับมือกัน ยังเป็นการตรึง ส.ส.และ “บ้านใหญ่” ระดับ “บิ๊กเนม” ให้อยู่กับพรรคพลังรัฐ ได้ต่อไป
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากพรรคพันธมิตร ที่คาดว่าจะมีการมีการ “จับขั้ว” กันล่วงหน้า ก็ยังเป็นแบบพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน เช่น พรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมไปถึงพรรคเกิดใหม่ ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรครวมพลังไทยของ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ล่าสุด “บิ๊กป้อม” ยอมรับเองว่า “เป็นพันธมิตรกัน” นอกจากนี้ยังมีพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น ไทยภักดี พรรคกล้า หรือแม้แต่พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่นาทีนี้ ถือว่าถูกกันออกมาจากครอบครัวนายทักษิณ มาเป็นฝ่ายตรงข้ามไปแล้ว
นี่คือยุทธศาสตร์ที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า พร้อมกับคำถามที่ว่า ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลถึงต้องมาจับมือเป็นพันธมิตรกันล่วงหน้า ทำไมไม่ “แทงกั๊ก”ในแบบการเมืองไทยๆ คำตอบก็คือ ด้วยการประเมินที่เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะชนะเลือกตั้ง การตั้งรัฐบาลของพวกเขาอาจมีพรรคร่วมแค่ไม่กี่พรรค อีกทั้งกระทรวงเกรดเอ ก็คงถูกฮุบไปหมด
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศจากการร่วมรัฐบาลในปัจจุบันเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ถูก “บงการ” จากนายทักษิณ ชินวัตร ย่อมแตกต่างกันลิบลับ เพราะหากมองตั้งแต่ปัจจุบัน และย้อนกลับไปจะเห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ และกลุ่ม “สาม ป.” แทบจะไม่เห็นความขัดแย้งแรงๆ เลย ตรงกันข้ามยังได้ควบคุมกระทรวงสำคัญ มีบทบาทเต็มที่ สามารถมีกำลังต่อรองสูง เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทุกพรรคเป็น “ตัวแปร” สำคัญ
ดังนั้น หากพิจารณากันแบบให้เห็นภาพก็ต้องสรุปในเบื้องต้นก็จะเห็นการ “จับขั้วเป็นพันธมิตร” ของพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน และพรรคเกิดใหม่บางพรรคในเวลานี้ โดยพรรคพลังประชารัฐจะมี “สอง ป.” คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำทัพ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสกัดกั้น “ครอบครัวเพื่อไทย” ของ นายทักษิณ ชินวัตร และแม้ว่าจะเป็นการรวมแบบ “หลวมๆ” แต่ถือว่าชัดเจนและข้ามช็อตไปหลังเลือกตั้งกันแล้ว !!