xs
xsm
sm
md
lg

วาระ 8 ปี ด่านสุดท้าย เขย่า “ประยุทธ์” ผ่านยาว!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - วิษณุ เครืองาม
เมืองไทย 360 องศา

ตั้งแต่เปิดประชุมสภาสมัยสามัญนัดแรก ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ และคาดว่า ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีนี้ จะมีแรงกระแทกพุ่งเข้าใส่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ผ่าน “ด่านทดสอบ” สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากการโหวตร่างกฎหมายงบประมาณปี 2566 ที่ผ่านวาระแรกไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะหากถูกคว่ำ นั่นก็หมายความว่า นายกฯ มีทางเลือกสองทาง คือ ไม่ยุบสภา ก็ต้องลาออก แม้ว่าเรื่องงบประมาณยังไม่ถึงที่สุด เพราะต้องมีการโหวตวาระสามตามมาอีก แต่พิจารณาตามรูปการณ์แล้ว น่าจะไม่มีปัญหา

ถัดมาก็เป็นเรื่องญัตติ “ซักฟอก” หรือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เพิ่งผ่านพ้นไปราวเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีอีก 10 คน ยังได้รับความไว้วางใจผ่านไปได้ แม้ว่าก่อนการลงมติจะต้องลุ้น และดูทุลักทุเลไปบ้าง แต่ก็ผ่านมาได้แบบที่เรียกว่า “ฉลุย” เพราะหากพิจารณาจากคะแนนโหวต “ไม่ไว้วางใจ” ที่มีผลทางกฎหมาย ทำให้รัฐมนตรีพ้นจากเก้าอี้นั้น เมื่อดูจากคะแนนโหวตแล้ว ถือว่ามีรัฐมนตรีที่ได้คะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุด คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้แค่ 212 เสียงเท่านั้น จากที่ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 239 เสียงขึ้นไป

กรณีญัตติซักฟอกดังกล่าวที่ผ่านมา ถือว่าน่าจับตามาก เพราะตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว เมื่อมีการยื่นญัตติเข้าสู่วาระสภาแล้ว ถือว่าระหว่างนี้ก่อนการลงมติ นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจยุบสภาไม่ได้ ประกอบกับเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคในลักษณะที่มี “เสียงปริ่มน้ำ” มีการต่อรอง มีข่าวเรื่อง “กล้วย” เข้ามาเกี่ยวข้อง และเสียงทุกเสียงย่อมเป็นตัวแปรชี้ชะตานายกฯ และรัฐบาล เนื่องจากเป้าหมายการอภิปรายพุ่งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหลัก และแม้ว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล แต่หากนายกฯไม่ผ่าน มันก็ย่อมมีผลทำให้รัฐมนตรีต้องพ้นไปทั้งคณะ แต่ในที่สุดก็ผ่านไปได้

และคิวต่อไปที่ถือว่าน่าจะเป็น “ด่านสุดท้าย” ก็คือ “วาระ 8 ปี” ที่มีข้อถกเถียงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะครบ 8 ปีแล้ว หรือไม่ และจะครบกำหนดวันที่ 24 สิงหาคมนี้ หรือไม่ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดเอาไว้ว่า ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม โดยบางคนมองว่า ต้องนับวาระตั้งแต่เริ่มเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 57 ต่อเนื่องกันมา ซึ่งจะครบในเดือนนี้ ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่าต้องนับวาระตั้งแต่เริ่มได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 62 ซึ่งหากเป็นอย่างหลังก็ยังสามารถเป็นได้อีกวาระสภา คือ ยังเหลืออีก 4 ปี

แน่นนอนว่า เรื่องดังกล่าวย่อมต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด ซึ่งฝ่ายที่จะดำเนินการยื่นให้ตีความก็ต้องเป็นพวก ส.ส.ฝ่ายค้านอยู่แล้ว และตามไทม์ไลน์ที่ระบุออกมา ก็มีพรรคเพื่อไทยจะยื่นในราววันที่ 7 สิงหาคมนี้

ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาท่าทีฝ่ายรัฐบาลผ่าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ ว่า ตอนนี้ใครสงสัยสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เลย เห็นฝ่ายค้านบอกว่า จะส่งวันที่ 7 สิงหาคม แต่ในส่วนของรัฐบาล ไม่ได้เป็นฝ่ายส่ง เพราะไม่ได้สงสัย รัฐบาลเป็นฝ่ายตั้งรับเท่านั้น

ถามว่า มีความกังวลในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เคยมีใครพูดว่ากังวล เมื่อถามว่า แสดงว่าเชื่อมั่นใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องเชื่อมั่นอะไร ก็เฉยๆ ถ้ามันไม่ถูก เพราะนับตั้งแต่ปี 57 ก็ให้เป็นไปตามนั้น

เมื่อถามว่า ถ้าฝ่ายค้านยื่นศาลแล้ว ศาลสามารถเรียกนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงได้ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลจะไม่เรียก แต่จะใช้วิธีส่งหนังสือ ส่งมาที่รัฐบาลและรัฐบาลก็จะตอบเป็นหนังสือกลับไป ว่ามีความเห็นอย่างไร อันนี้หมายถึงกรณีถ้าศาลถามว่า แต่ถ้าศาลไม่ถามรัฐบาลก็ไม่ต้องตอบอะไร

“เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย ศาลสามารถพิจารณาเองได้ ไม่ต้องมีใครมาสอนศาล” นายวิษณุ กล่าว

ถามว่า ก่อนหน้านี้ นายกฯเคยตั้งทีมมาศึกษาเรื่องนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ยืนยันว่า ไม่มี แต่ที่สภามี เมื่อถามว่าการตั้งรับของรัฐบาลในเรื่องนี้มีการวางแผนไว้อย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งรับอะไร เราก็แค่รอ วันดีคืนดีศาลมีหนังสือมาบอกว่ามีคนไปร้องอย่างนี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการร้องตามมาตรา 82 ฉะนั้น ขอให้รัฐบาลให้ความเห็น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นรัฐบาลให้ความเห็นไป

ส่วนที่ว่า หากศาลรับคำร้องเรื่องนี้ นายกฯต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การจะหยุดหรือไม่อยู่ที่ศาลจะสั่ง ว่าจะหยุดหรือไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะใช้เวลาในการพิจารณานานหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ด้วยความที่เรื่องนี้เป็นปัญหาทางข้อกฎหมายล้วนๆ ไม่ได้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ได้มีเรื่องต้องสืบพยาน ดังนั้น ก็ไม่น่าจะนาน แต่ตอบไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ เรื่องนี้ศาลจะรู้เอง

นอกเหนือจากฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ก็ยังมีกลุ่มการเมืองที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งโดยเรียกร้องให้ลาออก ก่อนวันที่ 24 สิงหาคมอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มพวกนี้ย่อมเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือเห็นต่างมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ขณะที่พรรคเพื่อไทย และพรรคฝ่ายค้านก็เหตุผลในการเคลื่อนไหวแบบไหน เชื่อว่า หลายคนย่อมมองออก

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างก็ย่อมต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ส่วนจะใช้เวลาในการพิจารณานานแค่ไหนนั้น ก็เชื่อว่า คงไม่นานนัก แต่ก็คงมีระยะเวลาเหมือนกัน ไม่ใช่ยื่นวันนี้พรุ่งนี้ ตอบอย่างแน่นอน อาจลากเป็นเดือน หรือสองเดือน แต่หากพิจารณาจากปฏิกิริยาจากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับไม่ได้มีท่าที หรือแสดงความรู้สึกใดๆ ออกมาให้เห็น ส่วนหนึ่งคงมั่นใจว่า “ผ่านแน่” เพราะหากมองผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่บอกว่า มาจาก “มดลูก” ของ คสช. มันก็อธิบายในตัวแล้วว่าคงไม่เป็นกับดักให้ตัวเองแน่ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรอศาลชี้ขาด แม้ว่านาทีนี้จะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วก็ตาม !!


กำลังโหลดความคิดเห็น