xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้ รัฐหนุนทำ ITA เข้ม กม.เหตุมีทุจริต “ชัชชาติ” ชูแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มโปร่งใส ปัดจับผิดราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ แจง รัฐหนุนหน่วยงานทำ ITA แนะบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด เหตุยังมีทุจริต ด้าน ผู้ว่าฯ กทม.มองแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยเพิ่มความโปร่งใส แต่ต้องไม่เอามาใช้เพื่อจับผิดราชการ

วันนี้ (1 ส.ค.) ในการแถลงข่าวการประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ “ความสำคัญของการเสริมสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ และและบทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนการประเมินไอทีเอ 2565” ตอนหนึ่งว่า การส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐไม่ควรเป็นประเด็นให้มีความสงสัยถึงความจำเป็นและความสำคัญ เพราะทั้งคุณธรรมและความโปร่งใสเป็นสาระสำคัญใน 6 ประการของคำว่า “ธรรมาภิบาล” หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการไขไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน

รัฐธรรมนูญกำหนดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยคณะรัฐมนตรี และรัฐบาลจะต้องส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรม ความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในหน่วยงานของรัฐทุกประเภท เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการจากรัฐ ทำให้เกิดความเท่าเทียม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและประชาชนได้ประโยชน์ จึงถือเป็นหัวใจสำคัญ

โดยหลักบริหารบ้านเมืองมี 6 ข้อ คือ 1. ทำให้ถูกต้องยุติธรรม 2. ความโปร่งใส 3. ความมีคุณธรรม 4. การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 5. ความรับผิดรับชอบ และ 6. การทำให้งานของรัฐมีประสิทธิภาพคุ้มทุน คุ้มค่าทุกเวลา และประหยัด โดยจะต้องมีการประเมินเป็นระยะๆ โดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเป็นหน่วยงานกลาง คือ ป.ป.ช. ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน 8,303 แห่งเป็นอย่างดี เพื่อประเมินไอทีเอ

ขณะที่รัฐบาลสนับสนุนการทำไอทีเอโดยมีมติ ครม. เมื่อเดือน ม.ค. 65 และเข้มงวดกวดขันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม กฎหมายที่เกี่ยวกับความโปร่งใส และอีกไม่นานจะมีกฎหมายการปฏฺบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดสนับสนุนความโปร่งใสทั้งสิ้น มีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างเข้มงวดกวดขันขึ้น เพราะเรายังเชื่อว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

รวมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐจัดหน่วยงานให้มีความโปร่งใส และอาศัยประชาชนในการช่วยตรวจสอบรายงานความไม่ชอบมาพากลให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบ

“ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้ในไม่ช้ามีหลักการใหม่ ให้ประชาชนมีบทบาทในการประเมินสถานีตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในสถานีนั้นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้งได้ด้วย” นายวิษณุ กล่าว และขอบคุณหน่วยงานรัฐ 8,303 แห่ง ที่ให้ความร่วมมือ ป.ป.ช.ในการร่วมมือประเมินไอทีเอ รวมทั้งให้กำลังใจหน่วยงานที่ยังได้คะแนนไม่ดี และแสดงความยินดีกับหน่วยงานรัฐที่ปีนี้ได้คะแนนมากกว่าปีที่ผ่านมา

วันนี้มีกฎหมายค้างในสภาอีกฉบับ คาดว่า อีกไม่กี่เดือนออกมาใช้ได้ คือ กฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดสนับสนุนความโปร่งใสทั้งสิ้น ไม่ว่าไปถึงกฎหมายมีมานานสมควร คือ กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นต้น มีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างเข้มงวดกวดขันขึ้น เรายังเชื่อว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามส่วนความไม่ตั้งใจคือความไม่รู้ว่าการทำในสิ่งนั้นคือการทุจริต

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในหัวข้อ “ประโยชน์และความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลและการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และแยกระดับคุณภาพการให้บริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ตอนหนึ่งว่า การเปิดเผยข้อมูลจำเป็นสำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกหน่วยงานจะต้องทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ส่วนของกรุงเทพมหานครมีนโยบายชัดเจนเรียกว่า open bangkok เช่น ข้อมูลงบประมาณปี 66 ก็เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยเรื่องสัญญาต่างๆ ก็ต้องมีให้เห็นว่าเป็นอย่างไร หรือนโยบายผู้ว่าฯ ก็นำขึ้นเว็บไซต์ประชาชนสามารถเข้ามาดูได้มาติดตามว่าได้ทำตามที่ได้พูดไว้ไหมข้าราชการก็เข้าใจชัดเจนว่าเราต้องการอะไร

นอกจากนี้ มีแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ให้ประชาชนเข้ามาแจ้งเหตุเดือดร้อน ซึ่งก็จะได้เรื่องความโปร่งใส เพราะจะรู้ว่าเรื่องนี้ประชาชนแจ้งเข้ามานานหรือยัง ฉะนั้น ความโปร่งใสในแง่การแก้ไขปัญหาชัดเจนและเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคราชการต้องรีบดำเนินการไม่สามารถเอาเรื่องไปหมกไว้ตนเข้ามาทำงาน 6 อาทิตย์ แพลตฟอร์มนี้มีคนแจ้งเรื่องเข้ามา 100,000 เรื่อง สามารถแก้ไขเสร็จประมาณ 40,000 เรื่อง โดยที่ตนยังไม่ได้สั่งการเราเห็นเลยว่าหน่วยงานไหนมีประสิทธิภาพหน่วยงานไหนแก้ไขปัญหาได้ช้าเรื่องอยู่ที่ไหนเรื่องใหญ่คืออะไร ฉะนั้น นี่คือ แนวโน้มว่า แพลตฟอร์ม เหล่านี้มีส่วนช่วยในการสร้างการเปิดเผยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วมองว่าอนาคตเรื่องการบริการทางออนไลน์เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการคิดว่าเรามีข้อมูลอีก 600-700 เซต ที่ต้องเคลียร์และเปิดเผยแต่สำคัญ ฟอร์แมตต้องเป็นลักษณะประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและนำไปพัฒนาต่อได้มองว่า ประชาชนอยากเข้ามาช่วยประชาชนพร้อมเทคโนโลยีพร้อม เหลือแต่ภาครัฐเองว่าเราพร้อมหรือไม่ ฉะนั้น การทำโอเพนดาต้า ฝ่ายราชการจะต้องเอาจริงเอาจังและต้องอบรมให้ประชาชนเข้าใจว่า ไม่ได้เอาตัวนี้มาจับผิดข้าราชการ แต่เอาเข้ามาช่วยให้เขาทำงานได้ง่ายมากขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานราชการเปลี่ยนไป ทำให้ขยายผลได้รวดเร็วและตอบโจทย์ผู้คนได้เร็วขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น