“นักวิชาการดัง” ฟาดกันเอง! “ดร.ปฐมพงษ์” ไล่ “ดร.ปริญญา” ไปหาความรู้เพิ่ม กรณีเรียกร้อง รบ. กดดันรัฐบาล “เมียนมา” ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ละเว้นสหรัฐฯและหลายประเทศ “ชูวิทย์” ชี้อำนาจไม่คงทน เตือน “3 ป.”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (30 ก.ค. 65) เว็บไซต์สถาบันทิศทางไทย โพสต์ประเด็น เปิดกะโหลก “นักวิชาการ มธ.” เพ้อเจ้อมนุษยชนเมียนมา ไล่ดูสหรัฐฯละเมิดสิทธิทั่วโลก ทำไมไม่เลิกคบ? โดย yodtong
เนื้อหาระบุว่า จากที่ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีรัฐบาลทหารเมียนมา ประหารชีวิตอดีต ส.ส.ฝ่ายค้าน และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กดดันรัฐบาลเมียนมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายนั้น
สาระสำคัญระบุว่า การประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวน 4 คน นับเป็นความป่าเถื่อนเลวร้ายที่สุดอีกครั้งที่รัฐบาลทหารเมียนมา ได้กระทำต่อประชาชนของตนเอง
การกระทำเช่นนี้ไม่อาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เลย นอกจากพวกเราทั้งหลายต้องช่วยกันเรียกร้องรัฐบาลทหารเมียนมา ให้หยุดการกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อประชาชนแล้ว
ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า คือ เราต้องเรียกร้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ให้หยุดคบหา หยุดให้ความสนับสนุน และ กดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ยุติการประหารชีวิตประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาล และคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว!
หาไม่แล้ว เท่ากับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับ และอาจจะถึงกับถือได้ว่า หนุนหลังการกระทำเช่นนี้ ของรัฐบาลทหารเมียนมา”
ล่าสุด วันนี้ ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาโพสต์ข้อความลง Blockdit ถึงกรณีเมียนมา และ ดร.ปริญญา ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอีกด้านว่า
“ทุกวันนี้ นักวิชาการมหาวิทยาลัยไทยจากทุกมหาวิทยาลัย ไม่เว้นแม้แต่ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ หรือที่อื่นๆ มีความรู้เรื่องการเมืองระหว่างประเทศไม่รอบด้านครับ
โดยเฉพาะพวกที่ติดตามอ่านแต่ข่าวจากมติชน ข่าวสด และ ไทยรัฐ เป็นประจำ พวกนี้จะมองเห็นแต่ข่าวด้านเดียวตลอดเวลา เพราะนักวิชาการ หรือนักเขียนที่เขียนลงสื่อทั้ง ๓ ฉบับนี้ หลักๆ วิจารณ์การเมืองระหว่างประเทศบนพื้นฐานข้อมูลที่แคบ เป็นมุมมองที่เชิดชูตะวันตกอย่างอเมริกาฝั่งเดียว ผมเลิกซื้อ/อ่านมาร่วม ๓๐ กว่าปีแล้ว
ดร.ปริญญา นี้ ก็เช่นเดียวกัน ถ้า ดร.ปริญญา ยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้งจริง ดร.ปริญญา จะต้อง ๑. เรียกร้องให้ประเทศไทยเลิกคบกับอเมริกาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ประเทศ เช่น อิรัก ซีเรีย ลิเบีย เยเมน อัฟกานิสถาน อยู่ในขณะนี้
ถ้า ดร.ปริญญา ไม่รู้ก็ควรแสวงหาความรู้เสียว่าอเมริกาละเมิดสิทธิมนุษยชนประเทศอื่นๆ อย่างไรบ้าง
๒. เรียกร้องให้ประเทศไทยเลิกคบกับอิสราเอล เพราะอิสราเอลรุกรานแผ่นดินปาเลสไตน์ สังหารนักข่าวปาเลสไตน์และเด็กปาเลสไตน์จำนวนมากแล้ว โดยที่แม้แต่สหประชาชาติก็ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะอเมริกาออกมาขวาง
๓. เรียกร้องให้ประเทศไทยเลิกคบซาอุฯ เพราะรัฐบาลซาอุฯ รุกรานเยเมน ยึดครองแผ่นดินเยเมน และกำลังปล้นน้ำมันไปจากเยเมนในขณะนี้
ถ้า ดร.ปริญญา วิจารณ์เมียนมาโดยมีจุดยืน คือ สิทธิมนุษยชนจริง ก็ไม่ควรจะแค่เรียกร้องให้ไทยเลิกคบเมียนมาอย่างเดียว ควรเรียกร้องให้ไทยเลิกคบอเมริกา อิสราเอล และ ซาอุฯ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อธิปไตยและเสรีภาพสื่อเป็นประจำด้วย”
ขณะเดียวกัน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและนักธุรกิจ โพสต์เพจเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า
“กฎแห่งอำนาจ
ในทางการเมือง มีคำพูดที่ต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า
“ไม่มีอำนาจการเมืองใดที่คงอยู่ตลอดกาล”
แต่การเมืองไทย ด้วยความกลัวของผู้มีอำนาจ จึงพยายามฝืนสัจธรรมความเป็นจริงทุกวิถีทาง
ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา
อลเวงกับสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดี๋ยวเอาหาร 100 แล้วเปลี่ยนไปเป็นหาร 500 พอเห็นท่าไม่ดี ยังคิดจะพลิกกลับไปเป็นหาร 100 อีก
และยังกลับไปกลับมาได้อีกหลายตลบ ตามใบสั่งผู้มีอำนาจ
เอาตามที่สบายใจ ไม่ได้ไยดีประชาชน
สาเหตุมาจากความกลัวขี้หดตดหาย ว่าจะสูญเสียอำนาจที่เสวยสุขมานาน กระแสเบื่อมาแรง
ไม่ว่าหารแบบไหนล้วนเข้าทางฝ่ายตรงข้าม “รัฐบาล 3 ป.”
ยังไม่พอ คิดเปลี่ยนสูตร รื้อรัฐธรรมนูญเพื่อกลับไปใช้ “บัตรใบเดียว” ตามเดิมอีก เพราะเพิ่งรู้สึกตัวว่า เสือกเอาหอกไปยื่นให้ฝ่ายตรงข้ามทิ่มตัวเองด้วย “บัตรสองใบ”
อำนาจที่มีมาอย่างยาวนาน และความย่ามใจทำอะไรก็ได้ จะสั่งให้หันซ้าย หันขวา ก็ทำได้หมด ใช้อิทธิพลทั้งทางตรง และทางอ้อม (กล้วยยัดปาก)
อาการลนลานกลัวไม่ได้กลับสภาสมัยหน้าของเหล่า ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ กับแกนนำรัฐบาล หารือกันหน้าดำคร่ำเครียด จนไม่ว่าสูตรไหนก็ดูไม่ลงตัว
สร้างความสับสนให้รัฐธรรมนูญ “ฉบับมั่วของพวกเรา” มีการคำนวณสูตรพิสดาร บัตรเขย่ง ส.ส. ปัดเศษ เอาพวก “ลิเกลิง” เข้าร้องเจี๊ยวจ๊าวเต็มสภา พากันกินแต่กล้วยที่ผู้มีอำนาจยัดปิดปากให้โหวตซ้ายขวาได้ตามใบสั่ง
ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แถมชื่ออยู่พรรคหนึ่งแต่ตัวไปอยู่อีกพรรค ดูสับสนวุ่นวาย จนชาวบ้านเอือมระอาด่ากันขรม จำไม่ได้ว่าอยู่พรรคไหน ฝั่งไหน?
แต่แลกมากับการได้ครองอำนาจต่อ ย่อมคุ้มค่า ติดใจหลงหัวปักหัวปำกับบารมีที่มีมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง
ไม่ได้ปฏิรูปบ้าบออะไรสำเร็จสักเสี้ยวกระผีก ตามแผนล้ำลึกแหกตาชาวบ้านของ “ลุงกำนัน”
กระแสยี้ เบื่อสุดๆ กับ 3 ป. ที่ทำท่าทีเล่นการเมืองแบบ “ตกปลาในอ่างหลังบ้าน”.
นับไปนับมา อำนาจวนเวียนกันแค่ 3 ป. ตามระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ
ป. 1 ทำท่าทางรังเกียจนักการเมือง ทำตัวเหมือน “พระมาโปรดสัตว์”
ป. 2 ลีลานักการเมืองอาชีพยังอาย เป็นเสมือน “ผู้มากบารมี พี่นี้มีแต่ให้” คนแย่งกันเข้าบ้าน เฝ้ากันข้ามคืน เป็นผู้อาวุโสคุมเกมการเมือง แต่ปากบอก “ไม่รู้ ไม่เกี่ยว”
ป. 3 เป็นเหมือนมันสมอง ลุ่มลึก เงียบกริบ แต่คมกริ๊บ พูดน้อย ต่อยหนัก
ทั้ง 3 ป. ผลัดกันเล่นมุก เดี๋ยวรุก เดี๋ยวรับ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวโกรธ ทำท่าระหองระแหง แล้วกอดกัน
ไม่ว่าเกมเปลี่ยนอย่างไร แต่ผู้เล่นยังมีแค่ 3 ป. เหมือนเดิม ตั้งแต่ยึดอำนาจมา จนแปรสภาพตกผลึกมา 8 ปี คุมองคาพยพทั้งการเมือง ข้าราชการ กองทัพ นายทุน องค์กรกลางทั้งหลาย ไปจนถึงสภาล่าง สภาบน ด้วยอำนาจของ “ผลไม้เครือหวี”
แผนสุดท้ายยังแตกแบงก์พัน จัดตั้งสารพัดพรรค พาเหรดเปิดตัวแผนสำรอง เผื่อดันพรรคพลังประชารัฐไปไม่ไหว
ส่วนพวกเห็นช่องทางก็ร่วมผสมโรง แห่กันเปิดพรรคเหมือนเปิดร้านเซเว่น
เปิดกันทุกวันจนชาวบ้านจำชื่อพรรคไม่ได้
นี่คือ ผลของกระบวนการบิดเบี้ยวเพื่อสืบทอดอำนาจที่ผ่านมา
ไม่ว่าใครจะแก้เกมด้วยท่าไหน ทำปู้ยี่ปู้ยำกับรัฐธรรมนูญยังไง แหกตากันกลางสภา เล่นลิเกโหวตสวนขู่ แล้วไปกราบตีนหวังจะเปลี่ยนกฎปรับ ครม. ก่อนเลือกตั้ง
ก็มิอาจสะเทือนซาง 3 ป. ได้
ลิเกแห่งอำนาจยังคงดำเนินต่อไปไม่เปลี่ยน
แต่ผมก็ยังเชื่อในกฎการเมืองที่ว่าไว้
“ไม่มีอำนาจใดคงทนอยู่ถาวร หากหมดสิ้นศรัทธาประชาชน”
แน่นอน, ต้องยอมรับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่พ้นบ่วงกรรม แม้ว่า จะผ่านพ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาได้แล้วก็ตาม
ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ ส.ส.ที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปกลับมา กรณีบัตร 2 ใบ กลับมาเป็นใบเดียว ที่แม้จะเป็นเพียงกระแสข่าว แต่ก็ชี้เป้าไปที่กลุ่มอำนาจปัจจุบันที่ต้องการรักษาอำนาจ หรือสืบทอดอำนาจ และไม่มั่นใจว่า กติกาที่แก้ไขไปแล้ว จะช่วยให้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ
เรื่องนี้ถือว่า เป็น “ภาพลบ” ต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมาก และยิ่งทำให้คนที่เบื่อหน่ายอยู่แล้ว ยิ่งเบื่อเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะไม่ว่ากติกาอะไร ถ้าหากประชาชนนิยม และสร้างผลงานให้ประชาชนประทับใจ ก็ไม่เห็นต้องกลัวว่าจะไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือ ฝ่ายตรงข้ามจะชนะเลือกตั้ง ยิ่งเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐอยู่แล้ว ก็ยิ่งนับว่าได้เปรียบเป็นทุน?
ขณะเดียวกัน กระแสเรียกร้องให้กดดันรัฐบาลทหารเมียนมา กรณีประหารชีวิต 4 นักโทษการเมือง ก็เป็นอีกเรื่องที่ “บีบคอ” ให้ทำในสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะไม่เพียงปัญหาความมั่นคงของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ที่ผู้รู้เตือนเอาไว้แล้วว่า อันตรายต่อระบบไฟฟ้าไทยอย่างมาก และมีเวลาเพียง 5 วินาทีที่จะกอบกู้วิกฤตได้ หากพม่าตัดการเชื่อมต่อ ฯลฯ
ประเด็นก็คือ การแสดงท่าที หรือกดดัน รัฐบาลทหารเมียนมา อาจทำได้ง่าย เพียงแค่แสดงออกเท่านั้น แต่ผลกระทบที่ตามมา ต่างหากที่รัฐบาลไทยจะต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มหรือไม่ เราได้อะไร เสียอะไร เดือดร้อนอะไร
ถ้าการเรียกร้องกดดันรัฐบาลเมียนมา แค่ทำให้ “สหรัฐฯ” ชื่นชม โลกเสรีประชาธิปไตยชื่นชม แต่เรายังมีรั้วติดกับประเทศเมียนมา และพึ่งพา “ก๊าซธรรมชาติ” ที่ยังไม่มีทางออกที่ดีกว่า ลองคิดดู ว่าควรเลือกแบบไหน?
อย่างที่ ดร.ปฐมพงษ์ ชี้ให้เห็น ถ้าอ้างการละเมิด “สิทธิมนุษยชน” สหรัฐฯเองก็ไม่เบา เพราะละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประเทศทั่วโลก ถ้าสิทธิมนุษยชนควรได้รับการปกป้อง สหรัฐฯก็ไม่ควรได้รับข้อยกเว้น จริงหรือไม่!?