สภาร่วม ผ่าน กม.ลูกพรรคการเมือง “ก้าวไกล-วุฒิฯ” ดันติดคุก-อดีต ส.ว.เป็นสมาชิกพรรคไม่สำเร็จ พร้อมปิดฉาก “ไพรมารีโหวต” ปธ.สภา เคาะ กมธ.ส่งกลับร่างแก้ไข กม.เลือกตั้ง ส.ส. เข้ารัฐสภาสัปดาห์หน้า อ้างต้องยึดระเบียบอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (26 ก.ค.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ พ.ศ. .. ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 13 มาตรา ในวาระสอง โดยเป็นการพิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยในมาตรา 4/1 แก้ไขมาตรา 24 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะร่วมเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง ซึ่ง กมธ. พิจารณาเพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่ และมี กมธ.เสียงข้างน้อย รวมถึงสมาชิกรัฐสภาติดใจขอแปรญัตติ โดยเฉพาะประเด็นที่ขอสิทธิให้บุคคลที่ต้องโทษจำคุก, ผู้ที่เคยจำคุกและพ้นโทษมาแล้ว 5 ปี รวมถึง ส.ว. หรือบุคคลที่พ้นตำแหน่ง ส.ว.ไม่ครบ 2 ปี สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถมีสมาชิกพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นได้
โดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า สิ่งที่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนที่เป็นพลเมือง คือ พลเมืองทุกคนในประเทศนี้มีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งตนไม่สนใจว่าจะต้องโทษมาหรือไม่ หรือพ้นมาแล้วกี่ปี แต่หากจะตัดสิทธิในการเป็นกรรมการบริหารพรรค การลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ความเป็นรัฐมนตรี ด้วยเงื่อนไขลักษณะเฉพาะบางประการ เช่น หากมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ก็ว่ากันไป เพราะวันนี้ยังมีคดีที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติของ ส.ส.อีกหลายคน ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือต้องโทษจำคุกมายังไม่สิ้นสุด ซึ่งคนควรจะรู้คุณสมบัติขั้นพื้นฐานตั้งแต่ต้น ซึ่งเห็นว่า เมื่อพ้นโทษมาแล้วก็มีสิทธิเต็มที่ ไม่ควรมีกฎหมายจำกัดสิทธิ เราสามารถปลดล็อคให้เขามีที่ยืนได้ ดังนั้นควรให้นักโทษจำคุกทุกคน เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่จำเป็นต้องมีสมาชิกหลากหลาย คนที่เคยล้มละลายมา ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เขามีแนวคิดทางการเมืองดีๆ ก็ได้ ทำไมต้องไปตัดสิทธิเขา และคนที่กระทำความผิดแบบที่กฎหมายกำหนดก็สามารถกลับตัวได้ แล้วจะตัดสิทธิไม่ให้เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองได้อย่างไร ร่างของ กมธ.เสียงข้างมาก บอกเลยว่ากีดกันคนล้มละลาย ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว หรือบอกว่าพ้นโทษไม่ถึง 10 ปี ไม่ให้เป็นสมาชิกพรรค ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว และที่สำคัญ เป็นบุคคลลักษณะต้องห้ามไม่มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 98(1) คือ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ในศาสนาพุทธ ไม่สามารถที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือตั้งพรรคการเมืองได้ ทำไมนักพรต นักบวชในศาสนาอื่น ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ มีสิทธิเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ มีสิทธิก่อตั้งพรรคการเมืองได้
“เราใช้แนวคิดเสรีนิยมมาใช้ไม่ได้หรือ ทำไมต้องใช้แนวคิดเผด็จการ เราหาคนดีไม่ได้ หรือคนดีคือคนที่มีบุญคุณกับท่าน ดังนั้นการเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัย ทุกชาติ ทุกศาสนา คนทำผิดซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวมีสิทธิชอบธรรมในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จึงเห็นว่า ควรตัดมาตรานี้ออกไป แต่ควรจะเปิดเสรี เชื่อว่า จะทำให้พรรคการเมืองเติบโตเข้มแข็ง เติบโตจากประชาชนไม่ใช่เติบโตจากฝ่ายเผด็จการบางคน หรือลูกน้องเผด็จการบางคนที่ออกกฎหมายมาบีบให้พรรคการเมืองไม่เติบโตหรือแคระแกรน”
ด้าน นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า เรื่องนี้ต้องคิดอย่างรอบคอบ ความเห็นต่างของตน คือ พรรคการเมืองไม่ใช่ของผู้ก่อตั้งพรรค ผู้บริหารพรรค และไม่ใช่ของสมาชิกพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองทุกพรรคเป็นของประชาชน จึงเห็นว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะไปเป็นสมาชิกพรรคใดก็ได้ และควรมีข้อจำกัดเท่าที่จำเป็น คนที่เคยเป็น ส.ว. ส.ส. หรือคนที่เคยทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว ถูกห้ามไม่ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองทั้งที่ก็เป็นพลเมืองไทยเหมือนกัน
“เห็นด้วยจำกัดสิทธิ แต่ต้องมีเหตุผลและต้องพิจารณาความจำเป็น เพื่อจำกัดคนไม่ดี ไม่ควรให้สมัครเป็น ส.ส. หากลอกมาทั้งหมดห้ามคนที่ไม่ควรเป็น ส.ส. ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะเกินไป ทั้งนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่จะห้าม อดีต ส.ว.เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่บอกว่าจะไปเอื้อประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ถูกห้ามไว้แล้วในกฎหมายอื่น ถูกห้ามเป็นตลอดชีพ ทั้งรัฐมนตรี ผู้บริหาร องค์กรอิสระ ตุลาการ ดังนั้น การห้ามไม่ให้อดีต ส.ว.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเยอะเกินไป” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
โดยที่ประชุมลงมติ 262 ต่อ 51 เสียง เห็นชอบกับเนื้อหาที่ กมธ.เพิ่มขึ้นใหม่ งดออกเสียง 126 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ต่อมาที่ประชุมพิจารณา มาตรา 6 แก้ไขมาตรา 47 เกี่ยวกับให้ตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรค สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบ่งเขต โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า แก้ไขแบบนี้เท่ากับเป็นการตัดวรรคสองของมาตรา 47 เดิม ซึ่งในวรรคนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวต เป็นการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสรรหาตัวผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมือง ดังนั้น ตนจึงขอเสนอให้ตัดมาตรา 47 ที่กมธ.แก้ไข แล้วให้กลับไปใช้มาตรา 47 ของเดิม
ซึ่งที่ประชุมลงมติยืนตาม กมธ.แก้ไข ด้วยคะแนน 354 ต่อ 15 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ส่วนมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 48 เกี่ยวกับให้ตัวแทนพรรคการเมืองหรือสาขาพรรค สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นั้น นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายแม้จะไม่ต้องการให้ตัดการทำไพรมารีโหวตออก แต่ก็ไม่ติดใจ เนื่องจากแนวคิดของตนได้แพ้ไปตั้งแต่มาตรา 6 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติยืนตามกมธ.เสียงข้างมากแก้ไข ด้วยคะแนน 356 ต่อ 22 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 5 เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้มีการอภิปราย และลงมติเรียงรายมาตราจนครบ 13 มาตรา และมีมติเห็นชอบในวาระ3 ด้วยคะแนน 423 ต่อ 0 งดออกเสียง 3
ต่อมา นายสาธิต กล่าวว่า เมื่อมีการถอนร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้งออกไป ตนเรียนว่าจะนำกลับมาพิจารณาให้เร้วที่สุด แต่แม้จะเป้นเรื่องด่วนก็ต้องทำหนังสือเรียกประชุม กมธ.อย่างน้อย1 วัน ดังนั้น คาดว่า น่าจะเสนอกลับมาให้ประธานบรรยุระเบียบวาระภายสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน สมาชิกรัฐสภา หารือว่าตามรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอน ว่า เมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กกต. ส่งภายใน 15 วัน เพื่อให้พิจารณาว่ามีข้อทักท้วงใดๆหรือไม่ภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับ ในกรณี กกต.เสนอความเห็นกลับมาว่ามีข้อความใดขัดหรือแย้งต่อ รธน. ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหหน้าที่ถูกต้องได้ ให้รัฐสภาบรรจุเป็นเรื่องด่วนให้พิจารณาแล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยรัฐสภามีอำนาจแก้ไขตามหน่วยงานที่เสนอตามที่เห็นสมควรได้ เมื่อขั้นตอนนี้เสร็จแล้วจากนั้นถึงขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จึงอยากทราบว่าต่อไปนี้ขั้นตอนจะเป็นอย่างไร
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกรัฐสภา แสดงความเห็นว่า กมธ. จะต้องรีบทำให้เสร็จและนำเสนอที่ประชุมรัฐสภาเพื่อมีมติวาระที่สาม ให้ทันก่อนวันที่ 15 ส.ค. 2565 ซึ่งเป็นกรอบเวลา 180 วัน นับแต่ร่าง กม.เข้าสภา หากรัฐสภา ไม่สามารถผ่านตามกรอบดังกล่าว ร่าง พ.ร.ป.ที่อยู่ในมือจะตกไป ทำให้ต้องย้อนกลับไปใช้ร่างแรก ที่ ครม. เสนอเข้ามา คือ กลายเป็น หาร 100 ดังนั้น ตนเสนอให้เรียกประธาน กมธ. เรียกประชุมภายในคืนนี้เลย เพราะองค์ประชุมก็อยู่ครบแล้ว อีกทั้งพรุ่งนี้ก็ยังมีการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาเรื่องอื่นๆ หากประชุมค่ำนี้แล้วจบ เราสามารถนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุมได้
หลังจากที่ประชุมได้แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายชวน กล่าวว่า เราจำเป็นต้องกำหนดกรอบเพื่อให้ทันตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็จะดูเหมือนเราไม่รับผิดชอบ เพราะถือเป็นหน้าที่ แต่วันนี้สภาเรายังไม่พร้อม และต้องเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ตนเข้าใจว่า ทุกคนเหนื่อย แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้เสร็จ จึงขอเลื่อนไปพิจารณาเรื่องนี้ต่อในสัปดาห์หน้า
จากนั้นได้สั่งปิดประชุมเมื่อเวลา 19.00 น.