xs
xsm
sm
md
lg

“งูเห่า” เอฟเฟกต์ เพื่อไทยช้ำสะเทือนทั้งบาง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ผ่านฉลุยไปตามคาดหมายสำหรับญัตติ “ซักฟอก” ของฝ่ายค้าน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับอีก 10 รัฐมนตรี ผ่านการโหวตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแบบไม่ยากเย็นนัก แม้ก่อนหน้านั้น จะมีความพยายามเคลื่อนไหวทำให้เห็นว่าน่าตื่นเต้น แต่ก็จบลงด้วยไม่มีอะไรในกอไผ่

เพราะหากพิจารณาจากสาระสำคัญของการลงมติในครั้งนี้ หากจะให้มีผลทางกฎหมายและส่งผลให้บรรดารัฐมนตรีต้องตกเก้าอี้ก็ต้องมีเสียง “โหวตไม่ไว้วางใจ” เกินกึ่งหนึ่งสมาชิกในสภาผู้แทนฯ ซึ่งก็คือ “ต้องไม่ไว้วางใจเกิน 239 เสียงขึ้นไป” ไม่ใช่ไปนับจากเสียงไว้วางใจ เพราะอย่างหลังถือว่าไม่มีผลทางกฎหมาย แต่อาจมีผลเปรียบเทียบในเรื่องของการได้รับคะแนนเสียงว่ารัฐมนตรีคนไหนได้รับการไว้วางใจมากกว่ากัน

เมื่อพิจารณาจากจำนวนการโหวตลงคะแนน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมาของรัฐมนตรีทั้ง 11 คนมีดังนี้

1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไว้วางใจ 256 เสียงไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

2. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ไว้วางใจ 241 เสียง ไม่ไว้วางใจ 207 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ไว้วางใจ 264 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

4. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ 268 เสียง ไม่ไว้วางใจ 193 เสียง งดออกเสียง 11เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

5. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไว้วางใจ 245 ไม่ไว้วางใจ 212 งดออกเสียง 13 ไม่ออกเสียง 0

6. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไว้วางใจ 262 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

7. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไว้วางใจ 249 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

8. นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไว้วางใจ 244 เสียง ไม่ไว้วางใจ 209 เสียงงดออกเสียง 17 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

9. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังไว้วางใจ 249 เสียง ไม่ไว้วางใจ 204 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

10. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยไว้วางใจ 246 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง

11. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ไว้วางใจ 243 เสียง ไม่ไว้วางใจ 208 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ไม่ออกเสียง 0 เสียง
หากพิจารณาเฉพาะรัฐมนตรีได้รับเสียง “โหวตไม่ไว้วางใจ” มากที่สุด ก็คือ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวนเสียงไม่ไว้วางใจ 209 เสียง ตามมาด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พรรคพลังประชารัฐ ไม่ไว้วางใจ 208 เสียง และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีเสียงโหวตไม่ไว้วางใจ 207 เสียง

อย่างไรก็ดี สำหรับเสียงไว้วางใจก็มีผลในทางการเมืองเช่นเดียวกัน เพราะจะได้เห็นถึงเสียงฝ่ายสนับสนุนว่า ใครได้รับมากน้อยเท่าใด ซึ่งคนที่ได้รับเสียงโหวตหนุนน้อยที่สุดขึ้นมามันก็ย่อมมีแรงกดดันตามมาแน่นอน แม้ว่าจะไม่ตกเก้าอี้ เพราะเสียงไม่ไว้วางใจไม่เกิน 239 เสียง ดังกล่าวนั่นเอง

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือ ในการลงมติคราวนี้ยังมีกรณี “งูเห่า” และเรื่อง “กล้วย” อยู่เช่นเดิม ซึ่งในที่นี้จะโฟกัสเฉพาะบรรดางูเห่าในพรรคฝ่ายค้านเป็นหลัก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคเศรษฐกิจไทย แต่แน่นอนว่า พรรคที่เจ็บปวดมากกว่าใครก็ต้องเป็นพรรคเพื่อไทย เพราะนอกเหนือจากผลของการอภิปรายครั้งนี้ที่ “ไม่สมราคาคุย” ไร้มาตรฐาน สร้างความผิดหวังซ้ำซากหลังจากก่อนหน้านี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจจำนวน 3-4 ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย มีแต่ตกต่ำลงเรื่อยๆ

ข้อมูลหลักฐานที่นำมาประกอบการอภิปราย ก็ล้วนเป็นเรื่องเก่า เป็นข่าวที่ตัดแปะมาจากข่าวประจำวัน ไม่มีข้อมูลใหม่ที่จะเป็นหมัดเด็ดที่สามารถน็อกรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีลงได้เลยแม้แต่น้อย เกือบทั้งหมดล้วนมีแต่การประดิษฐ์ประดอยคำพูด หรือ “คำด่า” ยังใช้วิธีโบราณ มานำเสนอที่หลงคิดเอาเองว่า นี่คือ การเรียกความสนใจจากชาวบ้าน

และที่สำคัญแทนที่จะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐมนตรี ในทางตรงกันข้าม กลับโดนกระแทกย้อนกลับไปหน้าหงายหลายครั้ง โดยเฉพาะย้อนไปถึง “เจ้าของคอก” อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกว่าเจาะ “แผลเก่า” ในเรื่องการทุจริต ที่มีหลักฐาน มีคนติดคุกคาตา เถียงไม่ออก

นอกเหนือจากนี้ หากพิจารณาจากกรณี “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง มีการโหวตสวนมติพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย มีจำนวน 7-8 คน แม้ว่าจะเป็นคนหน้าเดิมๆ คุ้นหน้าคุ้นตาอยู่แล้ว แต่สรุปก็คือคุมเสียงไม่ได้ และพวกนี้ก็ประกาศตัวชัดเจนว่า “ย้ายพรรค” แน่นอน แม้ว่าในการโหวตดังกล่าวจะแตกต่างกันไป ระหว่างรัฐมนตรีแต่ละพรรค และแต่ละคน แต่หากบอกว่าจะ “เด็ดหัวนั่งร้าน” เด็ดหัว “บิ๊กตู่” แต่กลายเป็นว่าพวกเขาโหวตสนับสนุนแกนหลัก ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย หรือ “งดออกเสียง” ให้กับรัฐมนตรีบางคน แต่เอาเป็นว่า ไม่ไปทางเดียวกับมติพรรคเพื่อไทยก็แล้วกัน

นอกเหนือจากนี้ ในกรณีของ งูเห่าจากพรรค “เศรษฐกิจไทย” ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถือว่างานนี้ “เสียรังวัด” ซ้ำสอง หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่ลำปางคาถิ่นอย่างหมดรูป มาถึงการโหวตคราวนี้ กลับมี ส.ส.ในพรรคถึง 4 คน ที่โหวตสวน เพราะจะ “ย้ายพรรค” สะท้อนให้เห็นถึงความ “ถดถอย” ลงไปเรื่อยๆ จากเดิมที่อ้างว่ามี ส.ส.อยู่ในมือไม่ต่ำกว่า 16-18 เสียง แต่เอาเข้าจริงมันคนละเรื่อง อีกทั้งยังแตกหักกับกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็ก เช่น “กลุ่ม 16” ที่แฉเรื่อง “กล้วย” ทั้งก่อนและหลังการโหวต ทำให้ต้องตัดเชือก แยกทางกันเดิน เพราะกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็กโหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตัวเองเคลื่อนไหวโหวตคว่ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ ทำให้สะท้อนให้เห็นว่าเขา “ไม่ใช่ของจริง” ไม่มีบารมีเพียงพอทั้งเรื่องการคุมเสียงพรรคเล็ก ที่ก่อนหน้านี้อ้างว่าเคลื่อนไหวทางเดียวกัน และยังมี ส.ส.ในพรรค เป็นงูเห่าเสียอีก ถือว่า “เสียหน้า” ไม่น้อย

ดังนั้น นาทีนี้แม้ว่าจะไม่สรุปว่าฝ่ายรัฐบาลสอบผ่านในศึกซักฟอกคราวนี้หรือไม่ แต่สำหรับพรรคฝ่ายค้านหลัก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ประกาศ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” เอาเข้าจริงกลับโดน “เอฟเฟกต์” เข้าอย่างจัง นอกจากสอยไม่ลงแล้ว ยังเสียฟอร์มซ้ำซากจาก “งูเห่า” ที่หักหลังซึ่งหน้าไปอีก และที่เจ็บปวดบอบช้ำไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือ “ผู้กองธรรมนัส” ที่วันนี้คงรู้แจ้งแล้วว่า ตัวเองเป็นระดับ “ดาวฤกษ์” ได้หรือไม่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น