xs
xsm
sm
md
lg

“ตั๋วช้าง” ภาค 3 “โรม” แฉแหลกทำไม “ประยุทธ์” ยอมควักงบกลาง 937 ล้าน อุ้ม พล.ต.ต.ก กลบทุจริตกองบินตำรวจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ตั๋วช้าง” ภาค 3 ฉายแล้ววันนี้ “โรม” จัดให้ BIG SURPRISE แฉแหลก ทำไม “ประยุทธ์” ยอมควักงบกลาง 937 ล้าน อุ้ม พล.ต.ต.ก กลบหนี้เน่าทุจริต “กองบินตำรวจ” 900 ล้านบาท ชี้ จงใจยอมเสียเป็นค่าแกล้งโง่

วันนี้ (22 ก.ค.) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ กรณีปล่อยปละละเลยทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจ ทั้งยังมีการยอมให้ใช้ ‘ตั๋วช้าง’ อีกประเภทหนึ่งเป็นเกราะกำบังเพื่อไม่ให้ใครหรือหน่วยงานใดกล้าตรวจสอบได้

นายรังสิมันต์ กล่าววว่า คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.ต.ต.ก หรือชื่อจริงคือ กำพล กุศลสถาพร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ (บ.ตร.) โดยระหว่างนั้น ได้ดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ตามงบประมาณปี 2563 จำนวนกว่า 950 ล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2564 การบินไทยได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงทำให้พบว่า กองบินตำรวจ โดย พล.ต.ต.กำพล และพวก ได้สั่งจ้างสั่งซื้อเพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่วางไว้ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโครงการเป็นจำนวนถึง 2,774 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของทั้งหมดนี้ กองบินตำรวจไม่สามารถเบิกจากคลังมาจ่ายได้ และกว่า 784 ล้านบาท ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินเลย เช่น ซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท หรือซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบกลับถูกเตะถ่วง ทำให้ล่าช้า และทำซ้ำไปมา ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบครั้งแรก เริ่มต้นจากการเสนอเรื่องให้ ผบ.ตร. สั่งให้จเรตำรวจตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในเดือนมีนาคม 2564 แต่กลับใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงจะสามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ และเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2564

“ทว่า ภายหลังกระบวนการตรวจสอบโดยจเรตำรวจสิ้นสุด กลับมีคำสั่งให้ส่งเรื่องไปกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่อีก ขนาดว่าทางกองบินตำรวจทวงถามเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีคำตอบกลับมาว่ายังร่างคำสั่งไม่เสร็จ และกว่าจะได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่กันจริงๆ คือ ช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าตั้งมาแล้วผ่านไปอีกหนึ่งเดือนก็ยังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนตัวกรรมการไม่เลิก” นายรังสิมันต์ ระบุ

นายรังสิมันต์ ยังได้ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของตำรวจ ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ สตช. ทำหนังสือขอความช่วยเหลือมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามท้ายหนังสือรับทราบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยังปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หน่วงเวลาจนกระทั่งกรมบังคับคดีซึ่งดูแลเรื่องการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยส่งหนังสือทวงหนี้ 1,824 ล้านบาท มายัง สตช. อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะปฏิเสธหนี้ก้อนนี้ได้ เพราะตามขั้นตอน สตช. มีเวลาในการปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน แต่ สตช. กลับล่าช้าทำหนังสือปฏิเสธหนี้ตอบกลับไปเกินเวลาที่กำหนด ทำให้ สตช. ต้องชำระหนี้การบินไทยเป็นจำนวนถึง 937 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่หนี้ลดลงจากเดิม เนื่องจากทางตำรวจไปขอต่อรองกับการบินไทยให้ยกเลิกรายการบางส่วนที่ยังไม่ได้รับพัสดุมาได้

“ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงใช้วิธีอนุมัติงบกลางเพื่อใช้หนี้ใน วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และในวันที่ 12 เมษายน 2565 ครม.ก็อนุมัติอีกที รวมถึงยังอนุมัติให้ สตช. สามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในงบประมาณปี 2563 ด้วย มตินี้จึงเหมือนเป็นทั้งการฟอกขาวให้ไปในตัว ทั้งยังนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายให้กับการทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจอีกด้วย”


นายรังสิมันต์ ยังอภิปรายต่ออีกว่า นอกจากการสั่งซื้อสั่งจ้างเกินกว่างบที่วางไว้แล้วเอาภาษีประชาชนไปจ่ายแทนแล้ว ยังมีอีกกรณีทุจริตจากการที่ พล.ต.ต.กำพล ไปทำสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมเอาอะไหล่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ชุด ซึ่งในเรื่องนี้จาก คำสั่ง ตร. ระบุว่าตำแหน่งระดับผู้การกองบินมีอำนาจอนุมัติวงเงินได้แค่ 5,000,000 บาทเท่านั้น หรือในระเบียบกระทรวงการคลัง ระบุไว้ว่าวงเงินต้องไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อมีการประเมินราคาของที่ พล.ต.ต.กำพล นำไปแลกจำนวนทั้งหมด 6,622 ชิ้น นั้นพบว่า ราคารวมกันสูงถึง 1,157 ล้านบาท และในจำนวนนี้ยังพบด้วยว่ามีคำสั่งให้เอาอะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 3 ลำ อีก 21 ชิ้น ไปยำรวมกับเศษเหล็กด้วย โดยอะไหล่ดังกล่าวที่สวมเข้ามาในบัญชีแลกเปลี่ยนนี้ยังใช้งานได้ทั้งหมด ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 111,000,000 บาท แต่เมื่อนำไปยำรวมกับเศษเหล็กมูลค่าจึงเหลือเพียง 2,500,000 บาทเท่านั้น และกรณีนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบก็มีการเตะถ่วง ตั้งคณะกรรมการสอบวนไปวนมาเช่นเดิม

นายรังสิมันต์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า จากพฤติกรรมที่ส่อทุจริตในกองบินตำรวจมีความชัดเจนทั้ง 2 กรณี และพล.อ.ประยุทธ์ รู้ปัญหาดีมาตลอดเพราะเป็นผู้เซ็นรับทราบด้วยตัวเอง แต่กลับไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อ พล.ต.ต.กำพล เลย ไม่มีแม้กระทั่งการถูกพักงาน จึงทำให้ตนเกิดความสงสัยและไปตรวจสอบต่อว่าเป็นเพราะเหตุใด บุคคลนี้ใหญ่มาจากไหน ทำไมจึงไม่มีใครแตะต้อง จนได้ไปพบข้อมูลว่า พล.ต.ต.กำพล มีฐานะเป็น ผบ. ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ.เดโชชัย 5 ที่ตั้งขึ้นตามแผนถวายความปลอดภัยใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“ในช่วงที่ พล.ต.ต.กำพล จะต้องย้ายเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง ได้มีการทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ เนื้อหาระบุว่า ตนเคยเป็นผู้บังคับการกองบินตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่นักบินเฮลิคอปเตอร์และผู้อำนวยการเดินทางถวาย แต่กำลังจะถูกย้ายไปอยู่หน่วยอื่น ถ้ามีพระประสงค์จะให้ปฏิบัติงานต่อ จักได้ดำเนินการต่อไป ต่อมาจึงมีหนังสือ รล.0010/5116 ตอบกลับจากสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ซึ่งตอนนั้น พล.ต.ต.กำพล ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ อยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

ทว่า หลังจากได้หนังสือตอบจากสำนักราชวังให้ปฏิบัติงานต่อตามที่ขอได้ สตช. จึงออกเอกสารที่มีชื่อว่า ‘แผนถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ’ เซ็นอนุมัติไว้ท้ายเอกสาร โดย พล.ต.ท.สุทิน ทรัพย์ม่วง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. สาระสำคัญคือระบุถึงการจัดตั้ง ศปก.ถปภ.ขบวน ฮ. เดโชชัย 5 หรือ ศูนย์เดโชชัย 5 มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ โดยให้มีอำนาจสั่งการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในการจัดเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า และยังกำหนดให้กองบินตำรวจ ต้องคอยรับผิดชอบและปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายมาจาก ผอ. ศูนย์ปฏิบัติการฯ ซึ่ง ผอ. ที่ว่านี้ก็คือ พล.ต.ต.กำพล อย่างไรก็ตาม ตามโครงสร้างปัจจุบัน มีเพียงกองบินตำรวจเท่านั้นที่ขึ้นตรงกับ สตช. ไม่มีชื่อศูนย์นี้ระบุไว้ว่าสังกัดหน่วยงานใด จึงเป็นคำถามว่าศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจอำนาจตามกฎหมายอะไรและทำไมจึงสั่งการกองบินตำรวจได้


นายรังสิมันต์ ตั้งคำถามต่อไปว่า กรณีนี้จึงเหมือนเป็นการเอาหนังสือจากสำนักพระราชวังมาอ้าง โดยบอกว่า เพื่อวางแผนถวายความปลอดภัยฯ แบบนี้จึงเท่ากับ ‘ตั๋วช้าง’ อีกประเภทหนึ่งใช่หรือไม่ และคนที่เซ็นออกแผน ก็คือ เพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ต.ต.กำพล เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อนให้มีวิธีอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสั่งการกองบินตำรวจเช่นเดิมได้

“มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ หายไปไหน ทำไมจึงปล่อยให้ทำสิ่งต้องห้าม ไปนำสถาบันมาเป็นเกราะกำบังเพื่อสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพราะเมื่อได้ตั๋วมาแล้วคงไม่มีใครกล้าตรวจสอบแน่ โดยผลกระทบจากกรณีนี้อย่างน้อยมี 2 ประการ หนึ่ง พล.ต.ต.กำพล ที่ต้องขาดจากตำแหน่งเดิมตามข้อบังคับ สามารถเอาตำแหน่ง ผอ.กองบินเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์และผู้อำนวยการเดินทางถวาย ซึ่งเป็นตำแหน่งของกองบินตำรวจมาเป็นตำแหน่งติดตัว โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของตำรวจอย่างไรก็ได้ เพราะถ้ามีตั๋วก็ทำได้หมด”

“สอง ไม่มีความปลอดภัย เพราะเมื่อ พล.ต.ต.กำพล ถูกย้ายไปอยู่ในหน่วยที่ไม่ต้องทำการบินแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพตามระเบียบ จึงเท่ากับขาดคุณสมบัติในการเป็นนักบินและทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ต้องตกอยู่ในอันตราย นั่นจึงหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ บกพร่องที่สุดในการถวายความปลอดภัย เพราะได้ถวายนักบินเถื่อนไม่ตรวจสุขภาพทำการบินใช่หรือไม่”


นายรังสิมันต์ อภิปรายต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือบุคคลสำคัญที่สุดที่เป็นผู้สานต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดวัฒนธรรมทุจริตแล้วได้ดิบได้ดี ให้แผ่ไพศาลไปทั่วทุกระบบราชการ ไม่ใช่แค่ตำรวจ แต่รวมทั้งทหาร, ครู, ศาล, อัยการ และราชการอื่นๆ ใดๆ ทั้งหมดทั้งปวง ฉุดลากเอาระบบราชการของประเทศนี้ที่ตกต่ำอยู่แล้วให้ตกต่ำลงไปอีก ในแบบที่ไม่อาจเห็นได้เลยว่าก้นบึ้งของความตกต่ำนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ตรงไหน จึงหวังว่าการอภิปรายของตนรอบนี้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สำเหนียกว่าตัวเองไม่คู่ควรอีกแล้วที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศจากนี้และตลอดไป แล้วจงพิจารณาตัวเอง ไสหัวของท่านออกไปเสีย

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นการทุจริตในกองบินตำรวจ และการใช้งบกลางมาจ่ายค่าโง่แล้ว ในการอภิปรายช่วงต้น รังสิมันต์ยังได้ทวงถามความเป็นธรรมให้กับตำรวจราบ 509 นาย ที่เคยอภิปรายไปเมื่อปี 2564 โดยระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 นาย ด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม

“เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ตำรวจราบต้องเจอกับสิ่งที่พวกเขาบอกเองว่านี่ไม่ใช่การรับราชการ แต่มันคือเงามืด ที่ไม่รู้ว่าชีวิตต้องเจออะไรบ้าง ในขณะที่คนที่สั่งการให้พวกเขาต้องมาอยู่ตรงนี้ อย่าง ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย กำลังจะได้เกษียนไปนอนกินบำนาญใช้ทรัพย์ศฤงคารที่สะสมมา ส่วนตำรวจอีกนายที่เคยรับปากว่ามาอยู่กับพี่ 2 ปี เดี๋ยวให้ย้าย ตอนนี้มีแววว่ากำลังจะไปเป็นรอง ผบ.ตร. และ ผบ.ตร. ต่อในอนาคต ปล่อยให้ 507 คน ที่เหลือยังติดแหง็กอยู่อย่างนี้

“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีหัวจิตหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ยังมีความเห็นอกเห็นใจต่อตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านี้เหลืออยู่บ้าง ก็จงสั่งการออกมาเสียที อย่างน้อยถามความสมัครใจว่าตำรวจราบคนใดอยากโอนย้ายกลับไปหน่วยงานเดิม ต้นสังกัดเดิม นี้คือขั้นต่ำสุดแล้วที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะสามารถให้กับพวกเขาได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

ทั้งนี้ การอภิปรายตั๋วช้างภาคแรกของรังสิมันต์คือ เรื่องราวของตำรวจเลวที่อ้างสถาบันแล้วได้ดี ส่วนการอภิปรายตั๋วช้างภาค 2 คือด้านตรงข้ามเพราะการเป็นตำรวจดีกลับต้องลี้ภัย ขณะที่ตั๋วช้างในครั้งนี้คือเรื่องราวของตั๋วอีกชนิดที่หากได้มาแล้ว ต่อให้เป็นตำรวจที่มากด้วยข้อครหาก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ดิบได้ดีไม่มีใครเอาผิดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น