“ปานเทพ” แจง 10 ข้อ ทำไม “กัญชา” ประโยชน์ของประชาชนในชาติต้องมาก่อน หยุดผูกขาดเฉพาะกลุ่มทุนแพทย์ และกลุ่มทุนยาข้ามชาติ
วันนี้ (18 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โฆษกและกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ระบุว่า ตามที่เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด นำโดย นายแพทย์ชาตรี บานชื่น กรรมการอิสระ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะอดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ อดีตกรรมการแพทยสภา ได้มีจดหมายเปิดผนึกขอชี้แจงทำความเข้าใจต่อกรณีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดในเวทีโลก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 นั้น เนื่องจากเป็นการอธิบายต่อกรณีที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กไปนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุว่าประเทศไทยกำลังขัดหรือแย้งต่อมติเสียงข้างมากในองค์การสหประชาชาติ จึงขอชี้แจงทำความเข้าใจดังต่อไปนี้
ประการแรก เนื่องจากคำอธิบายของเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้มีการโพสต์ช่วงแรก แต่ผู้เขียนเมื่อทำการตรวจสอบแล้วยังมีการปรับแก้ไขจึงทยอยปรับปรุงแก้ไขจนแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 14.00 น.ของวันเดียวกัน (อ่านรายละเอียด >> https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=585670699593301&id=100044511276276)
ดังนั้น ถึงแม้เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด จะเลือกนำเสนออธิบายตอบโต้บทความของผู้เขียนในช่วงเวลาที่ยังแก้ไขบทความปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ แต่ผู้เขียนก็ขออภัยและขอน้อมรับความเข้าใจผิดของเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดนั้นไว้แต่เพียงผู้เดียวเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…สภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใด
ซึ่งหากได้พิจารณาแล้วบทความที่แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว ข้อทักท้วงทั้งหลายส่วนใหญ่ในจดหมายดังกล่าวนั้นได้มีทำการปรับปรุงแก้ไขในโพสต์เดียวกันแล้ว ก่อนที่เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดจะได้ทำจดหมายแล้วเสร็จมาเผยแพร่เสียอีก
ประการที่สอง การที่ นายทีโดรส อัดฮานมอ กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ทำหนังสือถึง นายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 เสนอปลดล็อก “ช่อดอก” และ “ยางกัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดตารางที่ 4 (Schedule IV) เป็นเรื่องจริง โดยในหนังสือดังกล่าวนี้องค์การอนามัยโลกไม่ได้กล่าวถึงการย้ายให้ “ช่อดอก” และ “ยางกัญชา” ไปเป็นยาเสพติดประเภทอื่นใดทั้งสิ้น ปรากฏเอกสารตามลิงค์อ้างอิง [1] โดยมีการเสนอข้อความว่า
(ช่อดอกที่มียาง) กัญชา และ ยางกัญชา ให้ลบออกจากยาเสพติดตารางที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961
โดยใช้ภาษาอังกฤษว่า “Cannabis and Cannabis resin to be deleted from Schedule IV of the Single Convention on Narcotic Drugs (1961)”
ประการที่สาม การที่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 นั้น เป็นผลจากการประชุมของ “คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด” ขององค์การอนามัยโลก หรือ Expert Committee on Drug Dependence (ECDD) โดยได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561
ย่อมแสดงให้เห็นว่า “คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด” องค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพเล็งเห็นแล้วว่าการปลดล็อก “ช่อดอก” และ “ยางกัญชา” มีน้ำหนักเป็นคุณประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ก็ยังมีข้อเสนอให้มีการควบคุมสารสกัด THC (หรือสารที่ทำให้เมา)ให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ (Schedule I) ในขณะที่สารสกัดของกัญชงที่ชื่อ CBD ที่มีองค์ประกอบของสาร THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 ไม่เป็นยาเสพติดที่ต้องถูกควบคุมระหว่างประเทศ (ซึ่งประเทศไทยเลือกแนวทางตามนี้เช่นกัน)
ประการที่สี่ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2563 คณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ (UN Commission on Narcotic Drugs) ได้พิจารณาแล้วลงมติเสียงข้างมาก 27 เสียงต่อ 25 เสียงว่าให้กัญชา และยางกัญชาออกจากยาเสพติดตารางที่ 4 (ควบคุมความรุนแรงในระดับเฮโรอีน) แต่ยังคงให้กัญชาอยู่ในยาเสพติดตารางที่ 1 คือ กลุ่มยาที่ใช้ในทางการแพทย์ได้ เช่น มอร์ฟีน เฟนตานิล
แม้จะแสดงให้เห็นว่ามติทั้งหมดของวันที่ 2 ธันวาคม 2563 โดยคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ (UN Commission on Narcotic Drugs) จะไม่สอดคล้องไปกับ “คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด” องค์การอนามัยโลกเสียทีเดียว
แต่ก็แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ ได้เล็งเห็นประโยชน์และคุณค่าในการบำบัดรักษาของกัญชามากกว่าเดิม จึงยอมได้ถอนออกจากตารางกัญชาออกจากกลุ่มยาเสพติดร้ายแรงในตารางที่ 4 (กลุ่มเดียวกับ เฮโรอีน) แต่ยังคงกัญชา ยางกัญชา และสารสกัด เป็นยาเสพติดใน ตารางที่ 1 ที่เป็นยารักษาโรคในกลุ่มเดียวกับ มอร์ฟีน และ เฟนตานิล ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติลดระดับความร้ายแรงของกัญชาอย่างชัดเจนเป็นลำดับแล้ว
แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็อาจจะทำให้การโจมตีกัญชาอาจเพิ่มมากขึ้นเป็นขบวนการเพราะกลายเป็นคู่แข่งยาแก้ปวดบางประเภทเช่นกัน โดยเฉพาะการขัดขวางไม่ให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ และต้องให้ผลประโยชน์ของกัญชาถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนแพทย์และกลุ่มทุนบริษัทยาบางแห่งเท่านั้น เพราะในหลายประเทศ พบว่า ในประเทศที่มีการให้กัญชามาใช้กับผู้ป่วยจะสามารถช่วยลดการติดการใช้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์เสพติดรุนแรง หรือลดยาออกฤทธิ์ทางจิตประสาทรุนแรงได้
ประการที่ห้า สำหรับการดำเนินนโยบายให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดของประเทศไทยนั้น เป็นไปตามมติของผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เห็นชอบกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ไม่ปรากฏชื่อ “กัญชา” เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทใดๆ ด้วยจำนวนคะแนนทั้งส้ิน 467 เสียง โดยไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว
ประการที่หก ต่อมาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย ได้เห็นชอบให้ถอดกัญชาทุกส่วนออกจากยาเสพติดให้โทษ คงเหลือแต่สารสกัดของกัญชาที่มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ที่ยังคงเป็นยาเสพติด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ก็เป็นแนวทางเดียวที่ภาครัฐดำเนินตามคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด ขององค์การอนามัยโลกเช่นเดียวกัน
ประการที่เจ็ด ถึงแม้ประเทศไทยโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจะได้ถอดช่อดอกกัญชาออกจากยาเสพติดแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการควบคุมใดๆ เพราะร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. ของพรรคภูมิใจไทยสำหรับการควบคุมกัญชาและกัญชงนั้นได้ถูกเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ดังนั้น จึงเป็นหลักประกันว่าแม้จะไม่เรียก “กัญชา” ว่า “ยาเสพติด” แต่ก็ยังมีมาตรการควบคุมกำกับดูแลทั้งการปลูก การนำเข้า การส่งออก การผลิต การจำหน่าย ฯลฯ รวมถึงบทลงโทษตามแนวทางอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงเวลาการรอการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…. นี้ จะเกิดสุญญากาศทางกฎหมาย แต่ก็อยู่ในวิสัยที่จะสามารถอธิบายต่อคณะกรรมการยาเสพติดระหว่างประเทศได้ เพราะประเทศไทยได้เคยผ่านช่วงเวลาลงทะเบียนนิรโทษกรรมผู้ใช้กัญชาใต้ดินในช่วงสุญญากาศเริ่มแรกที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาแล้วเช่นกัน
ประกอบรัฐบาลได้มีมาตรการให้ข้อมูล ความรู้และการประยุกต์กฎหมายอื่นๆ มาบังคับใช้ชั่วคราวเพื่อบรรเทาผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนที่ได้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนมีความระมัดระวังการใช้กัญชา โดยช่วงเวลาสุญญากาศทางกฎหมายนี้จะยุติได้ในเวลาอีกไม่นาน เมื่อมีการประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชงแล้ว
ประการที่แปด แม้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 จะยังคงให้ใช้กัญชาทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายประเทศได้ดำเนินการไปมากกว่านั้นถึงขั้นการ “ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ” มานานมากแล้ว เช่น แคนนาดา หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อุรุกวัย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ฯลฯ
ย่อมแสดงให้เห็นว่า แต่ละประเทศซึ่งมีเอกราชของตัวเอง มีสิทธิที่จะดำเนินนโยบายประเทศของตัวเองด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปเพื่อประโยชน์ของประเทศตนเอง และบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ที่มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการอย่างมีการควบคุมเกิน 46 ปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ก่อปัญหาความรุนแรงหรือถูกคว่ำบาตรในเวทีระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน
ประการที่เก้า สำหรับประเทศไทยได้ปรากฏว่ามีความแตกต่างจากต่างชาติ เพราะมีประวัติศาสตร์การใช้กัญชาในทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน มีประวัติศาสตร์การใช้กัญชาประกอบอาหารทางวัฒนธรรมอย่างปลอดภัย อีกทั้งยังมีการแพทย์แผนไทยซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าว่ามีตำรับยาที่เข้าตัวยากัญชาจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีตำรับยาเข้ากัญชาขึ้นทะเบียนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาว่าเป็นตำรับยาแผนไทยของชาติมากกว่า 162 ตำรับ และยังไม่นับกรณีที่มีการใช้ในการแพทย์พื้นบ้าน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่แพทย์กีดกันการใช้กัญชาในประเทศไทย ประชาชนและครอบครัวผู้ป่วยได้เรียนรู้ในการทำและใช้กัญชาใต้ดินเพื่อรักษาตัวเองอีกจำนวนมาก
โดยจากการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตำรับยาเข้ากัญชา และน้ำมันกัญชาที่ใช้ในประเทศไทยที่ผ่านมานั้น สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้มาก องค์ประกอบเหล่านี้จึงทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการของตัวเองเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ที่มีความแตกต่างจากชาติอื่น
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในชาติให้มากกว่า การผูกขาดผลประโยชน์กัญชาเอาไว้แต่เฉพาะกลุ่มทุนทางการแพทย์หรือบริษัทยาใด
ประการที่สิบ ปัญหาของประเทศไทยเครื่องดื่มแอลกอฮอลนั้นอาจจะร้ายแรงยิ่งกว่ากัญชา ทั้งในมิติการเสพติดสุราที่ง่ายแล้ว ยังก่อให้เกิดการทำร้ายร่างกายและทะเลาะวิวาทหรือก่ออาชญากรรมในสังคมได้ซึ่งตรงกันข้ามกับกัญชาอย่างมาก ดังนั้นหากจะมีการควบคุมการก่อความรุนแรงในสังคมก็ควรจะเน้นการควบคุมสุราให้มากกว่ากัญชาหรือไม่ ในขณะที่บุหรี่ซึ่งเสพติดง่ายกว่ากัญชาแต่ก็ก่อให้เกิดแต่โทษต่อสุขภาพอย่างมาก ซึ่งต่างจากกัญชาที่ยังเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายมิติ ด้วยเหตุผลนี้จึงไม่มีความสมเหตุผลที่จะควบคุมกัญชาให้เข้มข้นเกินเลยไปกว่าสุราและบุหรี่ไปมากได้
ในทางตรงกันข้ามหากมีการบริหารจัดการที่ดี กัญชา จะเป็นสมุนไพรสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาการติดบุหรี่ ติดสุรา และติดยาบ้าได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับตำรับยาไทยที่ใช้กัญชาและกระท่อมในการอดฝิ่นในอดีต ดังนั้น ในที่สุดแล้วกัญชาก็อาจจะขัดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสุราและยาเสพติดอื่นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น หากนักวิชาการทุกภาคส่วนช่วยกันให้ข้อมูลประชาชนในการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง และไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ย่อมจะช่วยประชาชนให้พึ่งพาตัวเองในด้านสุขภาพได้มากขึ้นในที่สุดต่อไป
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
โฆษกและกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….
18 กรกฎาคม 2565