xs
xsm
sm
md
lg

“พนิต” ยก “ชัชชาติ” กล้าล้างบางวัฒนธรรมหักหัวคิว กทม.หลังใช้นโยบาย Open Data สร้างระบบตรวจสอบให้ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พนิต” ยก “ชัชชาติ” กล้าล้างบางวัฒนธรรมหักหัวคิว กทม. หลังใช้นโยบาย Open Data สร้างระบบตรวจสอบให้ปชช. แนะ รัฐบาลเดินตามเชื่อตัดตอนคอร์รัปชันได้

วันที่ 15 ก.ค. นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์ เรื่อง “นโยบาย Open Data ล้างวัฒนธรรมหักหัวคิว สร้างการตรวจสอบให้กับประชาชน” ว่า จากโพสต์ก่อนหน้า ผมได้พูดถึง การเปลี่ยนผู้ว่าฯ กรุงเทพ จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกรุงเทพ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เข้า มาใช้และบริหารงานในกรุงเทพ เช่น การเปิดเผยข้อมูลงบฯ ขึ้นแสดงบน Website และการนำแอป Traffy Fondue มาใช้ในการร้องเรียนปัญหา

ขอชื่นชมท่าน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้นำนโยบาย Open Data ข้อมูลงบฯ ขึ้นแสดงบน Website ซึ่งไม่เคยมีผู้ว่าฯ คนไหนทำมาก่อน และนโยบายนี้ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้เป็นอย่างดี ประชาชนจะเข้ามาตรวจสอบว่าภาษีที่จ่ายไปใช้ไปกับอะไรบ้าง และนโยบายนี้จะล้างบางวัฒนธรรมหักหัวคิว ของการเมือง กทม. ได้

ย้อนกลับไปในสมัยที่ตนเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. เมื่อราวประมาณ 17 ปีที่แล้ว ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมืองครั้งแรกในสนามของ กทม. คือ การเป็นรองผู้ว่าฯ บนความท้าทายและความใหม่ของผม ได้มองเห็นวัฒนธรรมการหักหัวคิว ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง, การล็อกสเปก หรือแม้กระทั่งการเก็บเปอร์เซ็นต์

ปัจจุบัน โลกมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเองก็มีการตื่นตัวและมีความพร้อมในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเอง การที่มีนโยบาย Open Data โดยการนำข้อมูลงบประมาณขึ้นแสดงบน Website จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ทั้งของข้าราชการประจำ หรือข้าราชการการเมือง จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร สิ่งเหล่านี้จะเป็นการล้างบาง และจะทำให้การเมือง กทม.สะอาดขึ้น และหาก ส.ก.บริสุทธิ์ใจ ก็ควรสนับสนุนนโยบาย Open Data ให้เกิดขึ้นทั้งใน กทม. และเขต เช่นกัน

แต่นโยบาย Open Data ไม่ควรเกิดขึ้นแค่กรุงเทพ แต่ควรสะท้อนและเป็นบทเรียนให้รัฐบาล ต้องมองให้เห็นประโยชน์ในยุค Digital ให้ได้มากว่าแค่เป็นเครื่องมือในการทํา PR แต่ควรนำมาใช้สร้างความโปร่งใสในทำงาน ซึ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ และสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการขจัดการเมืองแบบเก่า และช่วยกันในการตัดตอนคอร์รัปชันในประเทศได้
“หาก กทม. หรือ จังหวัด รวมถึงรัฐบาล ในประเทศไทยมีการจัดทำนโยบาย Open Data วัฒนธรรมการหักหัวคิว ก็จะโดนทลายออกไปจากการเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับระบบราชการ และระบบการเมือง ซึ่งเป็นก้าวเเรกในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการใช้ภาษี และงบประมาณได้อย่างแท้จริง” นายพนิต กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น