สืบสานแนวพระดำริ ‘เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ กระทรวงมหาดไทยจัดกิจกรรมแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ชิงรางวัลพระราชทาน ประจำปี 2565
วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.00 น. ที่ ชั้น 1 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ดร ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย/ผู้แทนคณะกรรมการประกวดผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา ร่วมกันแถลงข่าวการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ภายใต้โครงการจัดแสดงและเชื่อมโยงการตลาดภูมิปัญญาผ้าไทย “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า นับเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหา-กรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2498 ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มีพระราชดำริว่าควรจะมีการนำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้เกิดรายได้แก่ราษฎร ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้ ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์ เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาขยายผลจัดทำเป็นโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ One Tambon One Product (OTOP) และกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการสานต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และจัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ขึ้นทั้งยังได้ผลักดันมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการดังกล่าว โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวันเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงออกแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ”ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย ซึ่งแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง และเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2565 ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้พระราชทานลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้แก่ช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิค ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการส่งมอบแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับกลุ่มทอผ้าใน 76 จังหวัด เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดี ของพวกเราพสกนิกรชาวไทยทุกคน ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริมให้พี่น้องคนไทยรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มศิลปาชีพ โดยนำเอาภูมิปัญญา ฝีไม้ลายมือ ที่บรรพบุรุษถ่ายทอด ผลิตเป็นงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมมากมาย และมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมทักษะและต่อยอดแนวคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ทั่วประเทศ และทรงเน้นย้ำถึงการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเป็นการสนองพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งตลอดมา และโดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน สนองพระราชปณิธานส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย สืบสานภูมิปัญญาและอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ และผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ดำเนินการเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเฉพาะผ้าไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญา การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น เป็นการสร้างคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น เป็นการสร้างคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม พัฒนาศักยภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ในการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สามารถขยายตลาดสู่ระดับสากลโดยได้รณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยให้กับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี โดยให้จังหวัดต่าง ๆ ทั้ง 76 จังหวัด ได้ศึกษาและค้นหาเอกลักษณ์ผ้าพื้นเมืองของจังหวัดเพื่อออกแบบและพัฒนาเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด อาทิ ผ้าลายกาบบัว จังหวัดอุบลราชธานี ผ้าลายหงส์ในโคม จังหวัดเชียงใหม่ และผ้าลายพิกุลพลอย จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าประจำจังหวัดต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงการผสมผสานอัตลักษณ์ความหลากหลายของเชื้อชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม วิถีชีวิตและเป็นมนต์เสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรมคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินต่อไป
ดร.วันดี กล่าวต่อว่า จากการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก (Global Summit of Women) ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 23-25 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ร่วมสนับสนุนจัดงานด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการผ้าไทยที่มีแรงบันดาลใจและจุดเริ่มต้นจากการส่งเสริมบทบาทของสตรี ได้แก่ 1) ร้าน “ขวัญตา Khwanta จังหวัดหนองบัวลำภู โดย “น้องอ๋อย สุมามาลย์ เต๊จ๊ะ” ซึ่งมีความตั้งอกตั้งใจและความใฝ่ฝันที่มีแรงปรารถนา (Passion) ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการทอผ้าไทย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนหนองบัวลำภูต่อจากคุณยายและคุณแม่ จากการได้สัมผัสด้วยตนเองตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เกิดความรัก ความหลงใหลและความผูกพัน นำต้นทุนที่ได้รับเหล่านั้น มาต่อยอดผ้าทอและเทคนิคการด้นมือ ประยุกต์เข้ากับดีไซน์สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว สร้างความโดนใจให้กับลูกค้าทั้งตลาดชาวไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เปิดวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพี่น้องสตรีในจังหวัดหนองบัวลำภูและ 2) ร้านผ้าไหมสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยคุณอี๊ด- อดุลย์ มุลละชาติ เจ้าของผ้าทอแบรนด์ “ผ้าไหมสมเด็จ” (SILKSOMDET) ที่เกิดแรงบันดาลใจและความตั้งใจในการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยในชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทอผ้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ การจำหน่ายสินค้า โดยไม่จำกัดอายุและความสามารถ เป็นการต่อยอดแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นแต่ไม่ลืมรากเหง้า ซึ่งไม่เพียงช่วยต่ออายุลมหายใจให้กับผู้สูงอายุในชุมชน แต่ยังสามารถประกอบอาชีพจากภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อย่างเต็มภาคภูมิและยังทำให้ผ้าไหมทอมือแห่งบ้านสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่รู้จักมากขึ้น
นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางและเกณฑ์การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ประจำปี 2565 โดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้าทั่วไป ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ที่นำแบบผ้าลายพระราชทาน ไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยมีเงื่อนไขการส่งผ้าเข้าประกวด คือ ผู้ส่งผ้าลายพระราชทานเข้าประกวดให้ส่งตามภูมิลำเนาที่ผลิตผ้า และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือเท่านั้น เส้นใยที่ใช้ทอ หรือผลิตผ้า เป็นเส้นใยไหมพันธุ์พื้นบ้าน หรือฝ้ายเข็นมือ หรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ (ไหมพันธุ์พื้นเมือง) หรือเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ ใช้สีธรรมชาติ โดยผู้สมัครส่งผลงานผ้า พร้อมแนวคิดในการทำบรรจุภัณฑ์ (packaging) และเรื่องเล่า (storytelling) และเมื่อชิ้นงานผ่านเข้ารอบการประกวดระดับประเทศ ผู้สมัครต้องส่งผลงาน พร้อมบรรจุภัณฑ์จริง (packaging) และเรื่องเล่า (storytelling) มาเพิ่มเติม ฯลฯเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่กรมการพัฒนาชุมชน
ประเภทผ้าลายพระราชทานที่ส่งเข้าประกวด แบ่งเป็น 14 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ โดยต้องมีองค์ประกอบหลักของลายพระราชทานครบถ้วน และประเภทงานหัตถกรรม เช่น งานเซรามิก งานจักสาน ฯลฯ ที่นำลายพระราชทานมาต่อยอดที่มีความโดดเด่น และยอดเยี่ยมในการจัดประกวดผ้าลายพระราชทาน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับภาค และระดับประเทศ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน ระดับภาคซึ่งจะดำเนินการจัดประกวดในระดับภาคในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2565 โดยคณะกรรมการ นำผ้าที่ได้รับจากระดับจังหวัดมาจัดประกวดระดับภาคและจะคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ จำนวน 300 ผืน และคงเหลือ จำนวน 150 ผืน เพื่อดำเนินการบันทึกภาพจัดทำหนังสือ ตามลำดับ ซึ่งการจัดประกวดในระดับภาคในครั้งนี้ กำหนดพื้นที่ดำเนินการเป็น 4 ภาค 4 จุด ประกอบด้วย
ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2565
- ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2565
- ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2565
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2565
และระดับประเทศ โดยคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ เดือนตุลาคม 2565 และคัดเลือกผ้า จากจำนวน 150 ผืนให้คงเหลือ จำนวน 50 ผืน ซึ่งรอบตัดสินระดับประเทศ (Final) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เสด็จมาเป็นองค์ประธานการประกวด
นายธนันท์รัฐ กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนระดับภาค/ประเทศ โดยแบ่งเป็น 14 ประเภท ดังนี้
1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ
2) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป
3) ผ้าขิด
4) ผ้าจก
5) ผ้ายก /ยกเล็ก (ไหมยกดิ้น)
6) ผ้ายกแบบมีสังเวียน ไหมยกไหม หรือ ไหมยกดิ้นที่มีสังเวียน
7) หมี่ข้อ/หมี่คั่น
8) ผ้าเกาะ/ล้วง
9) ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม
10) ผ้าแพรวา
11) ผ้าซิ่นกลุ่มชาติพันธ์ลาวเวียง ลาวครั่ง
12) ผ้าเทคนิคส
13) ผ้าปัก
14) ผ้าเทคนิคผสมเทคนิคพื้นเมือง
14.1) โสร่ง/ผ้าขาวม้า
14.2) ผ้าลายลูกแก้ว
14.3) ผ้าหางกระรอก
14.4) ผ้ากาบบัว
14.5) เกล็ดเต่า/ราชวัตร
14.6) ผ้าพื้นเมืองอื่น ๆ