xs
xsm
sm
md
lg

“อัษฎางค์” โต้ “อมธ.” เผยที่ตั้ง “ธรรมศาสตร์” ถูก “หักคอ” เท่ากับ “พระราชทาน” หลังอ้าง “ซื้อ” โดยลงมติของสภาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปัจจุบัน จากแฟ้ม
โต้ละเอียดยิบ! “อัษฎางค์” เผยที่ตั้ง ม.ธรรมศาสตร์ เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังปฏิวัติ 2475 ถูก “หักคอ” เอาโดยคณะราษฎร เท่ากับ “พระราชทาน” ทางอ้อม ก่อนหน้านี้  อมธ.เปิดหลักฐานการ “ซื้อ” โดยมติของสภาฯ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (11 ก.ค. 65) เฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ประเด็น “ที่ดินธรรมศาสตร์ ที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คณะราษฎร หักคอ ซื้อมา”

เนื้อหาระบุว่า “องค์การนักศึกษา มธ. ต้องการอะไร อยู่ๆ ก็ประกาศเรื่องนี้ทำไม ที่สำคัญ จะบอกว่า เงินซื้อที่ดิน เป็นเงินของ อ.ปรีดี หรือ ? นี่องค์การนักศึกษา กำลังจะบอกว่า อ.ปรีดี คอร์รัปชัน หรืออย่างไร เพราะก่อนทำปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง อ.ปรีดี รับราชการ ข้าราชการ อะไรมีเงินมากขนาดซื้อที่ดิน ซึ่งเดิมเป็นวัง ได้หรือ ?

ความจริง ที่ดินมีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ประทับของพระมหาอุปราช

เมื่อเริ่มสร้างกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศเหนือของวัดสลัก หรือปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ขึ้นไปจนถึงคูเมือง หรือคลองหลอดในปัจจุบันเพื่อสร้างวังหน้า และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล อย่างประณีตที่สุด ด้วยทรงตั้งพระทัยว่าเมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต และพระองค์จะขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแทนก็จะทรงประทับอยู่ที่นี่ต่อไป ไม่ย้ายเข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง

แต่แล้วหลังจากดำรงพระยศมา 21 พรรษา ก็ทรงประชวรเป็นโรคนิ่วเมื่อ พ.ศ. 2345 พระอาการมีแต่ทรงกับทรุดเรื่อยมา และเสด็จสวรรคตในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 พระชนมายุ 60 พรรษา ในขณะที่ทรงประชวร ได้เสด็จประพาสพระราชมณเฑียร กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีกระแสรับสั่งบางอย่างที่ถูกเล่าต่อมาจนปัจจุบัน และเล่าออกไปอยู่หลายทาง บางข้อมูลระบุว่าทรงบ่นว่า “ของกูนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่า จะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น”

ที่เล่ากันอีกอย่างซึ่งความยิ่งกว่านี้คือทรงรับสั่งว่า “ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข”

เราลองสังเกตดูว่า มหาวิทยาลัยในเมืองไทย มีมากขนาดไหน แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเลย ที่เกิดความวุ่นวายและไม่เป็นสุขอยู่เนื่องๆ เหมือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินของ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ถ้าอยากพิสูจน์ว่า คำสาปนั้นมีจริงหรือไม่ ต้องลองย้ายธรรมศาสตร์ออกจากพื้นที่ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ถ้าเหตุการณ์วุ่นวายและไม่สงบสุขหมดไปจริง ก็น่าสนใจยิ่ง

ต่อมาในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2428 และโปรดเกล้าฯ สถาปนาตำแหน่ง ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร’ ขึ้นเป็นตำแหน่งรัชทายาทสืบราชบัลลังก์

พระราชวังหน้าที่เคยโอ่อ่า จึงถูกนำมายังประโยชน์อื่นๆ ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ตัวอย่างเช่น โปรดให้เขตวังชั้นนอกเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ วังชั้นกลางโปรดให้จัดเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถาน ส่วนวังชั้นในซึ่งยังมีเจ้านายฝ่ายใน พระธิดาของวังหน้าพระองค์ก่อนๆ ประทับอยู่ ก็โปรดให้จัดเป็นพระราชวังต่อไป และมีเจ้าพนักงานดูแลอยู่เช่นเดิม โรงทหารรักษาพระองค์นี้ต่อมาก็เป็นของ กองพลทหารราบที่ 4 ที่มา: THE STANDARD

หลังปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรยึดสมบัติเจ้า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจการปกครองแล้วได้นำพระราชวัง พระตำหนักหลายแห่งของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เปลี่ยนมาเป็นสถานที่ราชการ หรือแม้แต่เปลี่ยนไปเป็นของตนเอง โดยวิธีไม่สุจริต เช่น ซื้อหรือเช่าในราคาถูก แล้วนำไปขายในราคาแพง

มธก.ซื้อที่ดินนั้นมาจากโรงทหารกองพลทหารราบที่ 4 ในราคา 800,000 บาท ซึ่งสุดท้ายต่อรองกันเหลือ 500,000

โดย มธก. กับ กระทรวงการคลัง ช่วยกันรับผิดชอบจำนวนเงินก่อนนี้ด้วยกัน ซึ่งก็เหมือนวังอื่นๆ ที่ถูกคณะราษฎรยึดหรือซื้อมาทำเป็นสถานที่ราชการ

อาจพูดแบบภาษาชาวบ้านได้ว่า หลังจากคณะราษฎรมีอำนาจปกครอง คณะราษฎร ก็ใช้วิธี หักคอ ไม่ว่าด้วยการยึดหรือซื้อ แต่ก็คือการใช้วิธี หักคอ เอาวังมาทำเป็นสถานที่ราชการ ทั้งนั้น เพราะอำนาจอยู่ในมือของคณะราษฎร เงินของกระทรวงการคลัง ก็คือ ภาษีของประชาชนทั้งประเทศ

ส่วนเงินของ มธก. ที่ซื้อที่ตรงนั้นมาจาก ผลประกอบการของ มธก. อันได้แก่ ค่าเล่าเรียน (ปัจจุบันก็คือค่าหน่วยกิต) ค่าธรรมเนียม ค่าตำราเรียน และที่สำคัญ คือเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมันคือเงินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ

หลังจากนั้น อ.ปรีดี ก็ซื้อกิจการธนาคาร Overseas Chinese Banking Corporation ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ตำบลสามแยก มาจากคนจีน ธนาคารนี้ถูกตำรวจกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งห้ามส่งเงินออกนอกประเทศ ผู้จัดการธนาคารถูกสอบสวน ในที่สุด ธนาคารนี้ก็ไม่มีความปรารถนาจะดำเนินกิจการธนาคารต่อไป

อ.ปรีดี พนมยงค์ ได้เจรจาซื้อกิจการเจ้าของเดิม ในวงเงิน 20,000 บาท และจัดตั้งเป็น ธนาคารเอเชีย มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท โดยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถือหุ้น 80% คือ 800,000 บาท กำไรจากธนาคาร ก็กลายมาเป็นเงินเลี้ยงตัวเองของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาภายหลังก็ขายหุ้นทั้งหมดนั้นไป ที่มา: สถาบันปรีดี พนมยงค์

แต่เงินทั้งหมดนั้น ไม่ใช่ อ.ปรีดี ควักกระเป๋าตนเองซื้อ แล้วยกให้ มธก. แต่มันมีที่มา ที่เริ่มต้นจาก ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม ค่าตำราเรียน และที่สำคัญ คือ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งมันคือเงินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่เงินส่วนตัวจากกระเป๋าของ อ.ปรีดี

ภาพ นายอัษฎางค์ ยมนาค ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากสยามรัฐออนไลน์
องค์กรนักศึกษา มธ. จะอ้างว่า ที่ดินของ มธ. ไม่ใช่ที่ดินพระราชทาน ถึงจะไม่ผิด แต่ก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะความจริงยังไงก็เป็นความจริง ความจริงที่ว่า ที่ดินและอาคารหลายแห่งในบริเวณนี้ เป็นของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ซึ่งอาจารย์ไอยคุปต์ ธนบัตร นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เล่าเอาไว้ใน The Standard ว่า รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นคู่พระเชษฐา-พระอนุชา ที่ร่วมรบสร้างบ้านสร้างเมืองด้วยกันมา ทรงพระราชอำนาจใกล้เคียงจนเกือบจะเท่าเทียม

“สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงกับเรียกกันว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็คือ วังหลวงพระองค์หนึ่ง วังหน้าอีกพระองค์หนึ่ง หลายๆ อย่างทรงทำคู่กันมา พระชันษาก็ไล่เลี่ยกัน การแบ่งเมืองนั้น ถ้าเทียบระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ถือว่าครึ่งๆ พื้นที่วังหน้าเดิมนั้นใหญ่โตมาก กินเข้าไปในครึ่งหนึ่งของสนามหลวงตอนนี้ ธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ของวังหน้า และภายในวังหน้าก็มีเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน แบบเดียวกับวังหลวง”

จนมาถึงในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ที่ทรงยกเลิกวังหน้า และตั้งตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราช ขึ้นมาเป็นองค์รัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราชวังหน้าพื้นที่วังหน้า จึงถูกใช้ในกิจการอื่นๆ ในทางราชการต่อมา รวมทั้งพื้นที่บริเวณ มธ.ในปัจจุบัน ก็คือโรงทหารรักษาพระองค์

ก่อนที่จะถูกรัฐบาลคณะราษฎร หักคอ ขอซื้อไปในราคาพิเศษ ซึ่งอาจพูดเป็นอีกอย่างได้ว่า มันคือการโอนย้ายสถานที่ราชการจากกรมทหารไปเป็นของมหาวิทยาลัย เท่านั้น ราคาที่เสนอซื้อและเสนอขายก็เป็นราคาพิเศษ เพื่อโยกย้ายหน่วยงานราชการเท่านั้น เงินที่ใช้ซื้อที่ดินจากกรมทหารก็เป็นเงินของทางราชการซึ่งสถานที่ราชการดังกล่าวนั้น เดิมคือที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ดี

คือ การหักคอ เอาที่ดินของสถาบันพระมหากษัตริย์ไปใช้ โดยเจ้าของที่ดินหรือทายาทตัวจริง ไม่รู้เห็น แปลว่า ที่ดินของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานมาโดยอ้อม จากวังหน้า ผ่านกรมทหาร สู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้นเอง

มีใครเคยเห็น การประกาศขายหรือการขาย ที่หลวงหรือที่เจ้า ให้กับเอกชน หรือราษฎร หรือไม่

ที่หลวง เดิมก็คือที่เจ้า

สถาบันพระมหากษัตริย์ยินดีที่จะยกทรัพย์สินของพระองค์ให้ทำประโยชน์เพื่อราษฎรส่วนรวม

ไม่ใช่ให้คณะราษฎรเอาที่หลวงที่เจ้ามาทำประโยชน์แล้วช่วยกันเคลมว่า เป็นผลงานของคนในคณะราษฎร

ภาพ องค์การ นศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักฐานการ “ซื้อ” ที่ดิน โดยมติของสภาฯ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากประชาไท
ทั้งนี้ หลังเมื่อวันที่ 6 ก.ค. องค์การนักศึกษาม.ธรรมศาสตร์ (อมธ.) ออกประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ. ตามเจตนารมณ์ของการทำประชามติของนักศึกษานับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. เป็นต้นไป
ส่งผลให้เกิดทั้งกระแสเห็นด้วย กับอีกด้านก็เกิดปฏิกิริยาอ้างไปถึงเป็นการแสดงท่าทีต่อสถาบันกษัตริย์ ลามไปถึงการขู่ว่า “ไม่พอใจก็ย้ายออกจากที่ดินพระราชทาน” นั้น

วานนี้ (10 ก.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเอกสารชี้แจงที่มาที่ไปของที่ดินของมหาวิทยาลัย ว่า ที่ดินสำหรับก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่ใช่ที่ดินพระราชทาน แต่มาจากการ “ซื้อ” และลงมติของสภาผู้แทนราษฎร

“ที่ดินที่ใช้สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น เดิมคือ วังหน้า แต่เมื่อมีการยุบตำแหน่งวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ไป พื้นที่ตรงนั้นก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการบ้านเมืองจนที่ดินดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นโรงทหาร กองพันทหารราบที่ 4” เพจ อมธ. ระบุ

ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตรและการเมือง จึงได้ติดต่อขอ “ซื้อ” ที่ดินบริเวณดังกล่าวจากหลวงชาญชิดชิงชัย และได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ทำการลงมติและตราเป็นพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณโรงทหาร กองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477 บริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ประตูท่าพระจันทร์ถึงประตูทางออกไปท่าพระอาทิตย์ และในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2479 มหาวิทยาลัยได้รับสิทธิประโยชน์จากที่ดินสาธารณสมบัติ บริเวณหลังอาคารตึกโดมทั้งหมดจนจรดสนามหลวง

อมธ. สรุปว่า ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่ดินพระราชทานดังที่ใครหลายคนกล่าวอ้าง แต่เป็นที่ดินที่ได้มาจากการ “ซื้อ” และลงมติตามระบอบประชาธิปไตย ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ตั้งใจให้โอกาสแก่ราษฎรในการศึกษา “วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในด้านกฎหมายและการเมืองการปกครอง เพื่อไปรับใช้ประเทศชาติ ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

ส่วนที่มาของการอ้าง “ที่ดินพระราชทาน” เพื่อนำมาโต้นักศึกษานั้น พูติกาล ศายษีมา บล็อกเกอร์ที่มักนำเสนอข้อมูลทางการเมือง โพสต์ว่า เป็นการอ้างจากโพสต์ของ ปองพล อดิเรกสาร แต่สิ่งที่ ปองพล โพสต์นั้น ก็ไม่ได้บอกว่าที่ดิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ดินพระราชทาน ปองพล บอกแค่ว่า ที่ดินตรงนั้นเมื่อก่อนเคยเป็นวังหน้า โดยสมัย ร.1 ได้ “พระราชทาน” ที่ดินบริเวณนั้นให้กับน้องชายเพื่อให้ใช้สร้าง “วังหน้า” เท่านั้น แล้วตอนหลังพวกเพจฝ่ายอนุรักษ์ที่อ้างอิงโพสท์ของปองพลเอาไปบิดเป็น “ที่ดินพระราชทาน” เฉย เลยเป็นโอกาสให้เพจ อมธ. ได้ชี้แจง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ มีประเด็นลักษณะเดียวกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งครั้งนั้น ธ.ค. 63 โสภณ พรโชคชัย ผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ เปิดเอกสาร คณะราษฎรโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้มอบที่ดินให้จุฬาฯ แทนจากเช่าระยะยาว 30 ปีจากในหลวง ร.8 ไม่เช่นนั้น ก็ยังต้องต่อทะเบียนเช่าที่ดินจาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น หน่วยงานอื่น (จากประชาไท)

แน่นอน, สิ่งที่สะท้อนให้เห็น ก็คือ กระแสความคิดภายในมหาวิทยาลัย

ความจริง ไม่แต่เฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ที่มีความเคลื่อนไหวออกมาในทำนองเดียวกัน ซึ่งถือว่า สอดรับกับความเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม รวมทั้งม็อบราษฎร หรือ ม็อบ 3 นิ้ว ที่ต้องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ”

และยิ่งพบว่า การเคลื่อนไหวใน “มหาวิทยาลัย” นำโดยองค์การนักศึกษา ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนนักศึกษาที่ได้รับเลือกเข้ามา จึงนับว่า น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยเท่ากับว่า กระแสทางความคิดของนักศึกษากำลังไปในทิศทางไหน

เหนืออื่นใด ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ก็คือ การปะทะทางความคิดระหว่าง “นักศึกษา” กับ “ประชาชนส่วนใหญ่” ของประเทศที่มีความจงรักภักดี ที่นับวันไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กัน โดยมีภาคส่วนอื่นร่วมสนับสนุนเลือกข้างแต่ละฝ่าย อะไรจะเกิดขึ้น ช้าหรือเร็ว เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวของจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่วันนี้ มิเช่นนั้น คนไทยนั่นเองที่จะต้องเสียใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น