xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เผย กมธ.กัญชากัญชง เพิ่มบทบัญญัติคุ้มครอง ปชช.- ควบคุมการขาย ยินดีรับฟังความเห็นรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” เผย กรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง เพิ่มบทบัญญัติคุ้มครองประชาชน, ควบคุมวิธีการขาย, ป้องกันสถานที่, กำหนดข้อห้ามการใช้ช่อดอกกัญชาในทางที่ผิด พร้อมยินดีรับฟังความเห็นรอบด้าน

วันนี้ (9 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะโฆษกและกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ…..สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ระบุรายละเอียดการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ มีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวานนี้ วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาใน “ช่วงเช้า” มีเรื่องที่น่าสนใจ 2 เรื่องสำคัญ

เรื่องแรก คือ การยืนยันว่า “การเพาะปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน” โดยไม่มีการจำหน่าย จะให้การจดแจ้งการเพาะปลูกกัญชาได้ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ต้น และให้การรับ “การจดแจ้งให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน” และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถมีต้นกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้

ส่วนผู้ที่ต้องการ “ปลูกเพื่อการพาณิชย์” หรือ ปลูกมากกว่า 10 ต้น หรือปลูกเพื่อขายได้พิจารณาไปก่อนหน้านี้แล้วว่า “ต้องขออนุญาต”เท่านั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคลอื่นในสังคมตามกฎหมาย เพียงแต่ผู้ปลูกกัญชาเพื่อการพาณิชย์ไม่เกิน 5 ไร่ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ

เรื่องที่สอง ใบอนุญาตทุกประเภทจะมีอายุ 3 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

ส่วนการประชุม “ช่วงบ่าย” นั้น ทางกรรมาธิการ เห็นว่า ด้วยควาห่วงใยของกรรมาธิการฯและสังคมทุกภาคส่วน จึงควรเร่งพิจารณาในหมวด 10 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภค กัญชา กัญชง และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด ให้มีความชัดเจน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การ “คุ้มครองประชาชนบางกลุ่ม” ไม่ให้เข้าถึงกัญชา กัญชง สารสกัด โดยในมาตรา 37 ระบุห้ามผู้ใด (ไม่ว่าจะมีใบอนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาต)ขาย กัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเป็นวัตถุดิบ แก่ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร หรือบุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และต้องมีการปิดประกาศและแจ้งผู้บริโภค

2. ป้องกัน “วิธีการขาย” กัญชา กัญชง สารสกัดที่สุ่มเสี่ยงใช้ในทางที่ผิด และไม่ให้ส่งเสริมการขายช่อดอก ตามมาตรา 37/1 จึง “ห้าม”ผู้ที่ขายกัญชา กัญชง สารสกัดกระทำในสิ่งต่อไปนี้

(1) ขายโดยใช้เครื่องขาย (เพราะไม่สามารถตรวจสอบการเข้าถึงเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ฯลฯ) ได้
(2) ขายผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (เพราะการขายออนไลน์จะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการเข้าถึงเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ฯลฯ)
(3) ขายช่อดอกกัญชา กัญชง นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต
(4) ขายช่อดอกกัญชา กัญชง โดยวิธีการแจก แถม ให้หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่น หรือสิทธิประโยชน์อื่นแล้วแต่กรณี
(5) ขายช่อดอกกัญชา กัญชง โดยกระทำในลักษณะที่แสดงถึงการลดราคา ณ จุดขาย
(6) ขายสินค้าหรือให้บริการโดยมีการแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับช่อดอก กัญชา กัญชง แล้วแต่กรณี
(7) เร่ขายช่อดอกกัญชา กัญชง
(8) ให้หรือเสนอให้สิทธิในการเข้าชมการแข่งขัน การแสดง การให้บริการ การชิงโชค การชิงรางวัล หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนแก่ผู้ซื้อหรือแก่ผู้นำหีบห่อหรือสลากหรือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับ ช่อดอกกัญชา กัญชง มาแลกเปลี่ยนหรือแลกซื้อ
(9) แสดงราคา ณ จุดขายในลักษณะจูงใจให้บริโภคช่อดอกกัญชา กัญชง
(10) ดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมการขายด้วยประการใดๆ

3. ปกป้อง “สถานที่” ซึ่งต้องปลอดกัญชา กัญชง สารสกัด ตามมาตรา 37/2 ซึ่งห้ามผู้ใดขายกัญชา กัญชง สารสกัด ในสถานที่ดังต่อไปนี้

(1) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
(2) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
(3) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
(4) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
(5) สถานที่ขนส่งสาธารณะ สนามบิน ท่าเรือ
(6) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจประกาศกำหนด “ระยะห่าง” จากสถานที่ตามที่กล่าวมา เพื่อมิให้ขายกัญชา กัญชง สารสกัด โดยให้มีการจัดทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ให้ทราบถึงเขตพื้นที่กำหนดด้วย

4. “ห้ามสูบเพื่อนันทนาการในที่สาธารณะ” โดยมาตรา 37/3 ได้บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดสูบ หรือใช้กัญชา กัญชง เพื่อการนันทนาการในที่สาธารณะ หรือจูงใจ ยุยง ส่งเสริมให้ผู้อื่นสูบ หรือใช้กัญชา กัญชง เพื่อการนันทนาการ”

5. “ห้ามใช้ช่อดอกผสมในอาหาร“ ตามมาตรา 37/4 บัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ใดใช้ช่อดอกกัญชา กัญชง ผสมในอาหารเพื่อจำหน่าย

6. “ห้ามสูบกัญชา กัญชงก่อนและระหว่างขับรถ” โดยบัญญัติตามมาตรา 37/5 ว่าห้ามมิให้สูบ หรือใช้กัญชา กัญชง ก่อนหรือในขณะขับยานพาหนะ

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการฯต้องการแสดงเจตนารมณ์ว่าแม้กัญชา กัญชง และสารสกัดจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม สำหรับ ”การขาย” หรือการพาณิชย์เกี่ยวกับกัญชา กัญชงนั้น ยังคงมีความจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตเท่านั้น เพราะจะต้องดำเนินควบคู่กันไปพร้อมกับการควบคุมเพื่อการคุ้มครองบุคคล และสังคม เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภค กัญชา กัญชง และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด จึงได้เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตามที่กำหนดมาแล้วข้างต้น

โดยในช่วงสุญญากาศทางกฎหมายนี้ ทางกรรมาธิการ หวังว่า ผู้ประกอบการรวมถึงภาครัฐทุกภาคส่วนจะได้นำความคืบหน้าในการพิจารณาของกรรมาธิการฯครั้งนี้ มาเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจปรับตัว หรือเตรียมตัวปรับตัว โดยภาครัฐและเอกชนสามารถประยุกต์ใช้แนวทางดังกล่าวข้างต้นของคณะกรรมาธิการในการออกมาตรการชั่วคราวที่เหมาะสมของแต่ละหน่วยงานและองค์กรต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม การบัญญัติที่ทางคณะกรรมาธิการได้จัดทำเพิ่มเติมนั้น ยังคงเป็นร่างพิจารณาเรื่องนี้เป็นครั้งแรก จึงมีโอกาสที่อาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด จึงอาจมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมได้อีก แม้ทางกรรมาธิการต้องการที่จะเร่งพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้แล้วเสร็จให้เร็วเพื่อให้ช่วงเวลาสุญญากาศทางกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด แต่ก็ไม่อาจจะละเลยการรับฟังความคิดความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านได้

จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น โดยทางกรรมาธิการมีความยินดีที่จะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ให้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุดต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น