“ปานเทพ” โต้ “นพ.เฉลิมชัย” ที่ระบุ กัญชาติดง่าย-เร็วกว่าบุหรี่และเหล้า ข้อมูลคลาดเคลื่อน แจงงานวิจัยในปี 2554 “โอกาสติดกัญชา” น้อยสุด 8.9% ส่วนงานวิจัยปี 2563 ก้าวกระโดดเป็น 27% นั้นเป็นการวัด “ผู้มีปัญหาการเสพกัญชา” ซึ่งเป็นคนละมาตรวัด นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้
วันที่ 7 ก.ค. 2565 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. โพสต์เฟซบุ๊ก “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ว่า ...
เอาให้เคลียร์ “กัญชา” ติดเร็วในสิ่งที่ติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ แปลว่าอะไร?/ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า “นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ” รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 โดยได้อธิบายว่ากัญชาติดง่าย-เร็วกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า ติดง่ายและเร็วกว่าดื่มสุรา 2.6 เท่า และระบุว่าจะมีผู้เสพติดมากกว่าถึง 3 เท่าคือ 27% เมื่อเทียบกับผู้เสพติดในช่วงที่กัญชาผิดกฎหมายที่มีตัวเลขเพียง 8.9% [1]
ขอเรียนว่า แม้ความเห็นดังกล่าวจะเป็นความเห็นทางวิชาการที่น่าสนใจและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั่วไป และยินดียิ่งที่จะได้น้อมรับความเห็นดังกล่าว
แต่ขอโอกาสนี้แลกเปลี่ยนทรรศนะทางวิชาการที่อาจจะเห็นต่างไปบ้าง ซึ่งได้รวบรวมจากคณะที่ปรึกษาในเรื่อง “คณิตศาสตร์” ระหว่าง “ติดยาก” กับ “ติดเร็ว” และ “ติดเร็วในสัดส่วนสิ่งติดยาก” มีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนความเห็น ดังนี้
ประการแรก งานวิจัยในปี 2554 เสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol dependence ระบุว่า นับตั้งแต่ใช้ครั้งแรกที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสจะเสพติดบุหรี่ 67.5%, ครั้งแรกที่ดื่มเหล้ามีโอกาสติดเหล้า 22.7% และหากเสพกัญชาครั้งแรกจะมีโอกาสติดกัญชา 8.9%[2]
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาอ้างอิงต่อๆกันมาในงานวิชาการอีกหลายชิ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นงานวิจัยระดับที่น่าเชื่อถือและสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ โดยกราฟที่นำมาแสดงดังกล่าวนี้ใช้คำว่า ความน่าจะเป็นของการเสพติด โดยใช้ภาษาอังกฤษคำว่า “dependence”
ประการที่สอง นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้นำเสนองานวิจัย 2 ชิ้นต่างเวลากันมาเปรียบเทียบ
โดยชิ้นหนึ่งเสนอผ่านวารสารการเสพติดยาและแอลกอฮอล์ (Drug and Alcohol dependence) เมื่อปี พ.ศ. 2554[2] เรื่องการเปรียบเทียบการติด ระหว่างเหล้า บุหรี่ กัญชา โคเคนตามที่กล่าวมาแล้วในประการแรก กับอีกชิ้นหนึ่งคือ วารสารการทบทวนเรื่องยาและแอลกอฮอล์ Drug and Alcohol Review เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563[3]
นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สรุปข้อสันนิษฐานว่า การที่กัญชาเสพติดยาก 8.9% ในงานวิจัยปี 2554[2] เพราะกัญชาเป็นสิ่งทีผิดกฎหมายจึงหาซื้อได้ยาก กับ กัญชาในงานวิจัยปี 2563 (วิจัยช่วงเวลา ปี 2555-2556) ซึ่งกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้วจึงทำให้มีการเสพติดเพิ่มขึ้นเป็น 27%[3] นั้น น่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
เพราะมาตรวัดคำว่าการเสพติด “Dependence”เพื่อเปรียบเทียบ เหล้า บุหรี่ กัญชา และโคเคน ในงานวิจัยปี พ.ศ. 2554 นั้น[2] เป็นคนละเรื่องกับมาตรวัดงานวิจัยในปี 2563[3] ที่มุ่งเน้นเรื่องของการวัด cannabis use disorder (CUD) ที่แปลว่า “ผู้มีปัญหาการเสพกัญชา” และไม่ได้เทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น ซึ่งก็เป็นคนละนิยามของคำว่า “Dependence” เมื่อปี พ.ศ. 2554 ด้วยเช่นกัน
Cannabis use disorder (CUD) หรือ “ผู้มีปัญหาการเสพกัญชา” มีเกณฑ์วัดถึง 11 รายการ และบางอย่างไม่สามารถจะไปเทียบว่าเป็นการติดได้ เช่น เกณฑ์ผลกระทบต่องาน เกณฑ์เรื่องปัญหาทางครอบครัว การลดลงของกิจกรรมทางสังคม ฯลฯ จึงเป็นเกณฑ์ที่วัดอาจจะเกินขอบเขตที่จะนำมาเปรียบเทียบกับคำว่าติดกัญชา หรือ (Dependence) ในงานวิจัยของปี 2554 ได้
ดังนั้น การนำเรื่องติดกัญชา “Dependence” 8.9% ในงานวิจัยปี 2554 มาเปรียบเทียบเป็น “Cannabis use disorder (CUD)” หรือ “ผู้มีปัญหาการเสพกัญชา” ว่า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 27% ในงานวิจัยปี 2563 ว่าเป็นเรื่องเดียวกันนั้น ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ เพราะเป็นคนละมาตรวัดกัน เพราะแม้แต่ภาษาอังกฤษที่ใช้ก็คนละคำกัน
ประการที่สาม งานวิจัยปี 2554 ตามที่ระบุเอาไว้ในประการแรกนั้น ปรากฏว่า นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ โพสต์แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า
“พบว่างานวิจัยดังกล่าวนั้น เป็นการรวบรวมกลุ่มตัวอย่างในช่วงที่กัญชาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ที่เริ่มใช้กัญชามีการใช้ด้วยความถี่และปริมาณน้อยเพราะผิดกฎหมายใช้ยาก จึงมีสถิติออกมาว่าติดเพียง 8.9%”
แต่ในความเป็นจริงงานวิจัยปี พ.ศ. 2554 นั้นมิได้ใช้การทำการวิจัยผู้ใช้กัญชาจำนวนมาก เพราะมีการสำรวจตัวอย่างผู้สูบบุหรี่ 15,918 คน, แอลกอฮอล์ 28,907 คน และกัญชาก็มีการสำรวจมากถึง 7,389 คน และโคเคน 2,259 คน จึงถือว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่มากพอที่น่าเชื่อถือ แม้การติดยากในเวลานั้นอาจมีข้อสันนิษฐานได้ว่า เพราะกัญชาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหาซื้อยากกว่าเหล้าและบุหรี่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อโต้แย้งว่าผู้ที่เสพสิ่งใดที่ติดรุนแรงแล้ว ย่อมจะทำทุกวิถีทางเพื่อหาสิ่งเสพนั้นได้จากที่ใดด้วยเช่นกัน
ข้อสำคัญในงานวิจัยที่นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นำมาอ้างอิงงานวิจัยปี พ.ศ. 2563 เรื่อง “ผู้มีปัญหาการเสพกัญชา” Cannabis use disorder (CUD) 27% นั้นก็ให้การยอมรับและอ้างอิงเรื่องโอกาสการติดกัญชา 9% ของงานวิจัยปี พ.ศ. 2554 อีกด้วย
ย่อมแสดงให้เห็นว่า โอกาสการติดกัญชา 9% ในงานวิจัยปี 2554 นอกจากจะเป็นงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับแล้ว ยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้วิจัยในปี พ.ศ. 2563 แยกแยะได้ระหว่างคำว่า “Dependence” กับ “Cannabis use disorder (CUD)” เป็นคนละเรื่องกันอีกด้วย
ประการที่สี่ การที่ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ระบุว่า “ใช้ดัชนีมีคนติด 50% หรือครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ทั้งหมดว่าจะใช้เวลาสั้นหรือยาวเพียงใด หรือแปลว่าการใช้สารนั้น จะมีความสามารถในการทำให้ติดง่ายหรือติดยากเพียงใด
พบว่ากัญชาใช้เวลาเพียง 5 ปี
ส่วนเหล้าต้องใช้เวลา 13 ปี
บุหรี่ใช้เวลานานถึง 27 ปี
นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ จึงสรุปว่า “กัญชาใช้เวลาในการเสพติดนั้น หรือเสพติดง่ายกว่าเหล้า 2.6 เท่า และง่ายกว่าบุหรี่ 5.4 เท่า”
ความเห็นดังกล่าวข้างต้นนั้นดูจะ “ไม่เป็นธรรมกับกัญชา” ที่ติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ในงานวิจัยเดียวกัน ซึ่งหากให้ความเป็นธรรมแล้วจะต้องนำมาพิจารณาประกอบกันด้วย
ตัวอย่างเช่น กัญชาใช้เวลาเพียง 5 ปี สำหรับการติดครึ่งหนึ่งของ 8.9% แปลว่า 5 ปีจะติดเพียง 4.45% เท่านั้น
บุหรี่ใช้เวลานาน 27 ปีสำหรับการติดครึ่งหนึ่งของ 67.5% แปลว่าจะติด 33.75%
ในขณะที่เหล้าใช้เวลานาน 13 ปีสำหรับการติดครึ่งหนึ่งของ 22.7% แปลว่าจะติด 11.35%
แต่ถ้าจะเทียบว่า % ของการติดเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ในปีที่ 5 ของทุกกลุ่มโดยการดูกราฟ ก็จะพบว่าบุหรี่ติดไป 9% เหล้าติดไป 8% ในขณะที่กัญชาติดไป 4.45% เท่านั้น
ดังนั้นการนำความเร็วในการติด มาเป็นการ “พาดหัว”โดยไม่ได้พิจารณาความยากง่ายในการติดกัญชานั้น เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมตื่นตระหนกเกินความเป็นจริงได้
ประการที่ห้า การศึกษาโดย Anthony และคณะซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Experimental and Clinical Psychopharmacology ในปี พ.ศ. 2537 พบว่า ในบรรดาสารเสพติด 6 ชนิด
กัญชามีฤทธิ์เสพติด “น้อยที่สุด” โดยฤทธิ์เสพติด ของสารแต่ละชนิด เรียงลำดับ ดังนี้
1) บุหรี่ ร้อยละ 32
2) เฮโรอีน ร้อยละ 23
3) โคเคน ร้อยละ 17
4) สุรา ร้อยละ 15
5) ยากล่อมประสาท ร้อยละ 9
6) กัญชา ร้อยละ 9[4] ซึ่งใกล้เคียงกับงานวิจัยปี 2554 เช่นกัน
ประการที่หก เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ากัญชาอันตรายและเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่จริงๆแล้ว ขออ้างอิงข้อมูลและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เจ เวสลีย์ บอยด์ ซึ่งเป็นจิตแพทย์ และนักจริยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นว่ากัญชา ปลอดภัยกว่าบุหรี่และสุรา[5]
ประการที่เจ็ด การจัดลำดับ “ฤทธิ์เสพติด” ของสารเสพติด 6 ชนิด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสารเสพติดประทศสหรัฐอเมริกา 3 คน (ลำดับที่ 1 = เสพติดมากที่สุด) ผลปรากฏว่าทุกคนเห็นตรงกันหมดว่า บรรดาสารเสพติด 6 ชนิดนั้น กัญชามีฤทธิ์เสพติด “น้อยที่สุด”[6]
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านประกอบไปด้วย 1) ศาสตราจารย์ Jack E. Henningfield ผู้เชี่ยวชาญด้าสารเสพติด มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ทำงานให้หลายองค์กรสำคัญเช่น NIDA, FDA,DEA, 2) ศาสตราจารย์ Neal L. Benowitz ศูนย์วิจัยยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานฟรานซิสโก และ 3)รองศาสตราจารย์ Daniel M. Perrine วิทยาลัยโลโยลา เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์[6]
ประการที่แปด จากการสัมภาษณ์ “นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะผู้ “สูบกัญชา” มาหลายปี ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจความว่า
“ผมเป็นโรคนอนไม่หลับ เคยใช้ยานอนหลับมามาก ต่อมาลงทะเบียนในฐานะผู้ป่วยใช้น้ำมันกัญชาหยอดใต้ลิ้น แต่รู้สึกมีอาการมากไป จึงเปลี่ยนหันมาใช้วิธีการสูบแทน “ทุกวัน” ตั้งแต่ต้นปี 2562 จนปัจจุบันได้ 3 ปีกว่าแล้ว ทั้งนี้ เมื่อใช้วิธีการสูบเพื่อเพิ่มคุณภาพการนอน กลับทำให้นอนหลับได้อย่างดีโดยไม่ต้องพึ่งยานอนหลับอีกเลย ต่อมามีการทดสอบหยุดการใช้กัญชาเป็นระยะๆต่อครั้งเป็นเวลา 10-15 วัน พบว่าไม่มีอาการลงแดง หรืออาการข้างเคียงจากการถอนยา ไม่ปรากฏว่ารู้สึกใดๆ เฉยๆ หยุดได้ทันทีไม่มีอาการใดๆเลย และขอวิงวอนร้องขอแพทย์ทั้งหลายให้เปิดใจกว้าง สำรวจสภาพความเป็นความจริงจากผู้ที่ใช้จริงในประเทศไทยเสียก่อน และพร้อมจะให้ข้อมูลอย่างเต็มที่”[7]
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….
วันที่ 7 กรกฎาคม 2565
โพสต์ต้นฉบับ https://www.facebook.com/123613731031938/posts/5411042988955626/
อ้างอิง
[1] เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ, เมื่อเร่ิมใช้กัญชาแล้ว ผู้ใช้จะติดง่ายและเร็วกว่าผู้ใช้บุหรี่ 5.4 เท่า ติดง่ายกว่าดื่มสุรา 2.6 เท่า,ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย, 6 กรกฎาคม 2565
https://www.blockdit.com/pages/5eba49da9801350cae915b69
[2] Catalina Lopez-Quintero, et al, Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.sciencedirect.com/.../pii/S0376871610003753...
[3] Daniel Feingold, Probability and correlates of transition from cannabis use to DSM-5 cannabis use disorder: Results from a large-scale nationally representative study, Drug and Alcohol Review, 08 January 2020,
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/dar.13031
[4] Anthony JC, Warner LA, Kessler RC. 1994. Comparative epidemiology of dependence on tobacco, alcohol, controlled substances, and inhalants: Basic findings from the National Comorbidity Survey. Experimental and Clinical Psychopharmacology 2:244–268.
https://psycnet.apa.org/doiLanding...
อ้างใน Joy JE et al. Marijuana and medicine : assessing the science base. Washington, D.C.: Institute of Medicine. 1999. page 95.
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/10839332/
[5] J. Wesley Boyd M.D., Ph.D., It's Time to Legalize Marijuana: A Public Health Perspective, Psychology Today, October 21,2016
https://www.psychologytoday.com/.../its-time-legalize...
[6] Steven C. Markoff, Is Marijuana Addictive?, The Medical Marijuana Magazine,
http://www.drugsense.org/.../www.../toc/addictiv.htm
[7] สัมภาษณ์นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ทางโทรศัพท์มือถือวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.12 น.