xs
xsm
sm
md
lg

“ปวิน” เปิดแคมเปญ 112WATCH กดดันไทย “มธ.” วุ่นหนัก อมธ.เจอต้าน เลิกเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun
ระวังให้ดี! “ปวิน” เปิดแคมเปญ 112WATCH สร้างแรงกดดันจากต่างชาติ มธ.วุ่นหนัก หลัง อมธ.ประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทน “เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง” สมาคมฯไม่เอาด้วย จี้ผู้บริหารแจง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (7 ก.ค.) เพจเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์ข้อความระบุว่า

ภาพ แคมเปญ112WATCH ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun
“การช่วยผลักดันประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยทำได้หลายทาง ทางหนึ่งคือ การที่เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่มาจากมาตรา 112 หลายปีที่ผ่านมา ดิชั้นได้ทำทุกอย่างเพื่อที่จะสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาจากมาตรา 112 จนตัวเองก็โดนไปด้วย เริ่มตั้งแต่ทำโครงการฝ่ามืออากงเมื่อปี 2011 (11 ปีที่แล้ว) ไปจนถึงการเขียนบทความ จัดการสัมมนา การทำวิจัยเรื่องนี้ และอื่นๆ อีกมาก รวมไปถึงการเปิดตลาดหลวง เพื่อใช้เป็นพื้นที่พูดคุยเรื่องเจ้า มาวันนี้ ดิชั้นอยากทำงาน advocacy จากต่างประเทศบ้าง เลยจัดทำแคมเปญ 112WATCH เพื่อขอความร่วมมือจากนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ในการสร้างบทสนทนาแบบใหม่เกี่ยวกับมาตรา 112 แรงกดดันจากต่างชาติ แม้จะมีผลไม่มากเท่าแรงกดดันภายในประเทศ แต่มันต้องทำไปพร้อมๆ กับแรงกดดันภายใน

นอกเหนือไปจากงานวิชาการ ดิชั้นได้ทุ่มให้กับแคมเปญนี้ ใครสนใจอยากเข้ามามีส่วนร่วม ลองไปชมเว็บไซต์กันดูค่ะ มีภาคภาษาไทยด้วย ขอบคุณมากค่ะ
I want to play a part in democratising Thailand. And one way in so doing is to confront the issue of Article 112. In the past years, I have done all I could to raise awareness on the troubles with Article 112 to the point that I have become a victim myself. For example, I launched a fearlessness campaign in 2011 to free Akong, charged with lese-majeste. I have also written articles and organised conferences related to the 112 issues. Recently, I set up Royalist Marketplace to promote free discussion on the monarchy. Today, I want to do something different. I have begun this personal project "112WATCH" as a vehicle for international advocacy in trying to find a new narrative on Article 112. I do hope that this effort will add up international pressure against the Thai regime to reconsider the use of lese-majeste law. Please visit my webpage. #112WATCH #lesemajestelaw #Article112”

ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
แชร์โพสต์ของ Fuangrabil Narisroj อยู่กับ Narisroj Fuangrabil กรณี อมธ.ประกาศใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว แทน “เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง” แต่ทางสมาคม มธ.ไม่เอาด้วย ระบุว่า

“ถูกต้องแล้ว ขอชมเชยท่าทีของสมาคมธรรมศาสตร์ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ว่าแต่ทางผู้บริหาร มธ.จะแสดงท่าทีอย่างไรครับ ? //

สมาคมธรรมศาสตร์ ประกาศ “เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง” เป็นเพลงหลักจัดกิจกรรมเช่นเดิม

ภาพ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร จากแฟ้ม
ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ยังได้แชร์โพสต์จากเพจเฟซบ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ระบุว่า

“องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ ชุดใหม่ ประกาศใช้เพลงทำนองมอญดูดาว แทนเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ

อมธ อ้างผลการทำแบบสำรวจประชามติของประชาคมธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้บอกชัดว่า ประชาคมธรรมศาสตร์ได้รวมถึงคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยด้วยหรือไม่ หรือสำรวจเพียงนักศึกษาเท่านั้น และไม่ได้บอกวิธีการสำรวจว่ามีระเบียบวิธีการทางสถิติที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร เพียงแต่บอกว่าได้นำเพลง 3 เพลงให้เลือกมี เพลงทำนองมอญดูดาว เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง และ เพลงมาร์ช มธก ซึ่งใช้ทำนองเพลงชาติฝรั่งเศส มีผู้ตอบแบบสอบถาม 5,168 คน ผลคือ มีผู้ตอบแบบสำรวจเลือกเพลงทำนองมอญดูดาว 51.9% เลือกเพลงมาร์ช มธก 34.6% และเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง 13.5%

ประการแรก การทำแบบสำรวจแบบนี้ ไม่อาจเรียกว่าเป็นประชามติได้ เพราะเป็นเพียงการทำโพลอย่างหนึ่งเท่านั้น การทำประชามติต้องเปิดให้ทุกคน และให้ทุกคนแสดงตนก่อนที่จะลงประชามติ ไม่ใช่ส่งแบบสำรวจไปให้ใครก็ได้ มีตัวตนหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบ

ประการที่ 2 หากไม่ได้ส่งแบบสำรวจให้คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่สนับสนุนวิชาการด้วย เพียงส่งให้นักศึกษาตอบ ก็จะเรียกว่าประชาคมธรรมศาสตร์ไม่ได้ เพราะประชาคมธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ นักศึกษา

ประการที่ 3 จำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งหมดมีประมาณ 34,000 คน การสำรวจความคิดเห็นที่มีผู้ตอบ 5,168 คน ก็ใช้เป็นข้อสรุปที่มีความสำคัญเช่นนี้ได้แล้วหรือ

น่าแปลกใจว่า มีผู้ตอบว่าต้องการใช้เพลงมาร์ช มธก ถึง 34.6% ไม่น่าเชื่อว่า ผู้ตอบจำนวนไม่น้อยต้องการให้ใช้เพลงที่ใช้ทำนองเพลงชาติฝรั่งเศส มาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย หรือเป็นเพราะผู้ตอบไม่ทราบว่า เพลงมาร์ช มธก เป็นเพลงที่นำทำนองเพลงชาติฝรั่งเศสมาใช้ ก็ไม่ทราบได้

ก็ยังดีที่ อมธ. ประกาศว่า จะใช้เพลงทำนองมอญดูดาว ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น โดย อมธ. เท่านั้น แต่ก็ไม่แน่ใจว่า อมธ มีสิทธิทำเช่นนั้นหรือไม่ เพราะ อมธ. ไม่ใช่รัฐอิสระ แต่เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย เงินสนับสนุนก็มาจากเงินของมหาวิทยาลัย และก็อย่าได้อ้างว่าเป็น “ภาษีกู” เพราะต่อให้นักศึกษาเป็นผู้ที่เสียภาษีให้รัฐ ก็ไม่ได้หมายความว่านักศึกษาจะทำให้อะไรได้เองทั้งหมด

ความจริงหาก อมธ จัดกิจกรรมเป็นการภายในแล้ว จะเปิดเพลงทำนองมอญดูดาวเสมือนหนึ่งเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ก็คงไม่มีใครไปจ้องจับผิด และยิ่งไม่มีใครไปขัดขวาง แต่การประกาศอย่างเป็นทางการเช่นนี้ โดยอ้างผลการสำรวจที่อ้างว่าเป็นประชามติ ซึ่งความจริงไม่ใช่ประชามติ จะแปลความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากว่า อมธ. ต้องการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับในสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ไม่ควรวางเฉยต่อเรื่องนี้ ควรวินิจฉัยว่า อมธ มีอำนาจทำเช่นนี้ได้หรือไม่ หากไม่มีอำนาจ มหาวิทยาลัยจะดำเนินการต่อไปอย่างไร หากวินิจฉัยแล้วว่า อมธ. มีอำนาจทำได้ มหาวิทยาลัยควรต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองอยู่ เพลงทำนองมอญดูดาว จะใช้เฉพาะในกิจกรรมที่ อมธ จัดขึ้นเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับงานของมหาวิทยาลัย

โปรดอย่านิ่งเฉยเหมือนที่ผ่านมา เพราะศิษย์เก่าจำนวนมากกำลังรอฟังอยู่ครับ”

อย่างไรก็ตาม จากกรณี องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ.

ล่าสุด วันนี้ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ แจ้งว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เคียงคู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตวิญญาณในการรับใช้สังคม ผ่านกระบวนการอันหลากหลาย เพลงทุกเพลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล้วนสะท้อนให้เห็นความเป็นมา และประวัติศาสตร์ความสำคัญจากอดีต จวบจนปัจจุบัน

ในนามของ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของสมาชิกสมาคม ทำหน้าที่ในการสนับสนุนและพัฒนากิจกรรมของมหาวิทยาลัย ขอแสดงเจตนารมณ์ว่า เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง เป็นเพลงหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมต่อไป

ภาพผลประชามติ อมธ. ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊กองค์การนักศึกษา มธ.
ทั้งนี้ วานนี้ เพจเฟซบุ๊ก องค์การนักศึกษา มธ. ประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ.

เพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการจัดกิจกรรม โดยเฉพาะในการเลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยอันเป็นการแสดงออกที่สำคัญถึงอัตลักษณ์ การก่อกำเนิด และการเชิดชูประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมหาวิทยาลัย

อมธ. จึงได้จัดทำแบบสำรวจประชามติของประชาคมธรรมศาสตร์ โดยเพลงที่เข้ารับการคัดเลือกมีจำนวนทั้งหมด 3 เพลง คือ เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว, มาร์ช มธก. และเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง โดยจากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 5,168 คน ได้เลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว กว่า 51.9%

อมธ. จึงเห็นควรประกาศให้ใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ. ตามเจตนารมณ์ของประชาคมธรรมศาสตร์ นับแต่นี้ต่อไป

จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
วันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565

#มอญดูดาว #Thammasat

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การรุกหนักของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะยังมี ม.112 และปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า อิทธิพลทางความคิดมาจากหลายบุคคล และหนึ่งในนั้น “ปวิน” ก็เป็นอีกคนหนึ่ง

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น ก็คือ กระแสตอบรับในการต่อต้านสถาบันฯขององค์กรนักศึกษาหลายแห่ง ซึ่งก่อนที่จะมีการยกเลิกใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในการทำกิจกรรมของ อมธ.ทุกกิจกรรม องค์การนักศึกษา ม.อุบลราชธานี ก็ประกาศเลิกหมอบกราบในพิธีไหว้ครูมาแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นการบังคับเท่านั้น
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ คิดอย่างไรกับกระแสการเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่” ที่มีเป้าหมาย ยกเลิก ม.112 และปฏิรูปสถาบันฯ อย่างที่ม็อบ 3 นิ้ว เป็นหัวหอกทะลุเพดาน

ยิ่งกว่านั้น ยังเห็นได้ชัดว่า พวกเขาไม่ได้สนใจกระแสคัดค้านหรือต่อต้าน จากคนที่ “เห็นต่าง” เลยแม้แต่น้อย แม้จากสมาคมฯหรือศิษย์เก่า ม.หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยกันก็ตาม

ดังนั้น การรุกคืบในวันนี้ จึงมีทั้งที่พยายามจะสร้างแรงกดดันจากต่างชาติ และการสอดประสานภายในประเทศขององค์กรนักศึกษาหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น