“สุรพงษ์” วิเคราะห์ชี้ช่อง พท.เอาอย่างพรรคเกาหลีใต้ แตกแบงก์พันพรรคพี่พรรคน้องแบ่งสู้เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ หลังเจอหาร 500 แต่รับการคำนวณยาก กกต.ปวดหัว
วันนี้ (7 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.คลัง ผู้ประสานงานกลุ่มแคร์ ในฐานะอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย กรณีที่รัฐสภามีมติเสียงข้างมากในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 แทนที่จะเป็นหาร 100 ตามที่พรรคเพื่อไทยตั้งเป้า จะมีการแก้เกมอย่างไรว่า โดย นพ.สุรพงษ์ เผยว่า ตนขอพูดในฐานะผู้สังเกตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งมองว่า มีทางออกหลายวิธี 1. พรรคเพื่อไทย เดินหน้าต่อไป แข่งขันในระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ แต่การหาร 500 หากมี ส.ส. เขต มาก จะทำให้ได้ปาร์ตี้ลิสต์น้อย การหาร 500 อาจจะเหมือนกับประเทศเยอรมัน แต่ไม่เหมือนเสียทั้งหมด เพราะระบบ MMP จะไม่กำหนดว่าจะต้องมี ส.ส. จำนวนเท่าไร เมื่อถึงเวลาเขาจะคำนวณว่าควรจะได้เท่าก็จะให้เป็นไปตามนั้น หรือที่เรียกว่าโอเวอร์แฮงก์ แต่ระบบของประเทศไทยไม่มีโอเวอร์แฮงก์ แต่ยังมีประเทศเกาหลีใต้ อิตาลี แอลเบเนีย เป็นต้น ที่ใช้ระบบคล้ายคลึงกับประเทศไทย”
นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า อย่างประเทศเกาหลีใต้ พรรคเดโมแครต ปาร์ตี้ ออฟเกาหลี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ เขาจะส่งผู้สมัครระบบเขต แล้วจะมีพรรคเครือข่าย หรือเรียกว่าพรรคพี่ พรรคน้อง ชื่อว่า แพลตฟอร์ม ปาร์ตี้ ส่งสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ถึงเวลาต่างฝ่ายต่างเดินหน้าสู้ในระบบของตัวเอง เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ทั้งสองพรรคนี้ มาจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ฉะนั้น พรรคเพื่อไทยสามารถจะเลือกได้ โดยพรรคเพื่อไทยจะส่งสู้ในระบบเขต แล้วอาจจะมีพรรคแตกแบงค์พัน โดยส่งสมาชิกไปอีกพรรคหนึ่ง เพื่อเดินหน้าระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อได้คะแนนมาก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามจริง เพราะพรรคดังกล่าวไม่ได้คาดหวังกับ ส.ส. เขต อยู่แล้ว”
“เมื่อสองพรรคนำ ส.ส. มารวมกันก็จะได้ ส.ส. จำนวนมาก โดยพรรคการเมืองที่จะทำอย่างนี้ได้ จะต้องมีผู้สมัครที่แข็งแกร่งในพื้นที่ และเป็นพรรคที่มีกระแสพรรคทีดีจนประชาชาชมชอบ”
และเมื่อถามถึงว่า ตามกฎหมายแล้วสามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ประเภทใดประเภทหนึ่งได้หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบกติกาที่ชัดเจน แต่ถึงแม้จะกำหนดก็สามารถจะทำได้ เช่น พรรคเพื่อไทย จะส่งบัญชีรายชื่อด้วย แต่ก็เลือกส่งคนที่ไม่มีชื่อเสียงมากนัก ส่วนอีกพรรคจะเลือกส่งคนที่มีชื่อเสียงที่สามารถเชื่อมโยงกับกระแสพรรคได้ แต่ระบบเขตเลือกส่งไม่มาก ไม่ส่งทุกเขต ส่งเพียงแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น
เมื่อถามว่า หากเลือกพรรคเส้นทางใหม่ ก็จะเลือกส่งคนมีชื่อเสียงไปลงบัญชีรายชื่อ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ใช่ครับ แต่อาจจะยากในแง่การรณรงค์ว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่า คือ พรรคพี่ พรรคน้อง ซึ่งมันไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจ
เมื่อถามว่า ข้อจำกัดดังกล่าวเราสามารถตีฝ่าได้หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตนยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ เขาสามารถตีฝ่ามาได้แล้ว ฉะนั้นจะทำให้การได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นกอบเป็นกำ แต่การคำนวณจะยากมาก กกต. ก็จะปวดหัว เพราะการหาร 500
“พรรคที่ 1 สู้ในระบบเขต ได้มา 200 เขต พรรคที่ 2 สู้ในระบบบัญชีรายชื่อ ได้มา 15 ล้านเสียง คิดเป็น 214 ส.ส.พึงมี (ถ้า 70,000 คะแนนได้ ส.ส.พีงมี 1 คน) รวม 2 พรรคเท่ากับ 414 คน แบบนี้จะปวดหัว ซึ่งกกต.อาจจะต้องหาสูตรการคำนวณใหม่”