รัฐสภาเดินหน้าถกปมสูตรหาร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส.ส.พท.โวย ขบวนการผิดปกติ รบ.สั่งดึง-ยื้อหวังประโยชน์แอบแฝง “หมอระวี” แจงหาร 500 ขัดแค่ ม.91 แต่ที่เหลือเข้าทุกมาตรา ตรงเจตนารมณ์ รธน. ยันเป็นสูตรที่ดีที่สุด สร้างความเท่าเทียมพรรคการเมือง
วันนี้ (6ก.ค.) การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดำเนินมาถึง ม.23 ซึ่งเป็นประเด็นสังคมให้ความสนใจกับตามอง คือ การใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่กำหนดให้ใช้ สูตรหาร 100 ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอสงวนคำแปรญัตติใช้สูตรหาร 500
ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่การพิจารณา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้พยายามเสนอให้เลื่อนการพิจารณามาตรา 23 ออกไป พิจารณาต่อในการประชุมนัดหน้า (26-27 ก.ค.) อาทิ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ เพื่อไทย สมาชิกรัฐสภา หารือว่า ร่างแก้ไขฉบับนี้ค่อนข้างมีความสำคัญ เราประชุมมาตั้งแต่เช้า หลายคนบ่นห่วงสุขภาพตัวเองน่าจะไปพักผ่อน และ การประชุม ส.ส.พรุ่งนี้ก็มีเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา อีกทั้ง ม.23 มีกระแสข่าววิจารณ์กันทั่วไปว่าจะเกิดวิบัติ หรือมีการพลิก เพราะในคณะกรรมาธิการ และ วิปรัฐบาลก็มีมติเอกฉันท์ ไปแล้ว แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรกัน ตนคิดว่า น่าจะให้เวลาไปตั้งสติคิดกันใหม่เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่สั่งมาเป็นเบื้องต้นอันดับแรก ตนคิดว่า วันนี้น่าจะเพียงพอ ตนไม่ขอนับองค์แม้จะมีข่าวว่ามีการเสียบบัตรแทนกันด้วย ก็ตาม
ด้าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กล่าวว่า เรื่องการกดบัตรนี้ตนก็ได้เตือนไปแล้วว่าต้องระวัง เพราะจะมีคนคอยจ้องอยู่ จะกลายเป็นเหยื่อไม่รู้ตัว จึงขอเตือนด้วยความเป็นห่วง
นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย วิปฝ่ายค้าน หารือว่าทางวิป 3 ฝ่าย ได้ตกลงกันว่าจะพิจารณาให้เสร็จทั้ง 2 ฉบับ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ถูกดึง และชะลอต่างๆ ไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ภายในวันนี้ แม้จะมีการนัดประชุมอีกวันที่ 26-27 ก.ค. เพื่อพิจารณาให้จบ แต่ก็ทราบดีว่าขณะนี้มีความไม่ปกติเกิดขึ้นกับพรบ.นี้ มีคำสั่งฝ่ายบริหารให้มีการเปลี่ยนแปลงมติจากที่กรรมาธิการพิจารณา แม้วันนี้จะเดินหน้าผ่านมาตรานี้ไปก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายจะแล้วเสร็จ เพราะยังเหลืออีกหลายมาตรา จึงเสนอให้ปิดการประชุมในวันนี้ เพื่อนั่งคิด นอนคิด อีก 2 สัปดาห์ค่อยกลับมาพิจารณาใหม่
แต่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า สิ่งที่ นายจุลพันธุ์ พูดว่ามีการดึงยื้อนั้น ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเสียหาย เพราะตลอดการพิจารณาทุกฝ่ายมีความพยายามผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้เสร็จ และยืนยันว่า ฝ่ายบริหารไม่สามารถสั่งฝ่ายนิติบัญญัติได้ตามที่นายจุลพันธ์ มีการกล่าวอ้าง เพราะสมาชิกรัฐสภามีความอิสระ ตามเอกสิทธิ์
จากนั้น นายชวน ได้เดินหน้าเพื่อพิจารณาในมาตรา 23 โดยสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติทยอยอภิปราย
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่สงวนคำแปรญัตติ โดยมีการอภิปรายย้ำถึงเหตุผลที่จะต้องมีการใช้สูตรหาร 500 ว่า เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 60 มีความมุ่งหมายเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการเมืองในระยะที่ผ่านมา ที่ ส.ส.มิได้ปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นตัวแทนพรรคการเมือง หรือเจ้าของพรรคการเมือง หลักที่สำคัญคือ ระบบ ส.ส.พึงมี ที่เป็นระบบการคิดสัดส่วน ส.ส.ที่ยุติธรรมที่สุด พรรคใดได้คะแนนพรรคกี่ % ก็มีสิทธิได้ ส.ส.พึงมี ตามสัดส่วน % นั้น ในส่วนของการจัดสรรปันส่วนผสม ถือเป็นระบบที่ป้องกันการผูกขาดทางการเมือง เผด็จการรัฐสภา และจัดสรร ส.ส.ให้กระจายแก่พรรคเล็กๆ ที่มีความพร้อม การเสนอเช่นนี้หลักสำคัญไม่ใช่เพียงแค่พรรคเล็กจะไม่สูญพันธ์ แต่เป็นการสกัดการแลนด์สไลด์ของพรรคใหญ่ ที่ได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมี จะไม่ได้ และทุกคะแนนเสียงต้องไม่ตกน้ำ
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า สูตรที่พรรคเล็กเสนอ คือ การคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการหาร 500 คือ การคำนวณหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน ก็คือ การนำผลรวมคะแนนพรรคของทุกพรรคทั่วประเทศไปหารด้วย 500 เช่น 37 ล้าน หารด้วย 500 ก็จะเท่ากับ 74,000 โดยการคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของพรรค ก คือ ผลรวมคะแนนพรรคของพรรค ก จากทุกเขต คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. พึงมี 1 คน 1,000,000÷74,000 = 13.5 ส.ส.ส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ก ก็คือ จำนวน ส.ส.พึงมีพรรค ก – จำนวน ส.ส.เขตพรรค ก ตัวอย่าง ส.ส.พึงมี (13.5)–ส.ส.เขต(7) = ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 6.5 จะเห็นว่า การหารด้วย 100 เข้ามาตรา 91 เพียงมาตราเดียว มาตรา 93, 94 รวมไปถึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ระบุถึง ส.ส.พึงมี,คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่วนการหารด้วย 500 จะไม่เข้ามาตรา 91 แต่เข้ากับมาตรา 93, 94, 27 ระบบ ส.ส.พึงมี,จัดสรรปันส่วนผสม, เจตนารมณ์แก้รัฐธรรมนูญ 2 ใบ เพราะฉะนั้นการอ้างว่าหาร 100 ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกต้อง
“ทุกมาตราตามรัฐธรรมนูญล้วนแต่มีผลบังคับใช้ ไม่มีมาตราใดเป็นติ่ง หรือ มองข้ามไปได้ การคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน โดยมาตรา 27 ระบุชัดเจนว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างหรือความคิดทางการเมืองอันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้” นพ.ระวี กล่าว