สตง. ตรวจงบฯ “เศรษฐกิจฐานราก ปี 63” วงเงิน 1.3 พันล้าน ผ่าน 5 โครงการ 7 หน่วยงาน สังกัด ก.เกษตรฯ จัดสรรลง 7,255 ตำบลทั่วประเทศ เฉพาะกิจกรรม “จัดที่ดินผู้ด้อยโอกาส” ซ้ำ! ส.ป.ก.ที่แจกเป็นปกติอยู่แล้ว แถมเป็นการแจกให้เจ้าของเดิม ที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ ทำรายใหม่ “อด” ไม่สอดรับแนวทางพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย ส่วนโครงการ “Smart Farmer” เป้าหมายต่ำกว่าเกณฑ์เพียบ ทำชาวบ้านขาดโอกาส แถมตัวเลข ผู้เข้าร่วม เป้า 5.3 แสน บันทึกแค่ 2.3 แสน
วันนี้ (6 ก.ค.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก นโยบายของรัฐบาล ภายใต้แผนงานบูรณาการ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการ ร่วมกับ 6 กระทรวง 24 หน่วยงาน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 2,486.3400 ล้านบาท
โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ มี 12 หน่วยรับงบประมาณ ได้รับจัดสรร 1,356.6374 ล้านบาท ในพื้นที่ 7,255 ตำบลทั่วประเทศ ผ่าน 5 โครงการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมปศุสัตว์กรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.)
จากการตรวจสอบโครงการ กลุ่มตัวอย่าง ที่น่าสนใจ เช่น โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อย และผู้ด้อยโอกาส (กิจกรรมจัดที่ดิน) ในรูปแบบวิธีการดำเนินงานโครงการ เป็นการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข.) ให้กับผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ดินรายเดิม ที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ตามภารกิจพื้นฐานด้านการจัดที่ดิน
“พบว่า หน่วยงานมีการทำเป็นปกติอยู่แล้ว โดยไม่ได้เป็นการมอบที่ดินให้กับรายใหม่เข้ามาทำประโยชน์ จึงไม่สอดรับกับแนวทางพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย ที่ต้องการสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยการผลิตให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดความยากจน” หรือ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง ที่เป็น Smart Farmer Model (SFM) หรือ Smart Farmer ต้นแบบ
ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้มีคุณสมบัติพื้นฐานครบทั้ง 15 ตัวบ่งชี้ สามารถเป็นต้นแบบ/ตัวอย่างในการเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ให้กับผู้อื่นได้หรือในบางหน่วยงานกำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี แต่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เข้าร่วมโครงการ จะทำให้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของโครงการได้ยาก
“โครงการจึงมีลักษณะไม่สอดรับกับผลสัมฤทธิ์ในการลดปัญหาความยากจนให้กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้”
ขณะที่การดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อพัฒนาศักยภาพ จากประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 5.3 แสนคน ที่คงเหลือแค่ 358,799 ราย ลดลงจากประชาชนที่สมัครร่วมโครงการ 407,215 ราย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมาย “ขาดการบูรณาการข้อมูลและการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย”
อย่างไรก็ตาม สุดท้าย สตง. ได้ตัวเลขจาก สศก. มีการบันทึกรายชื่อผู้เข้ารับส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เพียง 238,178 ราย เท่านั้น
ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) พบว่า บางกิจกรรมยังไม่เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร คือ ยังไม่ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและการตลาดตามแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร
สตง. สรุปว่า 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ ยังขาดรายละเอียดของข้อมูลที่แสดงให้เห็นผลด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ จึงทำให้ยังไม่สามารถประเมินผลลัพธ์ ด้านการลดต้นทุนการผลิตหรือด้านรายได้เพิ่มขึ้นของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯที่เป็นเป้าหมายความสำเร็จตามตัวชี้วัด ต่อโครงการ Smart Farmer บางกิจกรรมยังไม่เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร เป็นต้น
เช่นเดียวกับ การดำเนินการพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มและผลิตภัณฑ์ชุมชนยังไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม หรือ การดำเนินกิจกรรมประเมินศักยภาพและจัดทำแผนพัฒนากิจการวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับกิจการวิสากิจชุมชนภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน ในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายโครงการ
สุดท้าย การดำเนินงานในระดับกิจกรรมยังไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดและเป้าหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ในระดับแนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด ยังไม่ครอบคลุมการดำเนินงานโครงการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“เช่น กิจกรรมเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรด้านการผลิตภ ที่มีการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกร ยังไม่เป็นไปตามตัวชี้วัด และมีความเสี่ยงต่อความสำเร็จของการดำเนินงานในระยะต่อไป”