วันนี้ (5 ก.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา/แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.00 น. ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ติดตามแนวทางการดำเนินการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดให้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา/แผนฟื้นฟูกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ซึ่งผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้ที่ประชุมทราบ ดังนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าของ (ร่าง) แผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2566-2570 (แผนฟื้นฟู) ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ พัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Enhance Competitive Advantage) พลิกฟื้นธุรกิจหลัก (Core Business Turnaround) พัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง (Non-core Business Enhancement) ปรับรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระบบราง (Become Platform Provider) ปฏิรูปองค์กรให้สอดคล้องกับการฟื้นฟู (Organizational Reform) พัฒนาระบบรางด้วย BCG Model (BCG Model Incorporation) การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานปัจจุบันของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การจัดหารถจักรและล้อเลื่อน
การโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
การเพิ่มพันธกิจของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับทราบผลการดำเนินการ และมีข้อสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ ดังนี้ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำแผนการปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพให้มุ่งเน้นในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานจากยุทธศาสตร์ข้างต้นที่สามารถดำเนินงานได้ทันที เช่น การจัดสรรเส้นทางการเดินรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และดึงดูดเอกชนมาร่วมลงทุนให้การรถไฟแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญในประเด็นการโอนสัญญาและสิทธิในที่ดินให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดการจัดทำแผนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำข้อมูลเปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการเพิ่มรถจักรและล้อเลื่อนเพื่อให้ทราบถึงผลลัพธ์ และเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน และทำให้การใช้โครงข่ายทางรางเกิดประโยชน์สูงสุด