xs
xsm
sm
md
lg

กัญชา-ความสับสนแห่งชาติ เปิดแผง-พันลำ-ผสมอาหารขายได้เสรีจริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.คำนูณ” ชี้ ประกาศ สธ.ให้กัญชาเป็น “สมุนไพรควบคุม” ตาม พ.ร.บ.ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยฯ เป็นกฎหมายที่ควบคุมกัญชาได้ โดยไม่ต้องรอกฎหมายเฉพาะ ระบุตามเงื่อนไขสมุนไพรควบคุม ไม่สามารถเปิดแผงขาย พันลำ ผสมอาหารได้ หากไม่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ แต่ประกาศ สธ.ดูเหมือนจะตีความเป็นการอนุญาตรวม ซึ่งกฎหมายไม่ได้เปิดช่อง แนะ ครม.สอบถามกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจน

วันนี้ (5 ก.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ในหัวข้อ กัญชา-ความสับสนแห่งชาติ ! เปิดแผง-พันลำ-ผสมอาหารขายได้เสรีจริงหรือ ? เปิดมาตรา 46 กม.แพทย์แผนไทยฯ 42 ควบคุมผ่านขั้นตอนอนุญาตได้กว้างขวาง มีรายละเอียกระบุว่า
 
ใกล้จะครบ 1 เดือนเต็มหลังประกาศปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5
 
หลายคนไม่สบายใจที่เห็นการขายกัญชาเกิดขึ้นอย่างเสรีชนิดชั่วข้ามคืน ทั้งแบบใบสด ๆ ใบที่บดอบแห้งแล้ว และ ‘พันลำ’ คล้ายบุหรี่ขายเป็นมวนๆ เลยที่ถนนข้าวสาร ถนนสีลม และถนนอื่นๆ ทั้งในร้าน และแผงลอยบนทางเดิน ผู้ขายออกมาบอกว่าเริ่มตั้งแผงตั้งแต่ 9 มิถุนายน 2565 วันเริ่มเปิดเสรีกัญชา และมีเสียงกลั้วหัวเราะของลูกค้าบอกว่าชอบรัฐบาลชุดนี้อยู่อย่างก็ตรงที่ปล่อยกัญชาเสรีนี่แหละ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการเสนอให้ทำถนนข้าวสารเป็น ‘ฮับกัญชา’ ขายกันอย่างเป็นระบบ จัดห้องสูบ ให้เป็นแหล่งรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 
ผู้ว่าฯ กทม.สั่งให้สำนักงานเขตไปดูแลเบื้องต้น และบอกว่าจะไปดูเองสักวันโดยไม่บอกล่วงหน้า
 
หัวหน้าเขตพระนคร เล็งใช้กฎหมายฉบับต่างๆ มาควบคุม โดยบอกว่าต้องขออนุญาตที่เขต และต้องทำอย่างเหมาะสม
ตำรวจก็ดูยังงง ๆ บอกว่าเป็นห่วง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร
 
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย บอกว่า อย่าว่าแต่ตำรวจเลย ตัวท่านเองก็ยังงง ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้
 
แม้แต่ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายกัญชากัญชงสังกัดพรรคภูมิใจไทยเองยังต้องบอกว่าขอว่าอย่าขายกันอย่างโจ๋งครึ่มนัก
 
นรข. (หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง) แถลงข่าวว่า จับกุมกัญชานำเข้าได้จำนวนมาก และแสดงความเป็นห่วงว่าขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับโดยเฉพาะ กฎหมายที่ใช้อยู่ อาทิ กฎหมายศุลกากรมีโทษไม่สูง
 
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เสนอ 4 มาครการควบคุมเร่งด่วน
 
และล่าสุด ทราบว่า เหล่าอาจารย์แพทย์และแพทย์อาวุโสจำนวนหนึ่งในนาม ‘เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด’ กำลังดำเนินการล่ารายชื่อจัดทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. ขอให้ออกมาตรการปิดภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที และจัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย
ฯลฯ
 
นี่ไม่เรียกว่าเป็นสภาวะ ‘ความสับสนแห่งชาติ’ แล้วจะเรียกอะไร ?
 
ครับ รู้ว่าเรื่องที่ตั้งใจเขียนวันนี้จะไม่สั้น อ่านไม่ง่าย และทำความเข้าใจไม่ง่ายนัก เพราะเป็นประเด็นข้อกฎหมายเฉพาะที่ไม่ได้ใช้บ่อย
 
แต่ถ้าไม่เขียนจะรู้สึกผิด
เพราะผมเชื่อว่าการควบคุมกัญชาทำได้ภายใต้กฎหมายเฉพาะที่มีอยู่ขณะนี้ ไม่ต้องรอกฎหมายเฉพาะฉบับใหม่ เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ทำ เพราะมีมุมมองทางกฎหมายที่แตกต่างออกไป
 
ค่อยๆ ตามผมมาทีละก้าวๆ ครับ….
ก่อนอื่น ผมว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจผิดที่เห็นว่าขณะนี้กัญชา ‘เสรี’ และเป็น ‘สุญญากาศ’ สมบูรณ์ชนิดที่ไม่มีกฎหมายควบคุมเลย ตัองรอและต้องเร่งร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชงให้ออกมาใช้บังคับโดยเร็วสถานเดียว
 
สภาพ ‘เสรี’ และ ‘สุญญากาศ’ ของกัญชาเคยมีอยู่จริง แต่เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น
แค่ 8 วัน !
คือระหว่างวันที่ 9-16 มิถุนายน 2565
 
ช่วง 8 วันนั้น กัญชาไม่ได้มีสถานะเป็นอะไรเลย นอกจากพืชชนิดหนึ่ง เพราะประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ‘ยาเสพติดให้โทษประเภท 5’ ที่ไม่มีชื่อกัญชาอยู่อีกต่อไปมีผลใช้บังคับในวันที่ 9 มิถุนายน 2565
 
แต่นับจากวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับ กัญชาก็มีสถานภาพใหม่ทันที เป็น…
“สมุนไพรควบคุม”
ขีดเส้นใต้เน้นตรงคำว่า ‘ควบคุม’ นะครับ
(โปรดูภาพที่ 1)


กัญชาหลุดจากสถานะยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เป็น ‘เสรี’ อยู่ 8 วัน แล้วมาเป็นสมุนไพรควบคุมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เกือบจะทันที ไม่มีสถานะ ‘เสรี’ อีกต่อไป
เหมือนออกจากบ้านหลังหนึ่งแล้วไปอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง
เมื่ออยู่บ้านหลังไหนก็ต้องทำตามกฎเกณฑ์ของบ้านหลังนั้น

กฎเกณฑ์ในบ้านใหม่หลังที่ชื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีมาก และครอบคลุมแทบทุกด้าน เปิดอ่านดูทั้งหมดได้ตามลิงก์ที่ผมให้ไว้ข้างล่าง (พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542)

ขอโฟกัสเฉพาะมาตรา 46
อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้การกระทำกิจกรรมใดๆ แทบทุกอย่างต่อสมุนไพรควบคุมทุกชนิด ต้อง ‘ขออนุญาต’ และมี ‘ใบอนุญาต’ ก่อนจึงจะทำได้

“ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นจะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต”
(โปรดดูภาพที่ 2 ตรงที่ผมล้อมกรอบสีน้ำเงินไว้)


ขีดเส้นใต้ตรงคำเหล่านี้นะครับ“ศึกษาวิจัย”
“ส่งออก”
“จำหน่าย”
“แปรรูปเพื่อการค้า”

และทำไฮไลท์ตรงคำว่า ‘แปรรูป…’ ด้วยครับ

จะเห็นได้ว่าครอบคลุมทุกกิจกรรม
โดยเฉพาะคำสุดท้าย ‘แปรรูป…’ นั้น มีความหมายตามกฎหมายฉบับนี้ว่า การปรุงแต่งหรือการเปลี่ยนแปงสภาพหรือคุณสมบัติของสมุนไพร ซึ่งกว้างขว้างและครอบคลุมทุกกิจกรรมที่ต้องดำเนินการกับกัญชาอยู่แล้ว

เปิดร้านหรือตั้งแผงขายเฉยๆ ไม่ได้แน่นอน

นำไปใส่อาหาร ไม่ว่าปรุงสดใหม่หรือสำเร็จรูป ทำคุกกี้ หรือของขบเคี้ยวอื่น น้ำดื่ม มาวางขายในร้านสะดวกซื้อ ก็ไม่ได้

ต้องขออนุญาตก่อนทั้งสิ้น !

ขออนุญาตจากใคร มีขั้นตอนอย่างไร อ่านมาตรา 46 ที่ผมล้อมกรอบสีน้ำเงินไว้ดีๆ มีรายละเอียดระบุไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งก็คือกฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ…
“กฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า พ.ศ.2559”

รายละเอียดมีมาก ถ้าท่านประสงค์จะลงลึกก็ตามไปเปิดศึกษาดูได้เอง ผมได้ให้ลิงก์ไว้ข้างล่างแล้ว

ในขั้นนี้รู้หลักๆ แต่เพียงว่า ต้องไปขออนุญาตจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข หรือถ้าอยู่ในต่างจังหวัดก็ไปขออนุญาตจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด

ซึ่งหมายความว่าต้องไปดำเนินการขออนุญาตเป็นรายๆ
ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี

มาตรา 46 ถ้าไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางอาญาตามมาตรา 78 ของกฎหมายฉบับเดียวกันนะครับ
(โปรดดูภาพที่ 3 มาตรา 78 ที่ผมล้อมกรอบสีน้ำเงินไว้)


จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พวกที่ตั้งแผงขาย หรือเปิดร้านขาย หรือแปรรูปมาผสมในอาหารหรือน้ำดื่ม ด้วยเชื่อว่าทำได้โดย ‘เสรี’ ถ้าไม่ขออนุญาตกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามขั้นตอนเสียก่อน และไม่มีใบอนุญาต…
ในมุมมองของผม - ผิดทั้งนั้น !
ไม่ต้องเลี่ยงไปใช้กฎหมายอื่นหรอก
ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มาตรา 46 (และ 78) นี่แหละครับ

โดยข้อกำหนดที่ต้องให้ผู้ประกอบการต้อง ‘ขออนุญาต’ และกระทรวงสาธารณสุขต้อง ‘อนุญาต’ นี้เองที่จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถกำหนดนโยบายและเงื่อนไขต่างๆ  ขึ้นมาเป็นกรอบได้
เพียงแต่เรื่องราวไม่ง่ายอย่างนั้น !

เพราะกระทรวงสาธารณสุขผู้รับผิดชอบตามกฎหมายส่งเสริมฯ ปี 2542 และเป็นผู้ออกประกาศกระทรวงฉบับที่มีผล 17 มิถุนายน 2565 หาบ้านใหม่ให้กัญชาเป็น ‘สมุนไพรควบคุม’ ใช้และตีความกฎหมายฉบับนี้คนละมุมกับผม

มาถึงตรงนี้ รบกวนช่วยกันดูภาพที่ 1 อีกทีครับ
ทีนี้ให้โฟกัสตรงข้อ 2

“อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้
“(1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ
“(2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
“(3) การจำหน่ายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร”

ขีดเส้นใต้เน้นๆ ตรงคำว่า ‘อนุญาต’ เราจะถกกันตรงนี้

กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงหลังจากออกประกาศว่า นี่คือ การใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศอนุญาตให้กับบุคคลทุกคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปกระทำกิจกรรมเกี่ยวกับกัญชาได้ โดยมีข้อยกเว้น 3-4 ประการ

โดยท่านชี้แจงว่าเป็นการอนุญาตตามมาตรา 46 ตามกฎหมายในภาพที่ 2
พูดง่ายๆ ว่าเป็น ‘อนุญาตรวม’ ว่างั้นเถอะ

ประเด็นนี้ผมเห็นต่าง
ช่วยกรุณาดูภาพที่ 2 มาตรา 46 ที่ผมล้อมกรอบสีน้ำเงินไว้อีกครั้งนะครับ
จะเห็นได้ชัดเจนว่า การอนุญาตมีกฎเกณฑ์กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ใช่อำนาจรัฐมนตรี และไม่ได้มีข้อความตรงไหนเปิดช่องให้มีการอนุญาตรวม

มาตรา 46 พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายแม่
โดยมีกฎหมายลูกเป็นกฎกระทรวงปี 2559 ตามที่ผมอ้างไว้ข้างต้น กำหนดขั้นตอนปฏิบัติในรายละเอียดไว้ เปิดดูได้ตามลิงก์ที่ให้ไว้ข้างล่าง
จะใช้ประกาศกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองมา overrule กฎหมายแม่ได้หรือไม่ ?
ผมเห็นว่าไม่น่าจะได้ !

และอันที่จริงดูให้ดีแล้วประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ก็ไม่ได้อ้างอำนาจตามมาตรา 46 เลย อ้างแต่มาตรา 4, 44 และ 45 บางอนุมาตราเท่านั้น
ทำไมไม่อ้างมาตรา 46 ไว้ ?

จะเพราะเขียนตกไป ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ หรือจะเพราะมาตรา 46 หาใช่อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตได้ จึงมาใช้มาตรา 45 โดยเฉพาะ 45(5) แทน
จะไม่ขอกล่าวถึง
เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ผมเชื่อว่าไม่สามารถลบล้างกฎเกณฑ์มาตรา 46 ได้

แต่ตามคำชี้แจงของกระทรวงสาธารณสุขเสมือนว่าเป็น ‘อนุญาตรวม’ นี่แหละที่ทำให้เกิดสภาพ ‘เสรี’ มากกว่า ‘ควบคุม’ ทำให้สภาพ ‘สุญญากาศ’ ยืดยาวออกมาเกินกว่า 8 วันจนถึงวันนี้

แต่ในเมื่อกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกประกาศ และตีความประกาศของตนเองเช่นนี้
ก็ต้องเป็นเช่นนี้
เมื่อเป็นประกาศออกมาแล้วก็มีผลบังคับใช้

ยกเว้นจะมีผู้ใดผู้หนึ่งใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง
ฟัองว่าการอนุญาตรวมตามประกาศข้อ 2 ไม่ถูกต้อง
ก็ขึ้นอยู่กับศาลปกครองจะพิจารณา

ถ้าการอนุญาตรวมไม่ถูกต้อง ทำไม่ได้ ก็ต้องกลับไปสู่พื้นฐานมาตรา 46 พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 คือกิจกรรมทุกอย่างเกี่ยวกับกัญชาต้องขออนุญาตทั้งหมดเป็นรายๆ ไป
ถ้าไม่ขอ แล้วขืนทำไป
ถือว่าผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เข้าใจว่าหนึ่งในเหตุผลหลักที่กระทรวงสาธารณสุขไม่อาจใช้และตีความกฎหมายตามแนวที่ผมลำดับความมาได้ เพราะอาจจะกลายเป็นการควบคุมกัญชาที่ ‘มากเกินไป’ จนเสมือนเป็นหลุดออกจาก ‘กรงหนึ่ง’ (ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564) ไปอยู่ ‘อีกกรงหนึ่ง’ (พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542) อันจะเป็นการสวนทางกับ ‘นโยบายกัญชาเสรี’ ที่กระทรวงพยายามผลักดันมาตลอด

ถ้าผมเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็ขออภัย

สรุปแล้ว ผมเห็นว่ารัฐสามารถควบคุมกิจกรรมเกี่ยวกับกัญชาได้อย่างกว้างขวางผ่านมาตรา 46 พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ได้ทันทีตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมาแล้ว ไม่ต้องรอจนกว่าร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง พ.ศ. … จะพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งออกจะเป็นการเสี่ยงเกินไป

อุปสรรคประการสำคัญและอาจจะเป็นประการเดียวก็คือการใช้และการตีความกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นอำนาจของรัฐมนตรีในการ ‘อนุญาตรวม’ ตามมาตรา 46 นี่แหละ

ขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีเร่งสอบถามขอความเห็นทางกฎหมายไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อความชัดเจน และเพื่อประกอบการตัดสินใจ
จะดีหรือไม่ ?

อย่างน้อยก็เพื่อจะได้รู้ว่าเราสามารถจะใช้ประตูที่มีอยู่แล้วบานนี้เพื่อสร้าง ‘สมดุล’ ระหว่างด้านเสรีกับด้านควบคุมได้หรือไม่!

คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
5 กรกฎาคม 2565
_________
กฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจําหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า พ.ศ. 2559
https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Law02-Ministerial-regulations/ministerial-KwaoKrua.PDF

พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF


กำลังโหลดความคิดเห็น