กพย.-สสส.-ชมรมเภสัชชนบท หนุนภาคีเครือข่ายเฝ้าระวังระบบยา นพย. จับตาใช้กัญชาอย่างถูกต้อง เก็บข้อมูลระดับพื้นที่ ส่งต่อศูนย์เฝ้าระวังระดับชาติของ อย. ลงชุมชนสำรวจผลิตภัณฑ์เสี่ยง เน้นเฝ้าระวังเมนูกัญชา ย้ำ ต้องรายงานข้อเท็จจริงช่วยเตือนภัยสังคม นำร่อง 8 จว.ภาคอีสาน-กลาง-เหนือ
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กพย. ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งกลไกเฝ้าระวังระบบยาและจัดการความรู้ระบบยาเพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัยสังคม ซึ่งกัญชาถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2% อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะนี้ กพย. ร่วมกับ สสส. เร่งพัฒนากระบวนการเฝ้าระวังกัญชาอย่างเร่งด่วน สร้างความร่วมมือผู้นำเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหาระบบยาในพื้นที่ (นพย.) 86 คนทั่วประเทศ และชมรมเภสัชชนบท พัฒนาเป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังกัญชาในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ขอนแก่น สกลนคร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา เชียงราย เร่งให้ข้อมูล ความรู้เรื่องกัญชาแก่ประชาชน และทดลองกลไกเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่นำร่อง
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าวว่า บทบาทการทำงานเชิงรุกของ นพย. มุ่งผลักดันให้เกิดศูนย์ให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พร้อมสร้างความร่วมมือในพื้นที่ สำรวจและรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงร่วมกับ อสม. รพ.สต. และเครือข่ายผู้บริโภค แนะนำผู้ประกอบการเรื่องมาตรฐาน ข้อห้าม ข้อควรระวัง อาการที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากการเสริมความรู้เรื่องกัญชาอย่างเข้มข้น บทบาทที่สำคัญคือ การสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในโรงพยาบาลเกี่ยวกับระบบการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่มีส่วนผสมกัญชา และปัญหายาตีกันระหว่างกัญชาและยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลเชิงรุก เชื่อมต่อกับเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภคใน สสจ. เพื่อส่งต่อข้อมูลให้แก่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Health Product Vigilance Center : HPVC) ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) วิเคราะห์ข้อมูล และประเมินสัญญาณความเสี่ยงหากมีการใช้อย่างไม่เหมาะสม หรือเกินความจำเป็น จนเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เพื่อป้องกันผู้ป่วยกัญชาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“การทำงานของ นพย. เน้นเฝ้าระวังแบบเกาะติด มุ่งเป้าสำรวจสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ เช่น วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร ร้านค้า ผู้ประกอบการธุรกิจกัญชา และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หากจำเป็นจะมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจสาร THC รวมถึงการสำรวจการขายทางออนไลน์ เพื่อประมวลผลรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของแต่ละจังหวัด ส่งต่อรายงานสู่ส่วนกลาง นำไปสู่การกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป” ผศ.ดร.ภญ.นิยดา กล่าว