xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถกบอร์ด สสว.หนุนต่อยอด SME One ID ช่วยเข้าถึงการดูแลภาครัฐ รับรายงานสถานการณ์ MSME

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ประชุมบอร์ด สสว. สนับสนุนต่อยอดโครงการ SME One ID เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ พร้อมรับทราบรายงานสถานการณ์ MSME

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (23 มิ.ย.) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม สสว. ที่ได้มีการเริ่มต้นดำเนินการโครงการหนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ซึ่งตรงกับที่นายกรัฐมนตรีคาดหวังไว้ว่า จะทำอย่างไรให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME มีความเข้มแข็งขึ้น โดยการดำเนินการ SME One ID ทำให้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลประโยชน์มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงขอให้ สสว. ได้ต่อยอดการดำเนินโครงการและร่วมดำเนินงานกับหลายๆ หน่วยงานต่อไป เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน SME ให้เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ ทั้งนี้ สิ่งที่ SME ต้องการในวันนี้คือความรู้ในการนำไปพัฒนาปรับปรุงตัวเอง และต้องการเข้าถึงการบริการภาครัฐ รวมถึงมาตรการส่งเสริม แหล่งเงินทุน ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อทำให้ SME อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง และยั่งยืน ด้วยการเสริมความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพความเข้มแข็งต่างๆ ให้กับ SME เพราะ SME มีผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจฐานรากอย่างมาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หลักการของนายกรัฐมนตรีคือในการทำงานใดๆ ก็ตาม เป็นการทำงานตามภารกิจหน้าที่จะต้องทำให้เกิดประโยชน์โดยอ้อมด้วย ซึ่งการทำงานของบอร์ด สสว. ประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกอบการ และควรมีการเสริมมาตรการที่เป็นประโยชน์โดยอ้อม เช่น การลดโลกร้อน สังคมคาร์บอนต่ำ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงขอให้มีการบูรณาการงานร่วมกัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการทุกคนที่ร่วมกันดำเนินงานเรื่อง SME และ MSME ซึ่งเป็นประเด็นวาระโลก ที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปให้ประสบความสำเร็จ เพื่อการมีบทบาทในเวทีโลกต่อไปในอนาคต

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานต่อเนื่องของโครงการ “หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) ของ สสว. ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาตและการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ที่มีมากกว่า 3 ล้านราย และเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม โดยหลังจาก สสว. ได้ลงนาม MOU กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เมื่อ 28 กันยายน 2564 แล้ว ได้ดำเนินการโครงการนำร่อง SME One ID และเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อรับการบริการจากภาครัฐปี 2564 และในปีนี้ สสว. ได้ดำเนินโครงการงานพัฒนาระบบเพื่อขอรับบริการภาครัฐ ปี 2565 ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลและช่องทางการขึ้นทะเบียน SME One ID สำหรับผู้ประกอบการ MSME ซึ่งจะใช้ช่องทางหลัก คือ ระบบศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ Biz Portal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมข้อมูลและงานบริการต่างๆ เพื่อภาคธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย DGA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้เว็บไซต์ www.bizportal.go.th และปรับใช้ระบบ Digital ID ของ DGA เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลสำหรับเข้าใช้บริการของส่วนราชการ รวมถึงการประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐเพื่อการใช้ SME One ID ของผู้ประกอบการ MSME ที่เข้ารับการบริการกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ

ปัจจุบัน สสว. ได้ประสานกับองค์การอาหารและยา (อย.) กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้ารับการบริการที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว ขณะที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อขยายผลและอำนวยความสะดวกในการใช้งานเพื่อผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหลักที่ให้บริการ MSME อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สสว. ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการ MSME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID (ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในสิ้นปี 2565 โดยภาพรวมความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน ณ พฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรแล้ว รวม 2,045 ราย ซึ่งล่าสุด สสว. ยังได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ MSME ในด้านการขยายช่องทางการตลาดร่วมกับ Shopee โดยจัดทำ Microsite เพื่อให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ MSME ดังนี้
1. ภาพรวมเศรษฐกิจของ MSME ปี 2564 GDP MSME Q4/2564 ขยายตัว 3.5% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 GDP MSME ขยายตัว 3.0% สูงกว่าที่ สสว. ประมาณการไว้ที่ 2.4% โดยมีสัดส่วนส่วน GDP รวมเท่ากับ 34.6% ขณะที่ GDP ไทยปี 2564 ขยายตัว 1.6% มากกว่าที่สภาพัฒน์ประมาณการไว้ที่ 1.2% เช่นเดียวกัน สำหรับสถานการณ์ MSME ในปี 2564 พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้ดี เท่ากับ 11.0% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.9% ขณะที่ธุรกิจขนาดย่อม แม้ว่า GDP จะลดลง 0.9% แต่เมื่อเทียบกับการลดลง 10.2% ในปีก่อน จะพบว่าธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทั้งนี้ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศเป็นสำคัญในช่วงไตรมาสสุดท้าย โครงการภาครัฐทั้งคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวโดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย นอกจากนี้มูลค่าการส่งออกของ MSME ในปี 2564 ยังเติบโตถึง 18.3% ซึ่งกลับมาเติบโตได้สูงกว่าในปี 2562 หรือก่อนสถานการณ์โควิด-19 สำหรับการจ้างงานของ MSME พบว่ากลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา

2. การประมาณการเศรษฐกิจของ MSME ปี 2565 สสว. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของ MSME หรือ GDP MSME ปี 2565 ณ วันที่ 27 เม.ย. 2565 ขยายตัวระหว่าง 3.4%-4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ซึ่งประมาณการไว้ที่ 3.5%-4.9%

3. ภาพรวมสถานการณ์และเศรษฐกิจ MSME ไตรมาสแรกของปี 2565 GDP MSME Q1/2565 ขยายตัว 3.8% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.5% โดยมีมูลค่า 1.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวม เท่ากับ 35.3% ขณะที่ GDP ไทยไตรมาสแรกโต 2.2% เมื่อพิจารณาตามขนาดธุรกิจ พบว่า GDP ธุรกิจรายย่อยหรือ micro ยังคงขยายตัวได้เท่ากับ 12.5% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.3% ขณะที่ GDP ธุรกิจขนาดย่อมกลับมาขยายตัวได้ 1.0% หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการเปิดประเทศตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โครงการภาครัฐ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสที่ 4 มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดย่อม โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการค้าและการบริการ

สำหรับมูลค่าการส่งออกของ MSME ในไตรมาสแรกของปี 2565 ยังเติบโตได้ถึง 27.6% ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวและ MSME มีสัดส่วนในการส่งออกสูง ได้แก่ ผลไม้สด และไม้แปรรูป และ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ด้านการจ้างงานของ MSME (ในระบบประกันสังคมมาตรา 33) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องหลังจากธุรกิจต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินกิจการเป็นปกติตั้งแต่ ต.ค. 2564 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกต่อเนื่องจน ณ ปัจจุบัน ส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาสินค้าวัตถุดิบหลายประเภท ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกรวมทั้งในประเทศ ซึ่งกระทบกำลังซื้อและต้นทุนการผลิตของ MSME อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นจนถึงสิ้นปีภายหลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ จะยิ่งกระทบต่อราคาของสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ MSME ต้องนำเข้ามาผลิตสินค้าและบริการ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนหลักที่จะช่วยให้ GDP MSME ขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ จะมาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการยกเลิกมาตรการ Test & Go รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยที่กำลังกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคไปพร้อม ๆ กับการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน การลดต้นทุนให้แก่ MSME และการรักษาระดับการจ้างงาน ว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้เพียงใด ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ และของ MSME ในช่วงไตรมาสแรกของปีจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่จากปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้านดังกล่าว สสว. จึงปรับประมาณการ GDP MSME ปี 2565 จะขยายตัวอยู่ระหว่าง 3.4%-4.5% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้เมื่อ 7 ก.พ. 2565 เท่ากับ 3.5%-4.9%


กำลังโหลดความคิดเห็น