xs
xsm
sm
md
lg

สสส. - สธ. - แรงงาน ชู หลักสูตรพัฒนาเครือข่ายที่ปรึกษาทางใจ ปั้น กลุ่ม HR สู่ “นักสร้างสุข ลดทุกข์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. - สธ. - ก.แรงงาน ชู หลักสูตรพัฒนาเครือข่ายที่ปรึกษาทางใจ ปั้น กลุ่ม HR สู่ “นักสร้างสุข ลดทุกข์” ลุยงานฟื้นฟูสุขภาพจิตเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อสุขภาวะแรงงานไทย กาย ใจ เป็นสุข ลดเครียด-ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย

วันนี้ (23 มิ.ย.2565) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน แถลงข่าว “ความร่วมมือในการสร้างเสริมสุขภาพจิตของแรงงานไทยให้ Move on ได้ ด้วยกายใจเป็นสุข” ภายใต้โครงการสร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรทำงานในสถานประกอบกิจการประมาณ 15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของกลุ่มผู้มีงานทำ สะท้อนว่า วัยแรงงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วัยแรงงานได้รับผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงสถานการณ์ทางจิตใจ ทั้งจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การงาน มีรายได้ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย ปัญหาหนี้สิน มีความเครียด วิตกกังวล เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดหวังหมดพลังชีวิต เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

“กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสส. และกระทรวงแรงงาน สร้างกลไกดูแลสุขภาพจิตผ่านกลุ่ม เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในสถานประกอบกิจการ (HR) มีบทบาทเป็นคนกลางเชื่อมโยงส่งผ่านความหวัง ความห่วงใย ความปรารถนาดี ไปถึงกลุ่มวัยแรงงาน ทำให้สามารถจัดการความเครียด มีทางออกทั้งด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงิน มุ่งให้แรงงานไทยมีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลัง ความหวังที่จะข้ามผ่านวิกฤตไปได้” พญ.อัมพร กล่าว

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 กรมสุขภาพจิต ดำเนินโครงการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพกาย ใจ และการเงินแรงงาน พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติที่ดีต่อการเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อเป็นผู้ส่งต่อความรู้ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานประกอบกิจการ โดยต่อยอดมาจากความร่วมมือกับสมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตเชิงรุก “การสร้างสุข ลดทุกข์” สำหรับแรงงานในสถานประกอบการ เกิดเป็นต้นแบบสถานประกอบการ 6 แห่งในจังหวัดระยองและชลบุรี

“ความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากการพัฒนาหลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม ที่นำไปสู่การขยายผลการดูแลสุขภาพจิตแรงงานในสถานประกอบกิจการแล้ว ยังถือเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ โดยใช้หลักสูตรเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแบบองค์รวม ขยายผลในสถานประกอบการอีก 31 แห่ง ครอบคลุม 8 เขตสุขภาพ ช่วยยกระดับกลุ่ม HR เป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบกิจการ เพื่อให้แรงงานไทยมีสุขภาพกายใจเป็นสุข ลดความเครียด ซึมเศร้า ที่จะนำไปสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ มีเป้าหมายขยายผลสู่ต้นแบบการดำเนินงานร่วมกับศูนย์สุขภาพจิต เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดต่อไป” นายชาติวุฒิ กล่าว

นายสุทธิพงศ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงาน ทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือ และการให้ความรู้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติแรงงาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับหลักสูตร เจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมจัดทำ เพื่อกำหนดหัวข้อ เนื้อหาที่จำเป็นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ที่ต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกจ้างหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการ โดยโครงสร้างหลักสูตรนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นำไปสู่ต้นแบบหลักสูตรกลางในสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545


กำลังโหลดความคิดเห็น