“ปิยบุตร” เปิด 8 โพสต์ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถูกแจ้งเอาผิด ม.112 ระบุ “ข้อ 6” เจ้าพนักงานเห็นว่า เข้าข่าย “นักวิชาการ” แนะย้อนดูเสวนา “17 ก.พ. 56” จะเข้าใจ ซัด “ปฏิรูปสถาบันฯ” ถามคนไทยหรือยัง?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (20 มิ.ย. 65) เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์หัวข้อ [ เปิด 8 โพสต์ปิยบุตร ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถูกแจ้งความดำเนินคดีผิด ม.112 ]
เนื้อหาระบุว่า ในช่วงปี 2564 สถานการณ์การเมืองเข้มข้น การแสดงออกของม็อบเยาวชน และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กำลังเป็นไปอย่างดุเดือดแหลมคม มีการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก จากการแสดงออกถึงสถาบันกษัตริย์
ผมเองอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ต้องเปิดพื้นที่พูดคุยกันได้อย่างปลอดภัย เอาใจเขามาใส่ใจเรา พูดคุยกันด้วยเหตุผลและวุฒิภาวะ ผมจึงประมวลข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อให้อยู่คู่กับสังคมไทยได้ในยุคปัจจุบัน แต่การกระทำของผมเช่นนี้กลับถูกกล่าวหา นำไปสู่การดำเนินคดีตามมาตรา 112
โดยข้อเท็จจริงทั้งหมด ตามนี้ :
1. “เปิดร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เดินหน้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมแนบเอกสารร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช....” โพสต์เมื่อ 10 สิงหาคม 2564 https://www.facebook.com/PiyabutrO.../posts/3076450455972150
2. “ข้อเรียกร้องแห่งยุคสมัย ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” โพสต์เมื่อ 17 สิงหาคม 2564 https://www.facebook.com/.../a.22603897.../3081844162099446/
3. “กษัตริย์กับนายกรัฐมนตรี ใครมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งกันแน่?” โพสต์เมื่อ 17 กันยายน 2564 https://www.facebook.com/.../a.22603897.../3105582616392267/
4. ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “ในสังคมหนึ่ง ความคิดคนแต่ละคนแตกต่างกันมากมาย มีคนรัก คนเฉยๆ คนไม่ชอบ ถึงบังคับยังไงก็ไม่เปลี่ยนความคิดเลย แต่ทำอย่างไรที่เราจะอยู่ในสังคมเดียวกันได้ เหลือทางเดียวคือเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงออก แล้วอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกันต่อความเห็นที่แตกต่าง” https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1457578245369393154
5. ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “ประยุทธ์ตบหัวลูกน้องอ้างว่าทำด้วยความเอ็นดู ดังนั้น ประยุทธ์ก็ยอมให้ลูกพี่ตนเองตบหัวด้วยความเอ็นดูเช่นกัน ปัญหามีอยู่ว่าในสายตาของประยุทธ์ ประชาชนไม่ใช่ลูกพี่ของเขา แล้ว “ลูกพี่” ของเขาคือใคร? ต้องไปดูว่า “ใคร” ที่ตบหัวสั่งประยุทธ์ แล้วเขาไม่หือ ยิ้มรับ และยอมทำตามสั่ง” https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1443897877030334465
*6.ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “สภาพสังคมปัจจุบันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จำแลงได้อย่างสันติ แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นไปได้และทำให้ทุกคนอยู่อย่างสันติ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1452124952828678144
7. ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรระหว่าง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง ที่มีกองทัพ ระบบราชการ และทุนผูกขาดค้ำจุน หรือ ระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด และมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ”
https://twitter.com/Piyabutr_FWP/status/1457714324810526724
8. ข้อความทวิตเตอร์กล่าวว่า “ปฏิรูปไม่ใช่ล้มล้าง แต่ถ้าคนเรียกร้องปฏิรูป คือ ล้มล้าง หรือนำไปสู่ล้มล้างนั่นเท่ากับว่าบีบให้เลือก 1. ไม่ปฏิรูปเพื่อไม่ใช่ล้มล้าง หรือ 2. ล้มล้างให้ราบเป็นหน้ากลอง เพื่อไม่ให้ใครบอกว่าเป็นล้มล้าง คำตัดสินของคนไม่กี่คนชี้ชะตาประเทศ ประตูปฏิรูปมี อย่าปิดประตูปฏิรูป”
https://twitter.com/piyabutr_fwp/status/1458148659862724610
เทพมนตรี แจ้งความดำเนินคดี 8 โพสต์ แต่ตำรวจเห็นว่ามีเพียง 1 ข้อความ ที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิด ม.112 นั่นคือข้อความตามข้อ *6. ถ้าวิญญูชนอ่านแล้วก็พินิจพิเคราะห์ได้ว่าไม่มีตรงไหนเข้าความผิดตาม ม.112 เลย แต่เมื่อตำรวจมีความเห็นเช่นนี้ ผมก็ต้องเตรียมต่อสู้คดีกันต่อไป
การแสดงความเห็นเช่นนี้ ยังถูกกล่าวโทษ แล้วจะเหลือทางเลือกไหนบ้างในสังคมไทย ตกลงแล้วเราจะปิดพื้นที่ไม่ให้พูดคุยกันในที่สาธารณะไม่ได้เลยหรือไม่ทั้งที่ ม.112 ไม่ได้ห้ามพูดถึงสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ตกลงสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร ถ้าการพูดจาแบบมีเหตุผลวิชาการกลับถูกดำเนินคดี เราจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างไร
สุดท้าย ผมยืนยันว่า จะแสดงความเห็นโดนสุจริตใจต่อไป ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อให้ไทยมีสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สังคมไทยจะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ตามข้อความที่ผมถูกดำเนินคดี
“สภาพสังคมปัจจุบันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงได้อย่างสันติ แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นไปได้และทำให้ทุกคนอยู่อย่างสันติ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”
ขณะเดียวกัน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า
“กรณี อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าใจว่า ไม่ใช่เป็นการกระทำเฉพาะในกรณีใดกรณีหนึ่ง แต่คงเป็นหลายๆ กรณีรวมกันเป็นระยะเวลาหลายปี เนื่องจากผู้ร้องฯไปยื่นร้องกับตำรวจตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และตำรวจใช้เวลาถึง 7 เดือนในการพิจารณารวบรวมหลักฐาน จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามที่เป็นข่าว
ไม่ว่า อ.ปิยบุตร จะชี้แจงว่า สิ่งที่พูดที่ทำไม่เคยเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ว่าผู้อื่นจะวิจารณ์ว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร แต่หากต้องการทำความเข้าใจว่า อ.ปิยบุตร มีความคิดอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องไปค้นคว้าอะไรมาก เพียงย้อนกลับไปดูคลิปที่ อ.ปิยบุตร อภิปรายในการเสวนาหัวข้อ “การเมือง ความยุติธรรม และสถาบันกษัตริย์” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 เท่านั้นพอ
และแม้ว่าเนื้อหาที่อภิปรายจะมีความหมิ่นเหม่อยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ขอตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดตามมาตรา 112 เพียงแต่อยากชี้ว่า การอภิปรายในวันนั้น เป็นการอภิปรายที่สะท้อนความคิดและความประสงค์ของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนที่สุด
เนื้อหาอย่างละเอียดของการอภิปรายในวันนั้น ถ้าต้องการทราบ ต้องขอให้ท่านผู้อ่านไปหาฟังกันเอง เพราะหมิ่นเหม่เกินไปที่จะนำมาเสนอในที่นี้ทั้งหมดได้ แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า อ.ปิยบุตร เห็นว่า สถาบันกษัตริย์มีความชอบธรรมต่ำมากในทางประชาธิปไตย เพราะการเป็นพระประมุขของรัฐใช้ระบบสืบทอดทางสายโลหิต ไม่ได้มีคนเลือกมา การอธิบายความชอบธรรมว่ากษัตริย์ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ มีบุญญาบารมี อาจไม่มีปัญหาเมื่อ 200 ปีก่อน แต่คำอธิบายแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน
ดังนั้น อ.ปิยบุตร จึงเห็นว่า การเมือง ความยุติธรรม และสถาบันกษัตริย์ ไปกันไม่ได้ หากสถาบันกษัตริย์จะคงอยู่ต่อไปได้ ก็เพราะคนทั้งสังคมอนุญาตให้อยู่ต่อ แบบเป็นเพียงส่วนเสริม โดยไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ เป็นเกียรติยศทางประวัติศาสตร์เท่านั้น
นี้คือ ที่มาของการให้เหตุผลว่า ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพราะความหวังดี เพื่อให้สถาบันคงอยู่ต่อไปได้มิได้ต้องการล้มล้างแต่อย่างใด
วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยเกิดขึ้นตลอดมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรต้องถือว่าเป็น disruption ของวิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีพระราชอำนาจน้อยลง มีบทบาทน้อยลง แต่กระนั้นรัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายทุกฉบับโดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากนั้น บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาตามรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ พระมหากษัตริย์ยังทรงต้องลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายทุกฉบับ จึงเรียกกฎหมายแต่ละฉบับว่า “พระราชบัญญัติ”
ในยุคปัจจุบัน ความจริง พระราชอำนาจ และบทบาทของพระมหากษัตริย์ มิได้มีมากขึ้นกว่าตั้งแต่หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่อย่างใด แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากมาย ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทำให้พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงมีบทบาทในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตในทางการเมือง ไม่มีทางออก ทรงทำให้วิกฤตเหล่านั้นผ่านพ้นไปด้วยดีทุกครั้ง หากพระองค์ทรงวางเฉยต่อวิกฤตทางการเมืองทุกครั้งที่ผ่านมา คงเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไม่อาจประมาณได้
ที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ลุล่วง และทรงแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้สำเร็จทุกครั้ง ไม่ใช่เป็นเพราะทรงมีพระราชอำนาจมากหรือน้อย แต่เป็นเพราะพระบารมีของพระองค์โดยแท้
อ.ปิยบุตร ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้กษัตริย์ทรงเป็นเพียงสัญลักษณ์ เป็นเกียรติยศทางประวัติศาสตร์เท่านั้น โดยไม่ให้ทรงมีบทบาทใดๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมือง นี่เป็นความคิดของ อ.ปิยบุตร และเหล่าสาวก และไม่เพียงแต่คิดหรือเชื่อ แต่ยังพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแบบที่ตัวเองต้องการ คือ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เหมือนไม่มี คำถามคือ อ.ปิยบุตร มั่นใจแล้วหรือว่า นี่คือความประสงค์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ผมเองไม่อาจพิสูจน์โดยไม่มีผลการสำรวจความคิดเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อหรือไม่ แต่เชื่อมั่นว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องการ disruption อีกครั้ง การคงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับความมีทศพิธราชธรรม และพระราชจริยวัตรขององค์พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ ไม่ควรมีใครมาผลักดันตามที่ตัวเองอยากให้เป็น หากวันใดไม่มีใครเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ถึงวันนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะคงอยู่ไม่ได้ แต่เหตุการณ์นี้จะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตกันใกล้ อีก 20 ปี ก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะเป็นเพราะเหตุนี้ จึงมีความมุ่งมั่นผลักดันกันในทุกวิถีทาง
ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะความหวังดี หรือมีวาระซ่อนเร้นอื่นใดที่ทำให้ต้องรีบเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรอไม่ได้เช่นนี้ วันหนึ่งเราคงจะได้รู้ความจริง”
แน่นอน, ดูเหมือน “ปิยบุตร” ค่อนข้างเชื่อมั่น และเชื่อมือในการเลี่ยงบาลี นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความต้องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” หลายครั้ง ไม่มีทาง “จับผิด” หรือ หมิ่นเหม่จนเข้าข่ายผิด ป.อาญา ม.112 ได้
ด้วยความที่เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนมาเป็นนักการเมือง นั่นเอง
แต่เจ้าพนักงานผู้รักษากฎหมาย อัยการ และศาลจะเห็นด้วยหรือไม่ ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน และนายปิยบุตร จะต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรมด้วย มิเช่นนั้น ก็จะเท่ากับว่า ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย
ที่สำคัญ รศ.หริรักษ์ ชี้ให้เห็นว่า “ปิยบุตร” คิดอย่างไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หวังดี หรือต้องการอะไร จากการอภิปรายในการเสวนาหัวข้อ “การเมือง ความยุติธรรม และสถาบันกษัตริย์” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 มีคำตอบอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ ผิดหรือไม่ผิด ม.112
และอาจทำให้เข้าใจเรื่องความต้องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” ของขบวนการ 3 นิ้วดี มากกว่า “ปิยบุตร” ผิดหรือไม่ผิด ม.112 ก็เป็นได้!?