วันนี้ (16 มิ.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวณิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ผมเห็น ครม.เสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และสภาฯให้ผ่านซึ่งก็ตามที่ผมมั่นใจว่าจะมีคนโหวตให้ ครม.ผ่านหลักการในวาระที่ 1 โดย ส.ส.ที่เป็นมุสลิมก็จะงดออกเสียงในการโหวตเพราะขัดต่อหลักศาสนา
ทั้งนี้ สำหรับความคิดของตนเห็นว่าในเมื่อสังคมยังมีเห็นแตกต่างกัน แต่ในเมื่อเป็นกฏหมายเฉพาะเป็นกฎหมายทางเลือกก็เข้าสู่สภาฯได้ แต่กฎหมายที่จะต้องปกป้องพี่น้องประชาชน และป้องกันประชาชนจากการถูกฉ้อโกงหลอกลวงก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน แต่กลับไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ
วันนี้ประชาชนที่ถูกหลอกกว่าจะได้เงินคืนต้องรอเป็นเวลานานหลายสิบปี ในขณะที่ผู้ต้องหาที่ศาลตัดสินพิพากษาจำคุกเป็นหมื่นปี แต่ติดจริง 4 ปี 5 เดือนก็ออกจากคุกแล้ว นั้นก็คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมว่าทำไมแก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงยังคงหลอกลวงประชาชน และการฉ้อโกงประชาชนจากแชร์ลูกโซ่มีมากมาย เพราะบทบัญญัติของกฏหมายปราบปรามอ่อนเกินไป ผมอยากจะให้รัฐบาลได้มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองประชาชนในเรื่องทรัพย์สินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่า ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่ทุกวันนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาทุกวัน และวันละหลายๆรอบ
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์เปลี่ยนจากคราวก่อนที่อ้างตัวว่า เป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย แต่คราวนี้แอบอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของ กสทช.ผมก็ประสบกับตัวเองโดนแก๊งคอลเซนเตอร์โทรเข้ามือถือวันละหลายรอบ เป็นข้อมูลที่สอดคล้องตรงกับที่พ่อแม่พี่น้องประชาชนได้ร้องเรียนผมว่าโดนหลอกทุกวัน บางคนสูญเสียเงินเมื่อไปแจ้งความแล้วก็ไม่ได้เงินคืน นั่นคือปัญหาของพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่รับความเดือดร้อน ผมจึงคิดว่ารัฐบาลควรที่จะต้องออกกฎหมายเฉพาะที่จะปกป้องพ่อแม่พี่น้องประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องป้องกันประชาชน
นายสามารถ กล่าวต่อว่า ผมคิดว่านายกฯจะต้องทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชน เพราะกฎหมายอาญาที่มีอยู่นั้นล้าหลังเกินไปแล้ว และเรื่องการติดตามทรัพย์นั้นทรัพย์สินที่ยึดมาได้ก็ไม่คืนเหยื่อผู้เสียหาย เพราะจะต้องรอให้กระบวนการถึงที่สุด ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนลำบาก ซึ่งในอดีตคนถูกโกงแสนแปด ต้องรอนาน30ปี แล้วเขาได้คืนเพียง3,000บาท ซึ่งกฎหมายแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว สุดท้ายเงินออกนอกประเทศ และนี่คือสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และทำให้อาชญากรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งด่วนในการแก้ไขกฏหมายดังกล่าว