โฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน 65-70 สร้างความตระหนักรู้ ให้คนไทยมีทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้ตนเองและครอบครัว
วันนี้ (14 มิ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 เพื่อเป็นกรอบนโยบายและกลไกบูรณาการการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศไทย และเป็นแนวทางการจัดทำโครงการและกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะทางการเงินของคนไทยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ประกอบด้วย 8 มาตรการ 19 แผนงาน ดังนี้
เป้าหมายที่ 1 : คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและเข้าถึงข้อมูลทางการเงิน
- มาตรการที่ 1 ยกระดับความสำคัญการพัฒนาทักษะทางการเงิน อาทิ จัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน
- มาตรการที่ 2 ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้และสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินด้วยตนเองของประชาชน ใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเพื่อเพิ่มระดับการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้และข่าวสารทางการเงินที่ถูกต้องและเชื่อถือ พัฒนาเว็บไซต์ความรู้ทางการเงินเพื่อคนไทย www.รู้เรื่องเงิhttp://xn--q3c.com/ เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูล ความรู้ และข่าวสารด้านการเงินสำหรับประชาชน โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ
เป้าหมายที่ 2 : คนไทยมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต
- มาตรการที่ 3 กำหนดกรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทย
- มาตรการที่ 4 ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในหลักสูตรการเรียนในระบบการศึกษา ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มุ่งให้เกิดการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ส่งเสริมความรู้ด้าน Financial Literacy แก่กลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
- มาตรการที่ 5 พัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดช่วงชีวิต ประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มอุดมศึกษา กลุ่มผู้มีงานทำ กลุ่มภาครัฐ กลุ่มประชาชนระดับฐานราก กลุ่มองค์กรการเงินชุมชน กลุ่มผู้สูงวัย/เกษียณอายุ กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มถ่ายทอดความรู้และทักษะการเงิน กลุ่มเปราะบางทางการเงินสูง
- มาตรการที่ 6 พัฒนากฎระเบียบและมาตรการเพื่อสนับสนุน อาทิ กำหนดให้องค์กรในภาคการเงินต้องจัดให้มีกิจกรรมหรือการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงิน กำหนดให้บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ได้รับการฝึกอบรมการเงินส่วนบุคคล
เป้าหมายที่ 3 : ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ยั่งยืน
- มาตรการที่ 7 จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืน อาทิ แต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อขับเคลื่อน กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการฯ
- มาตรการที่ 8 สร้างระบบการติดตามและประเมินผล อาทิ จัดให้มีการสำรวจระดับทักษะทางการเงินทุก 2 ปี ผลักดันให้มีการบูรณาการระบบข้อมูลความรู้/ทักษะทางการเงิน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ครม. คาดหวังว่า คนไทยมีระดับทักษะทางการเงินสูงขึ้นในทุกด้านและเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการเงินอย่างเหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย มีการก่อหนี้และภาระหนี้ที่ไม่จำเป็นลดลง มีการออมเพิ่มขึ้นและมีการออมตามแผนทางการเงินและเป้าหมายในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมีภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยง และแรงกดดันทางการเงิน ผ่านการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมตามแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยังมีทักษะด้านการเงินดิจิทัล มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากการเงินดิจิทัลได้ รวมทั้งสามารถป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงหรือภัยที่เกิดจากการเงินดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ได้กำหนดเป้าหมายปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน”