“ไพศาล” ชี้ทางออกคดี “สุนทร วิลาวัลย์” หมดอายุความ แนะ ป.ป.ช.ไต่สวนเพิ่มเติม เหตุกระทำผิดครอบครองบุกรุกที่ดินต่อเนื่อง พร้อมตั้งคำถามช่วงถูกแจ้งความ “สุนทร” เป็น ส.ส.หรือไม่ หากเป็น ส.ส.ต้องส่งฟ้องศาลฎีกาฯ นักการเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ต้องหา เทียบกรณี “ยิ่งลักษณ์” ระบุ อัยการต้องทบทวน อาจฟ้องผิดศาล
จากกรณีศาลอนุมัติ นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี เพื่อนำตัวไปยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามความผิดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการรักษาทรัพย์ใดใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี กว่า 150 ไร่ แต่ยังไม่สามารถติดตามตัวนายสุนทร และมีการระบุว่าคดีจะหมดอายุความภายในวันนี้ (13 มิ.ย.) นั้น
นายไพศาล พืชมงคล นักวิชาการอิสระ กล่าวแสดงความเห็นว่า จากที่ติดตามข่าวทราบว่า ในส่วนของ นายสุนทร ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด 3 ข้อหา แบ่งเป็นข้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวม 2 ข้อหา ซึ่งหมดอายุความแล้ว 1 คดี และจะหมดอายุความในวันนี้อีก 1 คดี และอีก 1 ข้อหาเกี่ยวกับการบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่จะหมดอายุความวันนี้เช่นกัน ส่วนตัวก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย ที่เห็นว่า ในคดีการบุกรุกถือครองที่ดินถือเป็นการกระทำต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังครอบครองอยู่ก็ยังมีความผิดต่อเนื่อง แม้ในวันที่ไปแจ้งความดำเนินคดีจะครบ 20 ปี จนขาดอายุความจริง แต่หาก ป.ป.ช.เห็นว่า การการครอบครองบุกรุกนั้นต่อเนื่องก็เท่ากับว่า สามารถนำขึ้นมาทบทวนการแจ้งข้อหา และทบทวนเรื่องอายุความได้
“ถ้า ป.ป.ช.เห็นเอง หรือมีผู้ไปร้องว่า คุณสุนทรยังมีความผิดครอบครองบุกรุกต่อเนื่องหลังจากวันที่แจ้งดำเนินคดีครั้งแรก ป.ป.ช.ก็สามารถไต่สวนเพิ่มเติมได้ โดยใช้เวลาไม่นาน และลงมติชี้มูลความผิดยืนยันส่งฟ้องได้เช่นเดิมภายในอายุความใหม่” นายไพศาล ระบุ
นายไพศาล ยังตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นอำนาจของศาลด้วยว่า การทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐมี 2 ระดับ ถ้าเป็นระดับ ส.สและรัฐมนตรี จะต้องฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปฟ้องศาล แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นก็จะต้องฟ้องคดีต่อศาลอาญา คดีทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องมีตัวผู้ต้องหาไปฟ้องต่อศาล มิฉะนั้น ก็ฟ้องไม่ได้ ตรงนี้ต้องกลับไปดูว่าในขณะกระทำความผิดถูกแจ้งความดำเนินคดีช่วงปี 2545 นั้น นายสุนทรดำเนินตำแหน่งใดอยู่ หากขณะนั้น นายสุนทร เป็น ส.ส. คดีนี้ก็จะไปอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสามารถฟ้องคดีได้แม้จะไม่มีตัวผู้กระทำผิดมาส่งฟ้องก็ตาม แต่หากนายสุนทร ดำรงตำแหน่งอื่นในขณะกระทำผิด ก็ต้องไปส่งฟ้องต่อศาลอาญา คดีทุจริต ที่กำหนดว่าต้องนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องด้วย ดังนั้น อัยการที่รับผิดชอบคดีของนายสุนทร ต้องทบทวนให้รอบคอบว่า ที่จะส่งนายสุนทรต่อศาลอาญา คดีทุจริต เพราะถือฐานะในวันนี้ที่นายสุนทรเป็นนายก อบจ.หรือไม่ เพราะต้องถือ ณ ขณะทำความผิดว่านายสุนทรดำรงตำแหน่งใด
“อัยการต้องกลับมาดูว่า ณ ขณะทำความผิดว่านายสุนทร เป็น ส.ส.หรือนายก อบจ. ถ้าเป็น ส.ส.แล้วจะไปฟ้องต่อต่อศาลอาญา คดีทุจริต ก็เท่ากับผิดศาล และถ้าเป็น ส.ส.ก็ไปฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหา เหมือนกรณี คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ที่แม้ตัวไม่อยู่ ก็สามารถฟ้องได้ เพราะศาลฎีกาฯมีข้อกำหนดอยู่” นายไพศาล ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายสุนทร เป็นอดีต ส.ส.ปราจีนบุรี 8 สมัย โดยในช่วงที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีในปี 2545 นั้น นายสุนทร ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ปราจีนบุรี สังกัดพรรคชาติไทย ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 44 จนถึงหมดสมัยในวันที่ 6 ม.ค. 48