ได้ฤกษ์ประเมินนักเรียน/บุคลากร กว่า 2 พันคน นับพัน อปท. ตามหลักสูตร “วิชาต้านโกง” ฉบับ ป.ป.ช. จ่อประเดิม 535 โรงเรียนสังกัดท้องถิ่น พื้นที่ 74 จังหวัด หลังขับเคลื่อนนำไปปรับใช้จัดการเรียนการสอน กว่า 4 ปี ตั้งเป้าประเมิน ตั้งแต่ 16 มิ.ย. - 16 ก.ค.นี้ หน่วยงานรัฐ/เอ็นจีโอ ร่วมประเมินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
วันนี้ (12 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เวียนหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 74 จังหวัด ยกเว้น กรุงเทพมหานคร สิงห์บุรี และ สุรินทร์
โดยในหนังสือตอนหนึ่ง ระบุว่า ขอให้แจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกระดับ ทั้งเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และ อบจ. กว่า 1 พันแห่ง ใน 74 จังหวัด
เพื่อติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ โรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น 535 แห่ง โดยมีนักเรียน และบุคลากร สังกัด อปท.จะถูกประเมินมากกว่า 2,000 คน
“เตรียมติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ การนำ “หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ไปใช้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. - 16 ก.ค.นี้”
เป็นไปตามที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti - Corruption Education) 5 หลักสูตร ประกอบด้วย 1. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(รายวิชาเพิ่มเติม การป้องกันการทุจริต) 2. หลักสูตรอุดมศึกษา (วัยใส ใจสะอาด “Youngster with Good Heart”)
3. หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ (ตามแนวทางรับราชการกลุ่มทหารและตำรวจ) 4. หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ (สร้างวิทยากรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต) และ 5. หลักสูตรโค้ช (โค้ชเพื่อการรู้คิด ต้านทุจริต)
ทั้ง 5 หลักสูตร ป.ป.ช. ร่างขึ้นเมื่อปี 2561 โดยหวังจะนำไปปรับใช้เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตาม แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อที่ 21 ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580)
มีการขับเคลื่อน จัดการเรียนการสอน และฝึกอบรมในหลักสูตร ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามมติคณะรัฐมนตรี 22 พ.ค. 2561 และ 18 ส.ค. 2563 ซึ่งสถานศึกษาในสังกัด อปท. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2562 /63/64 และ 2565
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. เตรียมติดตาม ประเมินผล ปัญหาอุปสรรค เกี่ยวกับการนำหลักสูตรนี้ไปใช้
โดยวันที่ 15 มิ.ย.นี้ จะเริ่มประชุมชี้เแจง กับผู้บริหาร ผู้ประสานงานของสถานศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน กลุ่มตัวอย่าง และวิธีได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการประเมิน เช่น ข้อสอบถามในแบบสำรวจ คำสัมภาษณ์เชิงลึก
สำหรับหน่วยงานที่ร่วมประเมิน ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม (กห.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง/กรม หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ และชมรม STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต
นอกจาก อปท. แล้ว จะมีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ ประเมินในส่วนของ หลักสูตรขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ไม่น้อยกว่า 15,000 คน สช.ไม่น้อยกว่า 1,250 คน กทม. ไม่น้อยกว่า 1,500 คน
นอกจากนั้น ยังประเมินในหลักสูตรอื่นๆ เช่น หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ ไม่น้อยกว่า 200 เป็นต้น